วันที่ 20 เมษายนของทุกปี ตรงกับวันคล้ายวันเกิดของพล.ต.ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 13 ของไทย ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์สยามรัฐรายวัน และสยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ซึ่งหากท่านยังมีชีวิตอยู่จนถึงปัจจุบันจะมีอายุ 108 ปี กระนั้นคุณูปการของท่านที่มีต่อสังคมไทยนั้นยิ่งใหญ่เหนือกาลเวลา อานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวยกย่องบทบาทของพล.ต.ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ในการแก้ไขปัญหาการเมืองระหว่างประเทศเอาไว้ในหัวข้อ "คึกฤทธิ์กับการเมืองระหว่างประเทศ" จากงานสัมมนาระดับชาติเรื่อง "ปราชญ์สยามนามคึกฤทธิ์" (วันที่20 ก.พ.2555) ตอนหนึ่งว่า มีเหตุการณ์หนึ่ง ตอนนั้นที่ตนเองเป็นทูตอยู่วอชิงตัน สหรัฐอเมริกา ในช่วงนั้นมีการสู้กันของเขมรหลายฝ่าย ไทยและอเมริกาสนับสนุนเขมรฝ่ายหนึ่ง ตอนนั้นมีกรณีที่เรือรบขนาดใหญ่ของอเมริกาใช้น่านน้ำไทยผ่านไปสู่น่านน้ำเขมรและแผ่นดินเขมร เมื่อมีการใช้ไทยเป็นฐาน รัฐบาลของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ประกาศนโยบายว่าต่อไปถ้าอเมริกาใช้น่านน้ำไทยหรือแผ่นดินไทยผ่านจะต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐบาลก่อน รวมทั้งได้เรียกตัวทูตกลับประเทศ เพื่อเป็นการแสดงความไม่พอใจ นี่เป็นการเมืองระหว่างประเทศ (ก่อนที่ทหารอเมริกาจะถอนกำลังออกจากประเทศไทยในเวลาต่อมา) อานันท์ กล่าวอีกว่า หลังจากที่ถูกเรียกตัวกลับประเทศได้ระยะหนึ่ง รัฐบาลของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ มีนโยบายเปิดความสัมพันธ์กับจีน ซึ่งเป็นการตัดสินใจทางการเมือง เพื่อพยายามถ่วงดุลอำนาจของมหาอำนาจ อีกประการหนึ่งตอนนั้นจีนสนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ซึ่งสร้างความกังวลให้ไทย ถือเป็นการตัดสินใจที่ชาญฉลาด สามารถนำพาประเทศผ่านความเป็นความตายและคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศเป็นหลัก ในงานสัมมนาเดียวกันนี้ ในหัวข้อ"คึกฤทธิ์กับสื่อมวชน" อัศศิริ ธรรมโชติ ศิลปินแห่งชาติ ยังกล่าวถึงพล.ต.ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ว่า เป็นผู้ชี้ให้สังคมไทยเห็นความสำคัญของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ทั้งจากการพูด การเขียน หนังสือพิมพ์สยามรัฐ มีนโยบาย 2 ข้อที่ยึดถือคือ หนึ่ง จงรักภักดี และสอง ต่อต้านการปฏิวัติรัฐประหารและความรุนแรงทุกรูปแบบ อัศศิริกล่าวว่า ได้อ่านงานขียนของม.ร.ว.คึกฤทธิ์ เกือบทุกเล่ม แต่ที่ประทับใจคือ สี่แผ่นดิน โดยเฉพาะในประเด็นความแตกแยกเมื่อถูกการเมืองมากระทบ เพราะจากวันนั้นถึงวันนี้ 60 ปีแล้ว การเมืองไทยยังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อเช่นเดีมเพียงแต่ย้ายประเด็นมาคนละที่ นี่คือหนังสือเล่มหนึ่งที่คนไทยควรเรียนรู้ อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2552 ทางองค์การยูเนสโกได้ประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติ พล.ต.ม.ร.ว.ศ์คึกฤทธิ์ เป็นบุคคลสำคัญของโลกใน 4 สาขา ได้แก่ การศึกษา วัฒนธรรม สังคมศาสตร์ และสื่อสารมวลชน และในหลายครั้งที่เกิดปัญหาทางการเมือง คนก็มักจะหวนระลึกถึงพล.ต.ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็น "เสาหลักประชาธิปไตย" ว่าหากท่านอยู่จะแนะทางออกอย่างไรกับสถานการณ์ปัจจุบัน เช่นสถานการณ์ "เดดล็อก" ที่เรากำลังประสบอยู่ตอนนี้