เสือตัวที่ 6
การขับเคลื่อนการต่อสู้กับรัฐของคนกลุ่มหนึ่งที่เรียกกันว่า ขบวนการก่อความไม่สงบในพื้นที่ปลายด้ามขวานของไทย ที่สามารถส่งต่อ เพื่อสื่อสารการต่อสู้กับรัฐนั้น ล้วนมีกระบวนการในการอิงแอบเป็นตัวช่วยสนับสนุนการขับเคลื่อนการแบ่งแยกดินแดนในหลากหลายรูปแบบ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ บรรดาสื่อมวลชนทั้งสื่อกระแสหลักและสื่อกระแสรอง โดยเฉพาะสื่อทางสังคมออนไลน์ ที่เป็นสื่อยุคใหม่ และสามารถสื่อสารการต่อสู้ของคนกลุ่มเล็กๆ กลุ่มนี้ให้ออกไปสู่สังคมทั้งภายในพื้นที่และภายนอกพื้นที่ในวงกว้างได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยจะสังเกตได้จากพฤติกรรมการเสนอข่าวสารของสำนักข่าวบางแห่ง ที่พยายามนำเสนอข้อมูลข่าวสาร ส่งต่อเป้าหมายในการก่อเหตุไม่สงบในหลากหลายรูปแบบทั้งแบบรุนแรงที่หมายเอาชีวิตฝ่ายตรงข้าม และแบบการก่อกวนเล็กๆ น้อยๆ เช่นการพ่นสีตามพื้นถนน หรือการติดป้ายผ้าตามพื้นที่สาธารณะ ที่แสดงถึงเจตจำนงของการขับเคลื่อนในการต่อสู้กับรัฐ ของบรรดากลุ่มก่อความไม่สงบอย่างแยบยล ที่มีความแนบเนียนระดับมืออาชีพ พร้อมๆ กับการนำเสนอข่าวสารที่เป็นการช่วยสนับสนุนการต่อสู้กับรัฐ ในขณะเดียวกันก็พยายามนพำเสนอข้อมูลข่าวสารและความคิดเห็นในทำนองโจมตีการแก้ปัญหาของรัฐในทุกรูปแบบ
ดังเช่น กรณีการปิดล้อมไล่ล่ากลุ่มติดอาวุธหัวรุนแรงที่ลอบสังหารพระสงฆ์ถึงในกุฏิของวัดแห่งหนึ่งที่ผ่านมาอย่างโหดเหี้ยมผิดมนุษย์ แต่สื่อมวลชนบางแห่งกลับไม่ร่วมกันประณามการกระทำอันผิดปกติของคนกลุ่มนี้ พร้อมทั้งพยายามนำเสนอความเห็นไปในแนวที่สงสัยว่าเหตุร้ายดังกล่าว อาจเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐเสียเอง ซึ่งความระแวงสงสัยดังกล่าว วิเคราะห์ได้ว่า เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการที่พยายามช่วยเหลือ สนับสนุนขบวนการร้ายแห่งนี้ และเมื่อเจ้าหน้าที่รัฐสามารถปิดล้อมจับกุมกลุ่มคนร้ายได้ถึงบนภูเขาหลังหมู่บ้านแห่งหนึ่ง สื่อมวลชนบางแห่ง กลับไม่ช่วยให้ข่าวที่เป็นเชิงบวกกับรัฐเท่าที่ควร
และในกรณีล่าสุดเมื่อ 10 มี.ค.ที่ผ่านมา เกิดปรากฏการณ์การพ่นอักษรตามพื้นถนนบางแห่งในพื้นที่ รวมทั้งราวสะพานบางแห่ง สื่อมวลชนบางแห่ง ยังพยายามช่วยสื่อสาร เพื่อกระพือข่าวการพ่นสีสเปรย์ของคนกลุ่มหนึ่งเพื่อช่วยอธิบายข้อความที่คนกลุ่มนี้ต้องการสื่อสารกับสังคมภายในพื้นที่และที่สำคัญความต้องการสื่อสารไปยังสังคมภายนอกประเทศตลอดจนรัฐบาล เพื่อสื่อสารประเด็นสาเหตุของการต่อสู้กับรัฐตลอดมา ทั้งที่การพ่นสีสเปรย์ที่ปรากฏข้อความดังกล่าว เป็นเพียงตัวอักษรไม่กี่ตัวที่ไม่มีความหมายมากนัก หากสื่อมวลชนที่เป็นตัวช่วยขบวนการเหล่านี้ ไม่ช่วยนำเสนอข่าวและช่วยขยายความหมายของข้อความเหล่านั้นให้สังคมรับรู้เข้าใจในเจตนารมณ์ของกลุ่มคนในขบวนการนี้ และถึงกับสื่อสารความคิดของคนในขบวนการคนหนึ่งที่กล่าวอย่างเลื่อนลอยว่า "ข้อความดังกล่าว เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ภาคใต้เป็นแบบปัจจุบัน"
