เสือตัวที่ 6 แหล่งซ่องสุมกบดานของบรรดากองกำลังติดอาวุธของขบวนการก่อความไม่สงบ ที่นิยมคลั่งไคล้ความรุนแรงในพื้นที่ปลายด้ามขวานมีอยู่ไม่มากนักในพื้นที่ ด้วยสภาพแวดล้อมโดยทั่วไปของพื้นที่ 3 จชต.แห่งนี้ เป็นพื้นที่ชนบทที่มีอาคารบ้านเรือนอยู่กันเป็นหย่อมๆ กระจัดกระจายออกไปในภูมิประเทศท้องถิ่น แทรกปนด้วยพื้นที่สูงที่มีลักษณะเป็นเนินเขา และภูเขาที่มีป่าไม้ปกคลุมอยู่เป็นพื้นที่กว้าง ทำให้การซ่องสุมกำลังของบรรดากลุ่มคนนิยมความรุนแรง มีทางเลือกอยู่ 2 ประเภทคือ 1.พื้นที่ที่เป็นที่พักอาศัยแบบชนบททั่วไปของชาวบ้านที่เป็นแนวร่วมขบวนการร้ายแห่งนี้ ตลอดจนอาคาร สิ่งปลูกสร้างที่ถูกทิ้งร้างไร้การดูแลของเจ้าหน้าที่รัฐ และ 2. พื้นที่สูงที่เป็นภูเขาและเนินเขาที่อยู่ในพื้นที่ ลักษณะทั้ง 2 ประเภทดังกล่าว จึงมักเป็นแหล่งหลบซ่อน กบดานของบรรดากองกำลังติดอาวุธชุดเล็กๆ ที่มีจำนวนไม่เกินกลุ่มละ 7-8 คน เพื่อให้ง่ายต่อการหลบซ่อน จากการตรวจพบของเจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งเป็นแหล่งซ่องสุมเพื่อการเตรียมการก่อเหตุร้าย และการหลบซ่อนหลังจากการก่อเหตุร้ายได้เป็นอย่างเป็นผลเสมอมา ดังจะเห็นได้ว่า การก่อเหตุร้ายทุกครั้ง โดยเฉพาะการปฏิบัติที่ต้องการการรวมกำลังกองโจร เพื่อเข้าโจมตีต่อเป้าหมายที่เลือกแล้ว จะมีการเตรียมการเป็นอย่างดี และมักจะประสบความสำเร็จในการก่อเหตุร้ายได้ตามแผนการร้ายที่กำหนด รวมทั้งความสามารถในการหลบหลีกหลีกหนี เพื่อกบดานการติดตามไล่ล่าของกองกำลังของรัฐ หลังการก่อเหตุร้ายได้สำเร็จตามแผนได้อย่างแนบเนียน ตัวอย่างกรณีที่กองกำลังฝ่ายความมั่นคงของรัฐ ที่ได้เข้าปิดล้อมจับกุม จนเกิดการปะทะกับกองกำลังติดอาวุธของขบวนการก่อความไม่สงบได้บนภูเขาในพื้นที่เป็นระยะๆ แสดงให้เห็นว่า กองกำลังติดอาวุธหัวรุนแรงพวกนี้ ย่อมได้รับการสนับสนุนการหลบซ่อน ซ่องสุม กบดานจากแนวร่วมในชุมชนต่างๆ ในบริเวณดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง เพราะจากการตรวจค้นแหล่งซ่องสุมทุกครั้งหลังการปะทะกับกองโจรกลุ่มนี้ นอกจากการยึดอาวุธประจำกายที่ถูกทิ้งไว้ เจ้าหน้าที่รัฐจะสามารถตรวจยึดเสบียงอาหาร เครื่องเวชภัณฑ์ อาหารสำเร็จรูป และอุปกรณ์ที่จำเป็นในการดำรงชีพในป่าภูเขาได้ระยะเวลาหนึ่ง ดังกรณีเหตุปะทะที่เกิดขึ้นเมื่อช่วงเช้าของวันเสาร์ที่ 2 มี.ค. ที่ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส พ.อ.กรกฎ เจริญฤทธิ์ ผู้บังคับการกรมทหารพรานที่ 46 จัดกำลังพล 2 ชุดปฏิบัติการ ขึ้นพิสูจน์ทราบความเคลื่อนไหวของกองกำลังติดอาวุธจำนวน 4–5 คนที่ซ่องสุมตัวกบดาน บนเชิงเขาหลังหมู่บ้านลาโล๊ะ หมู่ 5 ต.ลาโล๊ะ อ.