ดร. วิชัย พยัคฆโส [email protected] สถานีวิทยุของหน่วยงานราชการทั้ง AM และ FM จำนวน 506 สถานี ต่างรอดพ้นจากการอาจถูกยึดคลื่นที่ถือครองอยู่คืนภายในกำหนด 5 ปี ตาม พรบ. จัดสรรคลื่นความถี่ที่จะมีผลในเดือน เมษายน 2560 นี้ เพราะ ม.44 ให้ชะลอออกไปก่อนไม่มีกำหนด มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์กรณีนี้กัน ทั้งในทางที่ดีและในทางที่อาจจะไปทำลายการปฏิรูปสื่อกันหลากหลาย เพราะในยุคก่อนที่จะมี พรบ. การจัดสรรคลื่นความถี่ มีทั้งวิทยุราชการ วิทยุชุมชน รวมถึงวิทยุการเมือง ต่างใช้วิทยุเป็นเครื่องมือเพื่อประโยชน์เฉพาะกลุ่ม หรืออาจพูดได้ว่าแฝงไว้ด้วยการหาผลประโยชน์เชิงธุรกิจกันเป็นส่วนมาก รวมถึงวิทยุของหน่วยราชการที่สัมปทานให้เอกชนเข้ามาเช่าทำรายการ ที่มีโฆษณาเป็นธุรกิจความสับสนวุ่นวายทางการเมืองเกิดขึ้นในช่วงนั้น ต้องยอมรับว่าวิทยุเป็นกระบอกเสียงส่วนหนึ่งที่จุดพลุข่าวสารที่ยังความสับสนทำให้เกิดกระแสทางการเมือง จนถึงขั้นเกิดจลาจลอันเป็นที่มาของการปฏิรูปสื่อ วิทยุชุมชนที่สอดแทรกแนวคิดทางการเมืองถูกปิดเป็นส่วนมาก รวมถึงโทรทัศน์บางช่องด้วย ในที่สุด พรบ. เพื่อการปฏิรูปสื่อจึงเกิดขึ้นตามที่ทราบกันแนวคิดการปฏิรูปสื่อได้แบ่งออกเป็น 3 ประเภทใหญ่ในการใช้คลื่นความถี่ ได้แก่ ประเภทสาธารณะทั้งด้านการศึกษา ทางด้านความมั่นคง โดยไม่หวังผลกำไร ส่วนมากจะเป็นสถานีของทางราชการเกือบทั้งสิ้น ส่วนประเภทชุมชนนั้นอาจเป็นมูลนิธิ สมาคม หรือท้องถิ่น ที่ไม่หวังผลกำไรอีกเช่นกัน ส่วนประเภทสุดท้าย คือ ประเภทธุรกิจ ต้องแข่งขันกันด้วยการประมูลคลื่นความถี่แต่ยังไม่เกิด เพราะยังมิได้ยึดคลื่นความถี่ที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานของกฎหมายมาจัดสรรใหม่ คลื่นความถี่ ตีความกันไปว่าเป็นทรัพยากรของรัฐเมื่อจะปฏิรูปตาม พรบ. ใหม่ ก็ต้องยึดคืนก่อนให้เข้าสู่ระบบและมาตรฐานใหม่ ซึ่งต้องควรจะยึดหลักเพื่อให้เป็นคลื่นสาธารณะที่จะทำหน้าที่สื่อข่าวสาร ในการพัฒนาประเทศ แต่ดูเหมือนว่า กสทช. มุ่งเอาประโยชน์จากการประมูล ทั้งในทีวีดิจิทัล และคลื่นโทรคมนาคม 3 G ส่งผลให้นายทุนได้คลื่นความถี่ไป ส่งผลให้ดิจิทัลทีวีล้มลุกคลุกคลานเพราะแบกต้นทุนไม่ไหวล่มสลายหลายราย ค้างค่าประมูลก็มีถึงขั้นโรงขึ้นศาลเป็นที่ปรากฏ การใช้ ม.44 คงต้องกลับมาวิเคราะห์กันใหม่ว่าการจัดสรรคลื่นความถี่ควรจัดสรรอย่างไรดี โดยเฉพาะวิทยุหรือโทรทัศน์ของหน่วยงานราชการที่ถือครองอยู่แล้ว ผมกลับเห็นว่าเมื่อคลื่นความถี่เป็นของรัฐ เมื่อหน่วยงานราชการทั้งกระทรวงและสถาบันการศึกษาต่างเป็นหน่วยงานราชการอยู่แล้ว จะยึดคืนไปเพื่อประการใด เพราะต่างช่วยประชาสัมพันธ์และส่งข่าวสารที่เป็นประโยชน์ของรัฐอยู่แล้ว เพียงแต่ต้องจัดระเบียบของคุณภาพรายการให้เหมาะสมเท่านั้น การปรับปรุง พรบ. จัดสรรคลื่นความถี่ใหม่ ซึ่งได้มีการร่างไว้แล้วจากคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสื่อ น่าจะนำมาวิเคราะห์ให้สอดคล้องกับการปฏิรูปประเทศไทย 4.0 และส่งผลไปสู่การปฏิรูป กสทช. ไปพร้อมกัน