ในทัศนะของ รศ.ดร.สมชาย ภคภาสวิวัฒน์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้สัมภาษณ์ สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ นิยามการเลือกตั้งวันที่ 24 มีนาคม 2562 ที่ผ่านมาว่า ช็อค จาก 4 ปรากฎการณ์ด้วยกัน ประกอบด้วย
1.ปรากฎการณ์ของพรรคเก่าในพื้นที่ต่างๆ ที่เคยเป็นที่ยึดอย่างเหนียวแน่นมาโดยตลอดเวลา กลับถูกแย่งพื้นที่ไป เช่น พรรคประชาธิปัตย์ในพื้นที่กรุงเทพฯ ชลบุรี นครราชสีมา หรือพื้นที่ภาคใต้บางส่วน จะเห็นว่าแชมป์ก็ถูกล้ม
2.ปรากฎการณ์พรรคอนาคตใหม่ ซึ่งเรื่องนี้ไม่ช็อคเท่าไหร่ เพราะคาดการณ์ไว้อยู่แล้วว่าจะต้องเกิดขึ้นแน่นอนในประเทศไทย เพราะเป็นปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก เมื่อพรรคเก่าถูกแย่งพื้นที่ เพราะคนเลือกตั้งต้องการการเปลี่ยนแปลง อย่างไรก็ตาม พรรคอนาคตใหม่ได้คะแนนเสียงสูงเป็นพิเศษ จากตอนแรกคาดว่าน่าจะได้ ประมาณ 30-40 เสียง แต่ขึ้นมาได้กว่า 80 เสียง ช็อค ว่าสูงกว่าที่เคยคาดไว้ ซึ่งคะแนนสูงแบบนี้ อธิบายเหตุผลได้คือทั่วโลกมีความเหมือนกันคือ เบื่อพรรคเก่า เพราะพรรคเก่าๆ ที่บริหารกัน ส่วนใหญ่ก็จะเจอปัญหาเศรษฐ
กิจ ทำให้คนต้องการอะไรใหม่ๆ
รศ.ดร.สมชาย อธิบายเพิ่มเติมว่า กรณีมีคนอยู่กลุ่มหนึ่ง กลุ่มนี้เป็นลูกค้าประจำของพรรคเพื่อไทย และลูกค้าประจำฝั่งตรงข้ามเพื่อไทย แต่มีอีกกลุ่มคือกลุ่มที่ไม่อยากอยู่กับทั้งฝั่งเพื่อไทย และฝั่งตรงข้ามเพื่อไทย ทำให้คนกลุ่มนี้เลือกสิ่งใหม่ นั่นคือพรรคอนาคตใหม่
3.ปรากฎการณ์ครั้งนี้ คนรุ่นใหม่ที่เพิ่งมีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรก หรือ New Voter มีประมาณ 7 ล้านคน เท่ากับ 14 เปอร์เซ็นต์ คนกลุ่มนี้คือกลุ่มที่ไม่มีประวัติศาสตร์อยู่ในใจ ทำให้คนกลุ่มนี้ตัดสินใจเลือกพรรคใหม่
และ4.กระแสโซเชียลมีเดีย คือกลุ่มที่อยู่ใน New Voter บวกกับกลุ่มอายุ 25-30 ปี กลุ่มเหล่านี้ก็จะเลือกพรรคใหม่ บวกกับพรรคที่มีลักษณะเหมือนกัน นี่เป็นอีกเหตุผลที่ทำให้พรรคอนาคตใหม่ ได้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงทางด้านโครงสร้างของประชากร และกลุ่มเป้าหมาย ทั้งนี้พรรคอนาคตใหม่ถือว่าได้โบนัสอีกอย่างคือ การยุบพรรคไทยรักษาชาติ และพรรคเพื่อไทยเองส่งส.ส.เขต แค่ 250 คน ทำให้ในพื้นที่ที่ไม่มีพรรคไทยรักษาชาตินั้น หันมาเลือกพรรคอนาคตใหม่
จากทัศนะของรศ.ดร.สมชาย เป็นโจทย์สำคัญสำหรับการจัดตั้งรัฐบาลที่กำลังเป็นปัญหาอยู่นี้ ไม่ว่าพรรคอนาคตใหม่จะอยู่ในขั้วของรัฐบาลใหม่ หรือสุดท้ายจะไปอยู่ในปีกของฝ่ายค้าน ก็จะมีบทบาทที่ต้องจับตามอง ทั้งในและนอกสภาฯ
ขณะเดียวกัน พรรคการเมืองเก่าๆ หรือพรรคการเมืองใหม่ที่มีวิธีคิด หรือวิธีการทำการเมืองแบบเก่า จะต้องหันกลับมาทบทวนบทบาทของตนเองกันอย่างเข้มข้น และต้องปรับปรุงในหลายๆด้าน หากต้องการที่จะฟื้นความศรัทธาของประชาชนที่มีต่อพรรคการเมืองของตนเองให้กลับคืนมา และเข้าหาประชาชนกลุ่มเป้าหมายใหม่
ที่น่าสนใจคือ ประเด็นที่ รศ.ดร.สมชาย ชี้ว่า คนกลุ่มนี้คือกลุ่มที่ไม่มีประวัติศาสตร์อยู่ในใจ อาจตีความได้หลายนัยยะ หากแต่ในที่นี้ เข้าใจได้ว่าคนกลุ่มนี้ไม่ได้สนใจว่าพรรคการเมืองหรือผู้นำทางการเมืองนั้น มีพฤติการณ์ในอดีตอย่างไร พวกเขาเลือกที่จะอยู่กับกระแสในปัจจุบัน
และไม่ว่าสุดท้ายใครจะชิงธงเป็นรัฐบาลผสมได้สำเร็จ พวกเขาก็จะต้องตระหนักถึงปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะการสื่อสารการเมืองให้เข้าถึงกลุ่มคนเหล่านี้ ที่พวกเขามีความตื่นตัว และมีปฏิกิกริยาต่อประเด็นต่างๆ ที่เกิดขึ้น พวกเขากำลังจับตาพวกคุณอย่างใกล้ชิดอยู่เช่นกัน