รือเสาะ และหลังจากการปะทะกัน เจ้าหน้าที่รัฐได้พบสิ่งของมากมายจำนวนหนึ่ง อาทิ ที่พักชั่วคราว 1 หลัง อุปกรณ์ประกอบอาหาร ข้าวสาร อาหารสำเร็จรูป เสื้อผ้า และยารักษาโรค เป็นต้น นอกจากนั้น ยังพบว่า กลุ่มคนร้ายถูกเจ้าหน้าที่วิสามัญฆาตกรรมเสียชีวิต 1 ราย พร้อมอาวุธปืนเอ็ม 16 A2 จำนวน 1 กระบอก และต่อมา ผลชันสูตรศพยืนยันแล้วว่าคือ นายมาหะมะ บูละ อายุ 30 ปี ภูมิลำเนาอยู่ที่ ต.ลาโละ อ.รือเสาะ มีประวัติเป็นผู้ก่อเหตุรุนแรงระดับปฏิบัติการ เคยถูกควบคุมตัวจากเหตุปะทะคนร้ายเสียชีวิต 2 ศพในพื้นที่ อ.รือเสาะ เมื่อวันที่ 2 กค.59 และมีหมายจับ ป.วิอาญา อีก  2 หมาย ในความผิดฐานสะสมกำลังพลและอาวุธ อั้งยี่ ซ่องโจร แต่หลบหนีมาตลอด ส่วนกลุ่มกองกำลังติดอาวุธที่เหลือคาดว่าจะถูกยิงได้รับบาดเจ็บ แต่ยังสามารถอาศัยความชำนาญพื้นที่หลบหนีไปได้ คาดว่ากลุ่มคนร้ายมุ่งหน้าไปยังเทือกเขาเขตรอยต่อระหว่าง อ.ระแงะ กับ อ.จะแนะ จ.นราธิวาส จึงได้ประสานไปยังกรมทหารพรานที่ 45 และ 49 ที่ปฏิบัติหน้าที่ภาคพื้นดิน จัดกำลังออกลาดตระเวนเส้นทางที่คาดว่ากลุ่มคนร้ายจะใช้หลบหนีเพื่อนำตัวคนเจ็บไปรักษาตัวตามบ้านเรือนของสมาชิกแนวร่วมขบวนการก่อความไม่สงบ ที่สนับสนุนการก่อความรุนแรงในเขตรอยต่อของ 2 อำเภอด้วย ทำให้เห็นว่า บรรดากองกำลังติดอาวุธหัวรุนแรงในพื้นที่ จะไม่สามารถเข้าปฏิบัติการได้และหลบหนีการไล่ล่าของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงไปได้โดนง่าย หากไม่ได้รับการสนับสนุนจากบรรดาแนวร่วมขบวนการที่อยู่ในชุมชนหมู่บ้านที่เรียงรายไปตามภูมิประเทศตามแนวภูเขาได้อย่างที่เป็นมา ซึ่งนั่น บ่งชี้ได้อย่างชัดเจนว่า ยังคงมีกลุ่มคนที่มีความคิดความเชื่อที่ยังเป็นปรปักษ์กับความมั่นคงของรัฐอย่างไม่เคยเปลี่ยนแปลง และยังสามารถอำพรางตัวให้เป็นชาวบ้านธรรมดาๆ ที่เจ้าหน้าที่รัฐมองข้ามความเคลื่อนไหวไปได้อย่างแนบเนียน ทำให้เห็นว่า ความพยายามในการแก้ปัญหาของหลายรัฐบาลที่ผ่านมา ได้ใช้ความพยายามแก้ปัญหาในหลากหลายรูปแบบ ทั้งไม้นวมและไม้แข็ง จึงบ่งชี้ได้ว่า ยังมีความคืบหน้าไปสู่การยุติการก่อเหตุรุนแรงได้ไม่มากเท่าที่ควรจะเป็น ยังมีผลตอบสนองความต้องการของรัฐที่ทุ่มเททรัพยากรทุกอย่างของชาติเพื่อให้การต่อสู่ด้วยอาวุธยุติลงไม่เป็นไปตามที่คาดหวังเท่าใดนัก ดังนั้น ภาครัฐจะต้องเร่งติดตามไล่ล่า ใช้ไม้แข็งเข้ากดดันกลุ่มกองกำลังติดอาวุธหัวรุนแรงจึงต้องดำเนินการต่อไปอย่างเข้มข้นเพื่อไม่เปิดโอกาสให้กองโจร ใช้พื้นที่เหล่านี้ เป็นแหล่งซ่องสุม ควบคู่ไปกับการสร้างความเข้าใจ แสวงหาความร่วมมือกับมวลชนในพื้นที่ ร่วมกับการสอดส่อง หาข่าว ตรวจจับความเคลื่อนไหวของบรรดาผู้คนในหมู่บ้านที่ล่อแหลมต่อการแอบสนับสนุนให้แหล่งซ่องสุมกบดานของบรรดากองโจรทั้งหลายอย่างต่อเนื่อง เพื่อจำกัดพื้นที่ของกองโจรให้ไม่มีแหล่งซ่องสุม หลบหนีหรือคิดก่อการร้ายใดๆ ได้อีกต่อไป