ชุมศักดิ์ นรารัตน์วงศ์
ตลอดปี 2559 กระแสที่ถูกจับตามองอย่างมีความหวัง นอกจากความต่อเนื่องจากกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้แล้ว คงหนีไม่พ้นเรื่องการจัดตั้ง “รัฐบาลส่วนหน้า” หรือชื่อเรียกอย่างไม่เป็นทางการคือ “ครม.ส่วนหน้า” ขึ้นเป็นคณะทำงานพิเศษอีกชุดหนึ่งสำหรับแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ ตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 57/2559 เรื่อง การปรับปรุงการบริหารเพื่อแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ใช้ชื่ออย่างเป็นทางการว่า “ผู้แทนพิเศษของรัฐบาล” เพื่อทำหน้าที่ประสานงานระหว่างหน่วยปฏิบัติในพื้นที่ และสื่อสารโดยตรงกับนายกรัฐมนตรี แก้ปัญหาการไม่บูรณาการและขั้นตอนการปฏิบัติที่ล่าช้า โดย พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม (รมช.กลาโหม) คีย์แทนสำคัญที่เข้ามารับบทบาทในฐานะประธาน ครม.ส่วนหน้า ถูกมองว่าจะสามารถสั่งการหน่วยกำลังในพื้นที่ซึ่งส่วนใหญ่เป็นทหารได้ นอกจากนี้ยังมีตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีช่วย จึงมีจุดเชื่อมโยงกับคณะรัฐมนตรี หากทว่า ครม.ส่วนหน้า ยังมีชื่อบุคคลสำคัญอีกหลายคนซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์กันมากในประเด็นเรื่องที่สมาชิกส่วนใหญ่เคยเป็นอดีตข้าราชการที่เกษียณอายุราชการแล้ว
อย่างไรก็ตาม ผลจากการระชุมกันอย่างเป็นทางการครั้งที่ 4 เมื่อวันศุกร์ที่ 23 ธันวาคม 2559 ก่อนจะสิ้นสุดปีเก่า และต้อนรับปีใหม่ 2560 เพียงไม่กี่วัน ณ กระทรวงกลาโหม ครม.ส่วนหน้า ก็ได้คลอด “โรดแมป” การทำงานที่น่าสนใจและจะส่งผลต่อการผลักดันแผนงาน 7 ภารกิจบรรลุเป้าหมายตามนโยบายที่ได้รับมอบหมาย พร้อมกับเตรียมเสนอรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงและนำเข้าคณะรัฐมนตรีต่อไป ทั้งนี้โรดแมปที่จัดทำขึ้นนับเป็นการบูรณาการจาก 7 แผนงาน นำไปสู่ 3 เป้าหมายหลัก คือ ความมั่นคง การพัฒนา และการสร้างความเข้าใจ ตั้งเป้าไว้ว่าทุกอย่างจะเป็นรูปธรรมมากขึ้นในไตรมาสที่ 2 ของปี 2560 โดยเฉพาะแผนพัฒนาตามโครงการเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน”
โรดแมปการทำงานของ ครม.ส่วนหน้า เพื่อแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งดำเนินการแล้วเสร็จ แบ่งการทำงานเป็น 3 ระยะ คือ บูรณาการฐานการขับเคลื่อน ขับเคลื่อนอย่างบูรณาการสู่เป้าหมาย และเสริมแรงหนุนให้ต่อเนื่อง เป้าหมายที่กำหนดไว้ในปี 2560 คือ ประชาชนต้องมีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน มีรายได้เพิ่มขึ้น คุณภาพชีวิตดีขึ้น มีโอกาสทางการศึกษา ประชาชนมีความเข้าใจและร่วมมือแก้ปัญหาความขัดแย้งโดยสันติวิธี โดยปี 2560 ตั้งเป้าเพิ่ม “ตำบลต้นแบบ ขยายพื้นที่ปลอดภัย” ซึ่งต่อยอดจากโครงการพัฒนาเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ด้วย
