เสรี พงศ์พิศ

Fb Seri Phongphit

ในยุคที่เกษตรถูก “ดิสรัป” หรือเปลี่ยนถึงรากโคน หน่วยงานราชการและสถาบันการศึกษาไม่เปลี่ยน “ไมน์แซท” วิทยาลัยเกษตรเพื่อการเปลี่ยนแปลง   (Agricultural College for Transformation) เป็นความฝันที่อยากทำให้เป็นจริง เพื่อตอบโจทย์โลกยุคใหม่ที่แข่งขันเพื่อความอยู่รอด

วิสัยทัศน์ของวิทยาลัยแห่งนี้คือ "สร้างเกษตรกรผู้เปลี่ยนแปลง ไม่ใช่แค่เกษตรกรผู้ผลิต" เปลี่ยนบทบาทสถาบันจาก “ศูนย์กลางความรู้” เป็น “แพลตฟอร์มสำหรับการเปลี่ยนแปลง” มหาวิทยาลัยทั่วไปมักเน้นความรู้ เทคนิค วิทยาลัยนี้เน้นกระบวนการเปลี่ยนแปลงคน ระบบ และชุมชน

เน้นการเรียนรู้แบบมีฐาน (place-based learning) ไม่ใช่เรียนในห้อง แต่เรียนจาก “พื้นที่จริง” ของชาวบ้าน “หมู่บ้านคือห้องเรียน” “ชุมชนคือห้องทดลอง” “ชาวบ้านคือเพื่อนเรียนรู้”

หลักสูตรไม่แยกทฤษฎีกับภาคปฏิบัติ แต่บูรณาการผสานในทุกบทเรียน ทุกหลักสูตรต้องมี “แผนเปลี่ยนแปลง” ของผู้เรียน  ใช้รูปแบบ Work-Based Learning / Action Research / Entrepreneurial Learning โดยตั้งเป้าให้ “เกษตรกรเป็นครู” และ “นักศึกษาเป็นนักเปลี่ยนแปลง” ครูคือเกษตรกรต้นแบบในชุมชน นักศึกษาคือผู้พัฒนาพื้นที่ ด้วยการวิจัย วิจัยเชิงปฏิบัติการ

มีที่ “บ่มเพาะฟาร์ม” (Farm Incubator) พื้นที่ให้ทดลองทำจริง พร้อมโค้ช แปลงวิจัยของตัวเอง  มีกระบวนการพาคนรุ่นใหม่สร้างธุรกิจเกษตรจากฐานชุมชน เชื่อมคนรุ่นใหม่กับปราชญ์ท้องถิ่น

ร่วมกันค้นหาและพัฒนาชุมชนพันธมิตร เพื่อเป็นแกนนำขบวนการ เพื่อให้เกิดชุมชนเรียนรู้ทั่วประเทศ เกิดศูนย์เศรษฐกิจชุมชนตำบล สร้างเครือข่ายในพื้นที่ จังหวัด ภาค และทั้งประเทศในที่สุด

วิทยาลัยแห่งนี้เป็น "ผู้เร่งปฏิกิริยา” (Catalyst) ที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่แค่ "ผู้ผลิตบัณฑิต" จึงทำงานแบบมี “พันธกิจ” (mission) ไม่ใช่แค่ให้ปริญญา  แต่เป็น “สะพาน” เชื่อมความรู้สมัยใหม่กับภูมิปัญญาท้องถิ่น เปิดกว้างให้คนที่ไม่เคยเรียนมหาวิทยาลัยก็เข้ามาเรียนรู้ได้ มีหลักสูตรสั้นยาวหลากหลาย

 แนวคิดหลักใหม่ของวิทยาลัยคือ “เปลี่ยนชุมชนผ่านเกษตรอัจฉริยะ AgriTech for Transformation” โดยใช้ AI / IoT / Data / Robotics / Blockchain / Smart Market  เพื่อลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพ เพิ่มมูลค่า

เปลี่ยนเกษตรกรเป็นนักจัดการระบบอาหารยุคดิจิทัล เรียนรู้จากปัญหาและโอกาสของจริงในพื้นที่
ผู้เรียนใช้แปลงหรือกิจกรรมเกษตรของตนเองเป็นห้องเรียน จุดเริ่มจากการตั้งคำถามว่า “อะไรคือปัญหา โอกาสและศักยภาพ” ร่วมกันค้นหา “ต้นทุน” ในท้องถิ่น ทุนทรัพยากร ทุนทางปัญญา ทุนทางสังคม

การเรียนรู้แบบบูรณาการ ผสานความรู้ด้านวิทยาศาสตร์เกษตร ธุรกิจ การจัดการ ท้องถิ่น  เทคโนโลยี โดยการจัดกระบวนการเรียนรู้ผ่านกรณีศึกษา ปัญหาจริงในภาคสนาม

เน้นวิจัยเพื่อพัฒนา (Action Research, R&D) ทุกคนมี “แผนทดลอง” ของตนเอง เช่น ทดลองพันธุ์พืช วิธีปลูก การแปรรูป การตลาด  เก็บข้อมูล วิเคราะห์ การปรับปรุง