ในขณะที่หน่วยงานด้านความมั่นคงของรัฐ ยังขาดการปฏิบัติการข่าวสารเชิงรุกต่อขบวนการแห่งนี้เท่าที่ควร โดยปล่อยให้ขบวนการแบ่งแยกดินแดน และตัวช่วยสื่อสารการต่อสู้กับสังคมภายนอก มีการปฏิบัติใดๆ ก่อน แล้วจึงมีการปฏิบัติเพื่อตอบโต้ หรืออธิบายความเข้าใจที่ถูกต้องกับสังคมที่การปฏิบัติการทางทหารเรียกการกระทำในลักษณะดังกล่าวกันว่า การปฏิบัติการข่าวสารเชิงรับ ดังเช่น เมื่อเกิดการสื่อสารด้วยข้อความตามพื้นถนนแห่งหนึ่งแล้ว หน่วยงานความมั่นคงท่านหนึ่ง พยายามอธิบายการสื่อสารด้วยข้อความดังกล่าวว่า " ปีนี้ถือเป็นปีแรกที่มีการพูดถึงเรื่องนี้ คงเป็นเพราะหมดมุขอื่นแล้ว ขบวนการควักทุกวิถีทางออกมาหมดแล้ว จึงต้องย้อนไปหาเรื่องเก่าๆ เกินกว่าร้อยปีมาเป็นประเด็น ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ก็พร้อมที่จะรับมือกับสถานการณ์อย่างเต็ม ส่วนกลุ่มที่ออกมาพ้นสี ก็ถือว่าผิดตามกฎหมาย รวมถึงผู้ที่ให้ที่พักพิงหลบซ่อน ก็จะมีความผิดด้วย เรายืนยันว่าจะบังคับใช้กฎหมายอย่างเต็มที่ต่อไป "
ปรากฏการณ์เหล่านี้ จึงชี้ชัดว่า ขบวนการก่อความไม่สงบในพื้นที่ จชต. แม้จะมีผู้ร่วมขบวนการที่เป็นตัวหลักๆ และมีกองกำลังติดอาวุธหัวรุนแรง ที่มีจำนวนไม่มากนัก หากแต่มีแนวร่วมที่อิงแอบในรูปแบบต่างๆ ที่คอยให้การสนับสนุน เป็นตัวช่วยการต่อสู้ของคนกลุ่มหลักในหลากหลายรูปแบบอย่างแนบเนียนยิ่ง ทั้งที่เป็นแนวร่วมแบบสองหน้า กล่าวคือ ทำตัวเข้าได้กับเจ้าหน้าที่รัฐและกับฝ่ายเห็นต่างกับรัฐอย่างแยกแยะไม่ออก และเป็นกลุ่มผลประโยชน์ในพื้นที่ท้องถิ่นและกลุ่มผลประโยชน์ระหว่างประเทศที่อิแอบกับคนกลุ่มหลักของขบวนการเพื่ออาศัยช่องว่างของอำนาจรัฐในการแสวงหาผลประโยน์ที่ผิดกฎหมายต่างๆ และกลุ่มสำคัญที่ไม่อาจละเลยได้ก็คือ กลุ่มสื่อสารมวลชน โดยเฉพาะสื่อกระแสรองบางแห่ง ที่อิงแอบกับขบวนการร้ายแห่งนี้ และคอยช่วยสนับสนุนการขับเคลื่อนการต่อสู้กับรัฐของคนกลุ่มหลักอย่างต่อเนื่องและแยบยลตลอดมา
การปรากฏข้อความในหลากหลายรูปแบบในโอกาสต่างๆ ที่อ้างว่า เป็นวันครบรอบโน่นนี่ของการก่อความไม่สงบ ด้วยถ้อยคำที่ถูกพ่นบนถนน ราวสะพาน ป้ายบอกทาง หรือตามกำแพง ที่สื่อสารมวลชนเหล่านี้ ทำตัวเป็นตัวช่วย สื่อสารในการขยายความและช่วยแปลความหมายให้สังคมภายนอกรับรู้เข้าใจความต้องการสื่อสารของคนในขบวนการแห่งนี้อย่างจริงจัง และล่าสุดการช่วยสื่อสารขยายความของข้อความที่พ่นล่าสุดในการอธิบายความหมายโดยใช้คำว่า "การถอดรหัส" ข้อความ PATANI 110 ดังกล่าว อย่างชัดเจน ทั้งที่โลกในวันนี้และวันข้างหน้า ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิงแล้ว และนั่น จึงเป็นความสำคัญยิ่งว่า หน่วยงานความมั่นคง ต้องเข้าถึงสื่อมวลชนเหล่านั้นให้ได้อย่างจริงจัง เพื่อไม่ให้ขบวนการร้ายแห่งนี้ มีตัวช่วย ในการสื่อสารที่ทรงประสิทธิภาพอยู่ต่อไป