เดือนมีนาคมที่ผ่านมา กระทรวงการคลังเร่งจ่ายเงินชดเชยให้ชาวไร่ยาสูบ ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบวงเงิน 159.95 ล้านบาท เพื่อให้ความช่วยเหลือชาวไร่ยาสูบที่ได้รับผลกระทบจากการลดปริมาณการรับซื้อใบยาสูบ โดยโอนเงินเข้าบัญชีชาวไร่ผู้ได้รับสิทธิ จำนวน 12,658 ราย เป็นเงิน 112.38 ล้านบาท และยังเร่งตรวจสอบสิทธิกลุ่มเกษตรกรในส่วนที่เหลือเพื่อจะจ่ายเงินชดเชยทั้งหมดให้เสร็จสิ้นภายในเดือนเมษายนนี้ แต่ว่า การจ่ายเงินชดเชยครั้งนี้ เป็นการให้ความช่วยเหลือเฉพาะฤดูกาลผลิต 2561/2562 และไม่พอเพียงที่จะทำให้เกษตรกรชาวไร่พึ่งพาตัวเองได้ ชาวไร่ที่เคยขายใบยาสูบได้ไร่ละ 1.5-2 หมื่นบาท กลับได้รับเงินชดเชยเพียงไร่ละ 2 พันกว่าบาท หรือคิดเป็นเพียงร้อยละ 10 ของรายได้ที่เคยได้ จากเกษตรกรที่มีรายได้พอเพียงเลี้ยงตนเองได้ กลายเป็นผู้มีหนี้สิน รอรับความช่วยเหลือเยียวยาจากรัฐบาล อีกทั้งยังไม่รู้ว่าแนวทางส่งเสริมให้ปรับเปลี่ยนให้ไปปลูกพืชอื่นแทนจะประสบผลสำเร็จมากน้อยแค่ไหน ชาวไร่ยาสูบเหล่านี้ไม่ได้มีความผิดอะไร แต่วันดีคืนร้ายก็ต้องมารับเคราะห์จากนโยบายภาษีของรัฐบาล ที่ขึ้นภาษีบุหรี่ทุกๆ ปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปรับอัตราภาษีเมื่อเดือนกันยายน 2560 จนที่สุดการยาสูบแห่งประเทศไทย (ยสท.) ต้องตัดโควตารับซื้อใบยาจากชาวไร่ยาสูบทั้งสามสายพันธุ์เฉลี่ยร้อยละ 50 ในฤดูกาลปลูก 2561/62 ที่ผ่านมา เพราะรัฐบาลรีดภาษีจน ยสท. มียอดขายบุหรี่ลดลงกว่าร้อยละ 30 กำไรหดตัวร้อยละ 90 จนแทบไม่มีรายได้นำส่งรัฐบาล ทั้งๆ ที่เคยติด 1 ใน 5 รัฐวิสาหกิจที่นำส่งรายได้ให้กับรัฐบาลมากที่สุด ถึงปีละกว่า 8 พันล้านบาท กลายเป็นรัฐวิสาหกิจที่ไม่มีรายได้ ต้องขออนุมัติงบกลางมาช่วยเหลือจ่ายเงินชดเชยให้กับเกษตรกรชาวไร่ยาสูบ ไม่เพียงเท่านั้น รายได้ภาษีสรรพสามิตบุหรี่ที่เคยตั้งเป้าว่าจะเก็บเพิ่มได้จากการขึ้นภาษี กลับทรงตัวอยู่ที่ประมาณ 68,600 ล้านบาท ใกล้เคียงกับปีงบประมาณ 2561 ในขณะที่ภาษีอบจ.ทั่วประเทศจากการขายบุหรี่ลดลง 651 ล้านบาท หรือร้อยละ 21% ในปีงบประมาณ 2561 เนื่องจากการแพร่หลายของบุหรี่เถื่อนหนีภาษีที่ราคาถูกกว่า 5-6 เท่า ไม่น่าเชื่อว่าความเสียหายมูลค่ามหาศาลเหล่านี้ กระทรวงการคลังซึ่งเป็นผู้หน่วยงานหลักที่กำกับดูแล ยสท. และ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ กลับยังนิ่งเฉย แถมดึงดันจะขึ้นภาษีบุหรี่อีกรอบตามแผนการเดิมที่กำหนดไว้ในเดือนตุลาคมนี้ โดยไม่สนใจความเดือนร้อนของชาวไร่ หรือแม้แต่ผลกระทบที่ตามมาเป็นวงกว้างกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรม ชัดเจนว่า “ตัวการ” ของปัญหา คือ อัตราภาษีที่สูงเกินไป การจะดึงดันขึ้นภาษีในเดือนตุลาคมที่จะถึงนี้ ก็จะยิ่งกลายเป็นการเพิ่มปัญหา เป็นนโยบายสาธารณะที่สร้าง ‘หายนะ’ ต่อทุกฝ่ายทั้งเกษตรกร ภาคเอกชน และภาครัฐ จริงๆ แล้วทางออกที่ง่ายที่สุด คือการเลื่อนการใช้ภาษีร้อยละ 40 ออกไปก่อน แล้วค่อยๆ ปรับอัตราภาษีบุหรี่แบบค่อยเป็นค่อยไป คือเพิ่มที่ละร้อยละ 5 จากร้อยละ 20 เป็นร้อยละ 25 จนถึงร้อยละ 40 ตามมติของที่ประชุมอุตสาหกรรมได้เคยนำเสนอไว้ก่อนหน้านี้ ระหว่างที่รอการจัดตั้งคณะรัฐบาลใหม่อย่างเป็นทางการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนปัจจุบันก็ยังทำหน้าที่อยู่ คณะรัฐมนตรีก็เป็นรัฐบาลอำนาจเต็มตามรัฐธรรมนูญ 2560 อยู่ ทำไมถึงไม่ใช้อำนาจนั้นให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนและต่อภาครัฐเอง สั่งเลื่อนการขึ้นภาษี จัดการต้นเหตุของปัญหา ภาระจะได้ไม่ตกทอดไปยังรัฐบาลใหม่ ซึ่งอาจจะมีคนหน้าเดิมๆ ที่กำลังจะเข้ามารับหน้าที่บริหารประเทศต่อ