มีข่าวหมอดูชื่อดังที่กำลังเป็นกระแสอยู่ในขณะนี้ ได้ออกมาทำนายทายทักให้จับตาดูว่า “คนมีชื่อเสียง” อาจกระทำอัตวินิบาตกรรมหรือฆ่าตัวตาย ซึ่งก่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์และถูกแชร์ออกไปอย่างแพร่หลายบนโลกออนไลน์
เป็นประเด็นที่ผู้เขียนรู้สึกจำเป็นต้องหยิบยกขึ้นมาพูดคุยกับคุณผู้อ่านผ่านบทบรรณาธิการ เนื่องจากเรื่องนี้ถือเป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อนอย่างมาก เพราะคำทำนายหรือคำพูดในลักษณะเช่นนี้ แม้จะดูคล้าย “การเตือน” แต่ก็มีความเสี่ยงอย่างยิ่งที่จะกระทบกระเทือนจิตใจของผู้ที่กำลังเผชิญกับความเครียด หรือมีปัญหาทางสุขภาพจิตอยู่แล้ว
การพูดถึงคำว่า “อัตวินิบาตกรรม” ในพื้นที่สาธารณะหรือผ่านสื่อ ควรทำด้วยความระมัดระวังอย่างสูง ไม่ว่าจะด้วยเจตนาใดก็ตาม เพราะอาจทำให้ผู้ที่มีภาวะเปราะบางรู้สึกว่าสิ่งนี้คือ “ทางออก” หรือยิ่งทำให้รู้สึกหมดหวังมากยิ่งขึ้น
ทราบหรือไม่ว่า ข้อมูลจากกรมสุขภาพจิตเกี่ยวกับอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จ ระหว่างปีงบประมาณ 2562–2566 พบว่า มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจาก 7.26 เป็น 7.94 ต่อประชากรแสนคน โดยกลุ่มวัยทำงานอายุ 20–59 ปี มีจำนวนการฆ่าตัวตายมากที่สุด ส่วนกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป กลับมีอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จสูงสุดที่ 10.39 ต่อประชากรแสนคน
ขณะเดียวกัน ในปี 2566 พบว่ามีผู้พยายามฆ่าตัวตายมากถึง 25,578 คน โดยกลุ่มวัยรุ่น/นักศึกษา อายุ 15–19 ปี มีอัตราพยายามฆ่าตัวตายสูงสุดถึง 116.81 ต่อประชากรแสนคน ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลจากศูนย์ความเป็นเลิศด้านนวัตกรรมดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์เพื่อการแพทย์ด้านจิตเวช (AIMET) ที่ระบุว่า มีเยาวชนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป ตรวจพบอาการซึมเศร้าสูงถึง 2,200 คนต่อประชากรแสนคน
ฉะนั้น สิ่งที่ควรทำมากกว่าการทำนาย คือการสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้สามารถพูดคุย ปรึกษา และหาทางช่วยเหลือกันได้ โดยเฉพาะกับบุคคลที่มีชื่อเสียง ซึ่งมักจะถูกคาดหวังจากสังคมในระดับสูง และอาจได้รับผลกระทบทางจิตใจจากกระแสข่าวหรือความกดดันโดยรอบ
สำหรับผู้ที่เสพข่าวอย่างเราๆ ท่านๆ ขอให้ระมัดระวังในการแชร์หรือส่งต่อข้อมูลโดยไม่ตรวจสอบข้อเท็จจริง เพราะการกระทำโดยไม่เจตนา อาจยิ่งเป็นการส่งต่อความตื่นตระหนกโดยไม่จำเป็น
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากเนื้อหาข่าวมีการพาดพิงถึงการฆ่าตัวตาย หรือมีลักษณะเหมือน “ใบ้ว่าใคร” ยิ่งไม่ควรแชร์หรือส่งต่อในทุกกรณี เพราะอาจกระทบต่อผู้ที่อยู่ในภาวะเปราะบาง และอาจผลักดันให้เกิดการตัดสินใจที่รุนแรงได้ในที่สุด
อย่างไรก็ตาม จากกรณีดังกล่าวสังคมควรหันมาให้ความสำคัญกับ “สุขภาพจิต” มากยิ่งขึ้น หากคุณรู้สึกว่าตัวเองกำลังมีปัญหา หรืออยู่ในภาวะเครียด อย่าลังเลที่จะขอความช่วยเหลือ สามารถติดต่อสายด่วนกรมสุขภาพจิตได้ที่เบอร์ 1323 และสามารถประเมินสุขภาพใจของตนเองได้ผ่านบริการ Mental Health Check In – ตรวจเช็กสุขภาพใจ ได้เช่นกัน