ดร.วิชัย พยัคฆโส [email protected] ในยุคที่ประสบภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว หรือถึงขั้นถดถอยเป็นปัจจัยหนึ่งของความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจระหว่างคนรวยกับคนจน จะเพิ่มช่องห่างกันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลใดต่างกำหนดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งด้านการเงินและการคลังเป็นมาตรการหลักทำให้เกิดกระแสและนโยบายประชานิยมที่กล่าวถึงกัน บางประเทศใช้ประชานิยมทุ่มเทเงินทองให้แก่ประชาชน เพื่อยึดเก้าอี้และหวังให้มีเสียงสนับสนุน จนถึงขั้นเป็นรัฐที่ล้มเหลวหรือ failed state ก็มีให้เห็น หนี้สาธารณะล้นพ้นเกิน 100% ของรายได้จากการกู้เงินมาปรนเปรอฐานเสียง นั่นคือประชานิยมสุดโต่ง ท้ายสุดรัฐบาลก็อยู่ไม่ได้ เพราะประชานิยมเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นๆ ไม่เกิดความยั่งยืนให้อยู่ได้ ประชานิยมในบ้านเราเห็นชัดๆ ที่มุ่งหาคะแนนเสียงโดยไม่คำนึงถึงความเสียหายในอนาคต ดังเช่น โครงการรับจำนำข้าวทุกเมล็ดในราคาสูงลิ่วมากกว่าราคาตลาด ซึ่งต้องใช้เงินถึง 7 แสนล้านบาท มองในมุมที่ช่วยเหลือชาวนาเป็นเรื่องดี แต่ถ้าระยะยาวชาวนาไม่มาไถ่ถอน ข้าวอยู่ในโกดังขายไม่ออกเพราะต้นทุนสูง ส่งผลต่อคุณภาพข้าวที่เสียหายครึ่งต่อครึ่ง เท่ากับใช้เงินภาษีอากรของประชาชนทุ่มเทเข้าไปถึง 7 แสนล้านบาท มีภาระหนี้ ซึ่งรัฐบาลชุดต่อมาต้องมานั่งชดใช้ผ่อนชำระกันอยู่ขณะนี้ นั่นคือประชานิยมที่สูญเปล่าต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนระยะยาว แต่ในประชานิยมอีกรูปแบบหนึ่งเรียกว่า "รัฐสวัสดิการ" ที่ใช้มาตรการทางการคลังเข้ามาทดแทนนโยบายทางการเงิน ซึ่งรัฐสวัสดิการใช้ภาษีอากรของประชาชนเช่นกัน แต่ออกเป็น พ.ร.บ. หรือกฎกระทรวง หรือนโยบายที่มีเกณฑ์ปฏิบัติให้แก่คนยากจนเป็นหลัก เช่น โครงการจัดสรรบ้านราคาถูกแก่คนจนหรือผู้สูงอายุ มาตรการทางภาษีให้สวัสดิการการรักษาพยาบาล การจัดรถไฟ รถยนต์ฟรี รวมทั้งการเพิ่มรายได้ให้แก่ผู้สูงอายุหรือเงินพิเศษเด็กแรกเกิด เหล่านี้คือรัฐจัดสวัสดิการให้ในขณะที่ประชาชนมีรายได้น้อย รัฐบาลชุดนี้ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากนักการเมืองว่าทำประชานิยม เช่น แจกเงินคนจนที่ลงทะเบียน 1,000-3,000 บาทหรือช็อปช่วยชาติเป็นต้น ต้องยอมรับว่าเงินทุกบาททุกสตางค์ไปถึงมือประชาชนในกลุ่มคนดังกล่าวนำไปพัฒนาคุณภาพชีวิตได้บ้าง ไม่เหมือนกับประชานิยมรัฐบาลก่อนๆ ในโครงการรับจำนำข้าว รถคันแรก บ้านหลังแรก ฯลฯ ที่กลับสร้างหนี้สินรุงรังแก่ประชาชน กลุ่มคนที่ได้คือผู้ประกอบการกลายเป็นเพิ่มช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนมากขึ้นไปอีก เชื่อได้ว่าทุกประเทศมีนโยบายประชานิยมด้วยกันทั้งนั้น เพียงแค่ว่าจะเป็นประชานิยมสุดโต่งหรือรัฐสวัสดิการเท่านั้น รัฐบาลคงต้องดูฐานะการเงินการคลังให้มั่นใจ ยิ่งปีนี้คาดว่าเศรษฐกิจจะเติบโต 3-4% แต่ทางกลับกันราคาน้ำมันที่นำเข้า ปรับราคาสูงขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อจะเพิ่มตาม โดยหลักเศรษฐศาสตร์หากแนวโน้มเป็นเช่นนี้ คงต้องอาศัยนโยบายการคลังมาช่วยในการลงทุนภาครัฐ และเตรียมจัดเป็นรัฐสวัสดิการมากกว่าจะใช้มาตรการดอกเบี้ยตามนโยบายการเงิน ตรงนี้จะสร้างคุณภาพชี้วัดให้เกิดความเหลื่อมล้ำน้อยลง และคุณภาพชีวิตจะยั่งยืนกว่า เพราะเป็นสวัสดิการ มิใช่ตัวเงินที่ไปสร้างประชานิยมแบบสุดโต่ง รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันคงปรับแก้จุดอ่อนไว้ ในการที่จะให้พรรคการเมืองมาชูนโยบายประชานิยมที่สัญญาว่าจะให้แล้วนำมาเป็นนโยบายแถลงต่อรัฐสภาให้เป็นกฎหมายเหมือนในอดีต แต่การสร้างภูมิคุ้มกันของนโยบายประชานิยมย่างเดียวคงไม่พอ ขอให้รัฐบาลเริ่มสร้างมาตรการ "รัฐสวัสดิการ" ไว้เป็นฐานรองรับให้รัฐบาลต่อไปได้ปฏิบัติไว้ด้วย แม้ว่าจะเลือกตั้งปีนี้หรือปีหน้าก็ตาม ฝากให้รัฐบาลได้คิดถึงแนวทางและมาตรการ "รัฐสวัสดิการ" ไว้แต่บัดนี้ประชาชนจะได้เห็นความแตกต่างจาก"ประชานิยม" รูปแบบเดิมๆ ที่ไม่ยั่งยืนแบบใด จะเป็นประโยชน์ระยะยาวแก่ประชาชนมากกว่ากัน