ครูอาจารย์ทำหน้าที่เป็นโค้ช เป็น “ผู้อำนวยความรู้” (learning facilitator)ไม่ใช่ผู้ถ่ายทอดความรู้เพียงอย่างเดียว จึงต้องมีทักษะเป็นโค้ชหรือที่ปรึกษาแบบตัวต่อตัว  เชื่อมโยงเครือข่ายผู้รู้ เช่น เกษตรกรต้นแบบ นักวิชาการ องค์กรสนับสนุน ขบวนการภาคประชาสังคม

การสร้างวิทยาลัยเกษตรเพื่อการเปลี่ยนแปลงต้องมีฐานที่ชุมชน ที่มีศักยภาพที่จะทำให้การเกษตรของไทยให้ยกระดับขึ้นไปอีกหลายขั้น ซึ่งคงไม่อาจ “พึ่งพา” สถานศึกษาและหน่วยงานราชการที่ยังคิดและทำแบบ “อนุรักษ์” ที่มักอ้างผลงานเพื่อสร้างความชอบธรรมให้งบประมาณแผ่นดิน (ให้ผ่านสภา) รวมทั้ง “กอดเก้าอี้” ในกรณีการปรับคณะรัฐมนตรี

ทั้งหลายทั้งปวงก็ล้วนเป็นลิเกโรงใหญ่ ไม่ได้ทำให้คุณภาพชีวิตเกษตรกรดีขึ้น ข้อเขียนวันนี้เสนอให้ภาคประชาสังคมที่ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะเกษตรกร ให้มีความรู้สึกร่วมด้วยความหวังว่าการเกษตรไทยยังมีอนาคต เพียงแต่รอการแก้ไขและการพัฒนาเท่านั้น

เมื่อเกือบ 40 ปีก่อนได้เขียนหนังสือเล่มเล็กชื่อ “ความหวังใหม่ของสระคูณ” (ที่มีการแปลเป็นภาษาญี่ปุ่นและภาษาฝรั่งเศส) ก็มีคนบอกว่า “ฝัน” ไป ไม่มีหมู่บ้านในอุดมคติแบบนั้น

ได้ตอบไปว่า ไม่ได้เขียนแบบบรรยายสิ่งที่เป็นจริงที่อาจดู “ยูโทเปีย” แต่เขียนเพื่อสะท้อน “ความเป็นจริง” ที่เป็นความหวัง เป็นศักยภาพที่ให้เห็นว่า ชาวบ้านไม่ได้โง่ จน เจ็บ อย่างที่ถูกทำให้เชื่อกัน เพราะยังมีปราชญ์ชาวบ้าน มีภูมิปัญญาในการทำมาหากินจนพึ่งพาตนเองได้ โดยไม่ได้พึ่งรัฐด้วยซ้ำ

ไม่กี่ปีก่อนนั้นได้ริเริ่มศึกษาภูมิปัญญาชาวบ้าน และ “ถอดรหัส” คนก็ว่า “โลกสวย” “วันวานยังหวานอยู่” แต่เราก็ได้เห็นการ “คืนสู่รากเหง้า” การกลับไปค้นหา “ของดี” ในชุมชน การทำ “โอทอป”

ความเชื่อในศักยภาพชุมชนทำให้มูลนิธิหมู่บ้านทำงานสร้างเครือข่ายชาวบ้านไปหลายจังหวัด สังเคราะห์ประสบการณ์ความรู้ชุมชนจนได้เครื่องมือวิจัยตนเองของชุมชนที่เรียกว่า “ประชาพิจัย” เพื่อทำแผนแม่บทชุมชน และได้ร่วมกันเสนอ “พรบ.วิสาหกิจชุมชน” ที่ผ่านสภาเมื่อปี 2548

วันหนึ่งก็เกิด “โครงการมหาวิทยาลัยชีวิต” ที่นำเอาความรู้ ประสบการณ์จากชุมชนมาพัฒนาเป็นหลักสูตรให้เรียนในมหาวิทยาลัยของรัฐ แต่ล้มเหลวเพราะคนละ “กระบวนทัศน์” จึงได้ตั้ง “สถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชน” ซึ่งก็ด้วยข้อจำกัดด้านงบประมาณและการสนับสนุนของภาคี ทำให้เหมือน “รถดีไม่มีน้ำมัน” วิ่งบนถนนที่ขรุขระ วิ่งไปซ่อมไป ยังไม่ถึงจุดหมายที่ตั้งใจ แม้ “สร้างคน” ได้จำนวนหนึ่ง

วิทยาลัยเกษตรเพื่อการเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน เป็นรถดีมีน้ำมัน ที่ไม่ได้เป็นมาเป็นไปอย่าง “โดดเดี่ยว” แบบ “ดอนกิโฆเต้” ที่ฝันเฟื่อง จะได้รับความคุ้มครองสนับสนุน และความร่วมมือของเกษตรกร ผู้ประกอบการธุรกิจการเกษตร ภาคอุตสาหกรรม บริการ และประชาสังคม

ไม่ได้ปฏิเสธสถาบันอุดมศึกษา หน่วยงานราชการหรือเอกชน ขอเพียงให้มี “ไมน์แซท” คล้ายกัน ฐานคิดเดียวกัน มุ่งมั่นจัดการเรียนการสอนเรื่องเกษตรกรรมเพื่อการเปลี่ยนแปลง

ไม่ใช่สอนหนังสือให้ผู้เรียนได้ปริญญาแล้วไปหางานทำ “เกษตร” แบบที่ไม่มีคนเรียนแล้ว