สำหรับโครงการเมืองต้นแบบสามเหลี่ยมเศรษฐกิจ มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ต้นแบบเมืองพัฒนาเศรษฐกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ ถูกกล่าวถึงและโหมกระพืออย่างต่อเนื่องเป็นระยะๆ กระทั่งปรากฏผลเป็นรูปธรรมมากขึ้นหลังการเดินทางลงพื้นที่ จ. นราธิวาส ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พร้อมคณะ โดยการพิจารณาแบบเชื่อมโยงระหว่างจังหวัดในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ ประกอบด้วย นราธิวาส ปัตตานี ยะลา และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพสูงต่อการลงทุนและการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทย เนื่องจากความสมบูรณ์พร้อมของปัจจัยการผลิตทุกด้าน ตั้งแต่เรื่องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่มีความอุดมสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่ง ส่วนในเรื่องของทุนมนุษย์ พื้นที่แถบนี้มีทรัพยากรมนุษย์ที่มีต้นทุนที่ดีทางศาสนาและวัฒนธรรม สามารถนำอัตลักษณ์ที่มีไปเชื่อมต่อกับประเทศต่างๆ ได้อย่างหลากหลายทั่วโลก อันเนื่องจากความหลากหลายทางสังคมและวัฒนธรรมในฐานะที่เป็นพหุสังคมที่ดีงามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เช่น คนในพื้นที่โดยส่วนใหญ่ เป็นผู้นับถือศาสนาอิสลาม และพื้นที่ก็เป็นที่รู้จักในฐานะที่เป็น “ระเบียงเมกกะ” อันเป็นเอกลักษณ์และจุดเด่นสำคัญของพื้นที่
นอกจากนี้ ลักษณะภูมิประเทศที่มีเขตชายแดนติดต่อกับประเทศที่มีศักยภาพต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทย เช่น มาเลเซีย และสิงคโปร์ รวมถึงประเทศภายในอาณาเขตโพ้นทะเล อย่างเช่น อินโดนีเซีย บรูไน และ ฟิลิปปินส์ เป็นต้น จังหวัดชายแดนภาคใต้จึงเป็นประตูการค้าหลักในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตอนล่าง ที่สามารถพัฒนาขึ้นเป็นศูนย์กลางการพัฒนาเศรษฐกิจการค้า อุตสาหกรรม และการพาณิชย์แห่งภูมิภาคอาเซียน รวมไปถึงประเทศโลกตะวันออกที่มีศักยภาพ ทั้งที่เป็นประเทศมุสลิม รวมถึง จีน และ ญี่ปุ่น นอกจากนั้นยังมีความพร้อมของสถาบันการศึกษาในพื้นที่ซึ่งให้ความรู้และวางรากฐานการพัฒนาที่สำคัญ ภายใต้ฐานการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อตอบสนองต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีความร่วมมือต่างๆ จากสถาบันการศึกษาในส่วนกลางและต่างประเทศ
รัฐบาลภายใต้การบริหารงานของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กำหนดให้ทุกภาคส่วนของประเทศไทย เดินตามกรอบยุทธศาสตร์ชาติ ภายใต้วิสัยทัศน์ “ประเทศที่มีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ส่วนของพื้นที่ภาคใต้ มีกรอบแนวคิดที่มุ่งเน้นการสร้างการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะธุรกิจขนาดใหญ่ที่จะร่วมมือร่วมใจกันแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผ่านกลไก “ประสานประชารัฐ” ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างรัฐ เอกชนขนาดใหญ่ เอกชนในพื้นที่ ประชาชน และสถาบันการศึกษา ประเด็นการพัฒนาเศรษฐกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ มุ่งสร้างพื้นฐานเศรษฐกิจที่สอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่เป็นสำคัญ โดยเฉพาะการนำจุดแข็งของพื้นที่มาประกอบสร้างฐานการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่สำคัญของพื้นที่ ให้เป็น “ศูนย์กลางการพัฒนาเศรษฐกิจ” ด้วยรูปแบบ “เกษตรอุตสาหกรรม” เพื่อเป็นต้นทุนการผลิตอาหารสุขภาพและอาหารฮาลาล
