ดร. วิชัย พยัคฆโส [email protected] ผลการทดสอบ PISA (Programme for International Student Assessment) ที่ดำเนินการโดย OECD ประกาศผลของปี 2015 ที่ผ่านมา ผลปรากฏความสามารถด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ และการอ่านของไทยอยู่ในอันดับ 50 กว่าๆ ของ 72 ประเทศ ผลที่ปรากฏได้ส่งผลไปสู่การวิพากษ์ถึงคุณภาพการศึกษาไทยที่อันดับไม่ค่อยกระเตื้องจากเดิม ผิดกับสิงคโปร์ ครองอันดับ 1 เวียดนามกระโดดขึ้นมาถึงอันดับ 8 ของโลก และยังได้เน้นย้ำถึง การปฏิรูปการศึกษาที่ผ่านมาไม่ค่อยจะบรรลุผลสำเร็จเท่าที่ควร ผิดกับเพื่อนบ้านเขาเอาจริงเอาจังกับคุณภาพการศึกษาจนยกระดับเข้าสู่ 10 อันดับแรก เป็นที่น่าภาคภูมิใจ อย่างไรก็ตามต้องยอมรับความจริงจากผลการทดสอบของ PISA เพราะเป็นการทดสอบ ของ OECD มาจัดกลุ่มโรงเรียนประเมินเองทั่วประเทศ ซึ่งคุณภาพการศึกษาของประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำอยู่แล้ว ทั้งในส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค หากไปประเมินจากโรงเรียนที่ยังไม่มีความพร้อมของครู และเทคโนโลยีการศึกษา จะทำให้ภาพรวมของคุณภาพลดต่ำลง แต่ผมกลับมองในอีกแง่มุมหนึ่งที่เป็นมิติทางบวกของการศึกษาของไทยเรา เพราะถ้าดูผลจากคุณภาพการศึกษาของกรุงเทพมหานครพบว่าใกล้เคียงกับคุณภาพคุณภาพของสหรัฐอเมริกา ด้วยคะแนน 470 - 500 เป็นส่วนมาก แต่ในภาพระดับของภูมิภาคอื่นอยู่ในคะแนนช่วง 350 – 390 เท่านั้น แสดงถึงความเหลื่อมล้ำคุณภาพการศึกษาอย่างเห็นได้ชัด เท่ากับว่าแผนการปฏิรูปการศึกษาจำต้องเน้นไปที่ภูมิภาค ให้สามารถยกระดับคุณภาพการศึกษาในอนาคต หากมาดูผลจากการทดสอบทั้งคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และการอ่านในส่วนของโรงเรียนฐานคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ในกลุ่มโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย และโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ จะเห็นว่าด้านคณิตศาสตร์ได้ 556 คะแนน เป็นอันดับ 2 รองจากสิงค์โปรที่ได้คะแนน 564 คะแนน เท่านั้น ด้านวิทยาศาสตร์พบว่าได้คะแนน 567 คะแนน เป็นอันดับหนึ่ง ชนะสิงค์โปรที่ได้คะแนน 556 คะแนน ส่วนการอ่านยังเป็นอันดับ 1 ได้คะแนน 537 คะแนน ชนะสิงค์โปร อันดับ 2 ได้คะแนน 535 คะแนน จากมุมมองของกลุ่มโรงเรียนฐานคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ของไทยอยู่ในอันดับต้นๆ ของโลกเช่นนี้ย่อมหมายถึง หลักสูตร และครูอาจารย์ของเราไม่ด้อยกว่าอันดับโลกของเพื่อนบ้าน จึงน่าจะนำมาถึงบทวิเคราะห์ความเป็นไปได้ในการปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคกระจายไปสู่เมืองใหญ่ๆ ให้ได้ทรัพยากรที่มีคุณภาพเช่นเดียวกับโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย และมหิดลวิทยานุสรณ์ จึงขอชื่นชมต่อคุณภาพการศึกษาและการจัดการศึกษาของไทยที่พัฒนามาได้ตรงประเด็น มิใช่ว่าจะมองภาพรวมทั้งหมดว่าคุณภาพการศึกษาของไทยเราตกต่ำ หรือด้อยคุณภาพไปทั้งประเทศ จึงขอเป็นกำลังใจให้กระทรวงศึกษาธิการ ปฏิรูปคุณภาพการศึกษามกกว่าที่จะปฏิรูปเฉพาะโครงสร้าง ที่ไม่บรรลุผลตาม พรบ. การศึกษาแห่งชาติ 2542 เป็นบทเรียนต่อการพัฒนาในแผนการศึกษาแห่งชาติ 20 ปี ในอนาคต