รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์

ที่ปรึกษาอธิการบดีมหาวิทยาลัยสวนดุสิต

ในยุคที่พรมแดนมิใช่อุปสรรคในการสื่อสารและการเดินทางอีกต่อไป โลกทั้งใบเชื่อมโยงถึงกันด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล เศรษฐกิจไร้พรมแดน และความร่วมมือระหว่างประเทศ เหตุการณ์ในมุมหนึ่งของโลกสามารถส่งผลกระทบต่ออีกฟากหนึ่งทันที ไม่ว่าจะเป็นปมความขัดแย้งระหว่างรัฐ ภาษีทรัมป์ ปัญหาสภาพภูมิอากาศ และโรคระบาด ซึ่งเป็นการบ่งชี้ว่าทุกคนเป็น "พลเมืองโลก" โดยหลีกเลี่ยงไม่ได้

เช่นนั้นแล้ว พลเมืองไทยต้องเรียนรู้ที่จะดำรงอยู่ในฐานะ "พลเมืองไทยที่มีบทบาทเป็นพลเมืองโลก" ไม่สามารถอยู่เพียงลำพังภายใต้กรอบรัฐชาติ หากต้องมีจิตสำนึกต่อสังคมสากล มีทักษะสำหรับการแข่งขันและความร่วมมือข้ามพรมแดน และมีความรับผิดชอบต่อมนุษยชาติในภาพรวม

แนวคิด "พลเมืองโลก" (Global Citizenship) หยั่งรากลึกจากพัฒนาการทางสังคมและอุดมการณ์สากลที่เกิดขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่สอง โดยเฉพาะจากแนวคิดด้านสิทธิมนุษยชน การศึกษาเพื่อสันติภาพ และความยุติธรรมทางสังคม ซึ่งได้รับการผลักดันจากองค์การสหประชาชาติ (UN) ยูเนสโก (UNESCO) และองค์กรเพื่อสิทธิมนุษยชนระดับนานาชาติ

องค์การยูเนสโก (2015) นิยาม "พลเมืองโลก" ไว้ว่า ‘บุคคลที่มีความตระหนักรู้ในโลก เคารพความหลากหลายทางวัฒนธรรม มีจิตสำนึกต่อประเด็นทางสังคมและสิ่งแวดล้อม และมีส่วนร่วมอย่างรับผิดชอบในทุกระดับ’ ขณะที่ Oxfam (2006) เน้นว่าพลเมืองโลกควรเข้าใจความเชื่อมโยงของโลก มีทักษะการคิดวิเคราะห์ และพร้อมแก้ไขปัญหาอย่างสร้างสรรค์ ส่วน OECD (2018) พัฒนา Global Competence Framework มุ่งเน้นการพัฒนาทักษะการคิดเชิงวิพากษ์ การสื่อสารข้ามวัฒนธรรม และการร่วมมือรับมือความท้าทายระดับโลก

คำถามที่ว่า "เหตุใดพลเมืองไทยจึงต้องเป็นพลเมืองโลก" เป็นคำถามเชิงกลยุทธ์ที่กำหนดทิศทางการอยู่รอดและ การเจริญเติบโตของสังคมไทยในยุคสมัยปัจจุบันและอนาคต ในอดีตที่ผ่านมาจะเห็นว่าแนวคิดเรื่องพลเมืองถูกจำกัดอยู่ภายใต้กรอบรัฐชาติเท่านั้น แต่ปัจจุบันบริบทโลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง วันนี้โลกเชื่อมต่อกันทางแบบจับต้องได้และจับต้องไม่ได้ ปัญหาของภูมิภาคหนึ่งสามารถกระทบต่อทั้งโลก ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตโรคระบาด ปัญหาสิ่งแวดล้อม การก่อการร้ายทางไซเบอร์ หรือแนวโน้มเศรษฐกิจโลก พลเมืองยุคปัจจุบันจำเป็นต้องมีมุมมองที่กว้างไกลเกินกว่าขอบเขตประเทศตัวเอง