สำหรับแนวทางการขับเคลื่อน มีการกำหนดเป็นยุทธศาสตร์ผ่านการสร้างเมืองเข้มแข็ง สร้างความเป็นต้นแบบของการพัฒนาเมืองสำคัญให้เป็น “เมืองต้นแบบการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Smart Green Cities)” ในพื้นที่สำคัญของจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีความน่าสนใจ ทั้งเรื่องทรัพยากรธรรมชาติ ฐานการลงทุน และศักยภาพเดิมของพื้นที่ ทรัพยากรมนุษย์และแรงจูงใจในการลงทุนสำหรับธุรกิจเอกชนทั้งภายในและนอกประเทศ โดยมีการเจรจาการลงทุนของธุรกิจขนาดใหญ่ผ่านช่องทางการเสนอมาตรการจูงใจการค้าและการลงทุนที่เป็นไปได้ เพื่อนำไปสู่การขับเคลื่อนการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมในอนาคต ทั้งนี้ในชั้นต้นมีการเสนอเป็นรูปแบบ “สามเหลี่ยมการพัฒนาอย่างยั่งยืน” เชื่อมโยงพื้นที่ถึงกันในลักษณะเครือข่าย ประกอบด้วย เมืองสุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส เพื่อพัฒนาขึ้นเป็นศูนย์กลางการค้าชายแดนระหว่างประเทศ (International Border Trade City) เมืองเบตง จ.ยะลา เพื่อพัฒนาขึ้นเป็นเมืองต้นแบบการพัฒนาที่พึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน (Sustainable Development City) และเมืองหนองจิก จ.ปัตตานี เพื่อพัฒนาขึ้นเป็นเมืองต้นแบบเกษตรอุตสาหกรรมก้าวหน้าผสมผสาน (Agricultural Industrial City) ผ่านการวางแผนการพัฒนาระยะยาว (Development Roadmap) ในกรอบเวลา 4 ปี
สิ่งที่น่าสนใจสำหรับข่าวคราวที่ปรากฏล่าสุด คือ การผลักดันเรื่องงบประมาณดำเนินงานในแต่ละพื้นที่ โดย จังหวัดนราธิวาสได้รับงบสนับสนุนจากรัฐบาลในการเดินหน้าโครงการพัฒนาปี 2560 จำนวน 3 โครงการ รวม 532 ล้านบาท ได้แก่ โครงการปรับปรุงสถานีรถไฟสุไหงโก-ลก และส่งเสริมการจัดตั้งสถานีขนส่งสินค้า ใช้งบ 185 ล้านบาท โครงการพัฒนาโครงข่ายเชื่อมโยงคมนาคมขนส่ง 327 ล้านบาท มีทั้งการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำสุไหงโก-ลก สู่เมืองลันตาปันยัง ฝั่งมาเลเซีย สร้างถนนเลี่ยงเมือง และพัฒนาท่าเทียบเรือชุมชน และสุดท้ายคือโครงการจัดตั้งเมืองการค้าปลอดภาษี ใช้งบ 20 ล้านบาท เมืองต้นแบบของยะลา คือ อ.เบตง ได้รับงบประมาณสนับสนุนการพัฒนา 4 โครงการ จำนวน 4,995 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นโครงการก่อสร้างและปรับปรุงถนนหนทาง โดยเฉพาะเส้นทางเชื่อมระหว่างเมืองยะลากับ อ.เบตง รวมทั้งโครงการก่อสร้างอุโมงค์ลอดใต้ภูเขาบนทางหลวงหมายเลข 410 ยะลา-เบตง ด้วย ส่วนปัตตานีมีเมืองต้นแบบคือ อ.หนองจิก มุ่งเน้นการขยายพื้นที่เพาะปลูกในพื้นที่รกร้างว่างเปล่า 24,000 ไร่ ให้เป็นพื้นที่เพาะปลูกปาล์มน้ำมันเพื่อจำหน่ายแก่ผู้ประกอบการในพื้นที่ซึ่งมีความต้องการสูงถึง 350,000 ตัน หรือ ประมาณ 90,000 ไร่ คาดว่าจะสร้างอาชีพให้กับเกษตรกรได้ 6,000 ราย
ภาพโดยรวมที่เกิดขึ้น สำหรับประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือผู้ติดตามสถานการณ์ในพื้นที่ชายแดนใต้ อาจนับเป็นหนึ่งในข่าวดีท่ามกลางข่าวร้าย เสมือนเป็น “ของขวัญปีใหม่” จากรัฐบาล อย่างน้อยที่สุดปีใหม่ 2560 คงจะไม่เป็นปีที่ว่างโหวงเกินไปนัก