สำหรับประเทศไทย พลเมืองไทยจะยืนหยัดในโลกอนาคตที่แข่งขันกันด้วยข้อมูล ความคิด และนวัตกรรม ไม่อาจยึดถือแค่ "ความรู้ในแบบไทยๆ" เท่านั้น แต่ต้องเสริมพลังแนวคิดสากล ทักษะการเชื่อมโยงระดับโลก และความเข้าใจต่อความเป็นพลเมืองโลก ที่มิใช่เพื่อเลียนแบบตะวันตกหรือสูญเสียอัตลักษณ์ไทย แต่เพื่อให้พลเมืองไทยอยู่ร่วมกับโลกอย่างมีเกียรติ มีบทบาท และมีอิทธิพลในเชิงคุณค่าทางสังคม

รากฐานของการเป็นพลเมืองโลกเริ่มต้นที่การเป็น "พลเมืองไทยที่มีคุณภาพ" พลเมืองไทยในโลกยุคใหม่จำเป็นต้องมีลักษณะของพลเมืองเชิงรุก (Active Citizenship) เป็นผู้ที่คิดวิเคราะห์อย่างมีเหตุผล กล้าตั้งคำถามและตรวจสอบอำนาจเชิงสร้างสรรค์ มีจิตสาธารณะ และมีส่วนร่วมในชีวิตสาธารณะอย่างเป็นธรรม

การปลูกฝังให้พลเมืองไทยมีส่วนร่วมอย่างสันติในประเด็นต่างๆ ทั้งระดับท้องถิ่นและระดับชาติ นับเป็นรากฐานสำคัญสู่ความเข้าใจโลกอย่างลึกซึ้ง และมีบทบาทในเวทีโลกในฐานะประชาชนที่คิดเป็น สื่อสารได้ และทำงานร่วมกับผู้คนที่หลากหลาย ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิด "Global Competence" ที่ OECD และ UNESCO ผลักดัน

การสร้างพลเมืองโลกต้องอาศัยการออกแบบระบบการศึกษาอย่างมีเป้าหมาย ดังแนวคิด Global Citizenship Education (GCED) ของยูเนสโกชี้ว่าต้องพัฒนาใน 3 มิติ ได้แก่ ความรู้และความเข้าใจทางวัฒนธรรมโลก (Cognitive) ความรู้สึกเชื่อมโยงและมีจิตสำนึกต่อมนุษยชาติ (Socio-emotional) และการลงมือปฏิบัติอย่างมีความรับผิดชอบ (Behavioral)

มหาวิทยาลัยไทยควรทำหน้าที่เป็น "ฮับพลเมืองโลก" เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจโลกและต่อยอดความเป็นไทยสู่ระดับสากล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มหาวิทยาลัยควรสร้างโอกาสให้นักศึกษาและบุคลากรได้มีประสบการณ์นานาชาติผ่านโครงการแลกเปลี่ยน การฝึกงานข้ามวัฒนธรรม และการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศที่หลากหลาย

นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยควรส่งเสริมการวิจัยที่ตอบโจทย์ปัญหาระดับโลกแต่นำมาประยุกต์ในบริบทท้องถิ่น รวมถึงการ บูรณาการภูมิปัญญาไทยกับองค์ความรู้สากล สร้างเครือข่ายความร่วมมือกับสถาบันชั้นนำทั่วโลก และพัฒนาหลักสูตรที่เน้นทักษะสำหรับโลกอนาคต โดยให้ความสำคัญกับการคิดวิเคราะห์ การแก้ปัญหา และความเข้าใจพหุวัฒนธรรม

โลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว “พลเมืองอดีต” ที่ทำแค่ตามสั่ง มิอาจรับมือกับปัญหาโลกที่ซับซ้อนได้ต่อไป ทุกประเทศจำเป็นต้องสร้าง “พลเมืองอนาคต” ที่กล้าเผชิญความจริง เข้าใจตนเอง เข้าใจโลก และพร้อมเป็นพลังบวกระดับโลก ซึ่งการเป็น "พลเมืองโลก" ของพลเมืองไทยมิใช่การสูญเสียความเป็นไทย แต่เป็นการใช้ความเป็นไทยอย่างมีสำนึกสร้างสรรค์ เพื่อนำเสนอคุณค่าไทยสู่ระดับสากล และร่วมสร้างโลกที่เป็นธรรม ยั่งยืน และอยู่ร่วมกันอย่างสันติ  บนสไตล์ "Think Globally, Act Locally" งัยครับ