สถาพร ศรีสัจจัง

นี่คือกระแสพระราชดำรัสที่สำคัญมากตอนหนึ่งเกี่ยวกับความสำคัญของ “ภาษาไทย” ที่สมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร  มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร  ล้นเกล้ารัชกาลที่ 9 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระราชทานไว้ให้แก่ปวงชนชาวไทย ครั้งเมื่อพระองค์เสด็จพระราชดำเนินไปทรงอภิปรายเรื่อง “ปัญหาการใช้คำไทย” ร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิ ที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2505

อันเป็นที่มาของการเกิด “วันภาษาไทยแห่งชาติ” ขึ้น โดยมติครม.ซึ่งเป็นรัฐบาลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีชาวจังหวัดตรังที่ชื่อ นายชวน  หลีกภัย แห่งพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2542 โดยมีมติให้ประกาศว่า ให้วันที่ 29 กรกฎาคม ของทุกปี เป็น “วันภาษาไทยแห่งชาติ”!

“ภาษาไทย” เป็นภาษาที่มีความเป็นมาเก่าแก่ที่สุดในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นภาษาที่มีรากฐานมาจากกลุ่ม “ออสโตร-ไต” ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับภาษาจีน ต่อมาพ่อขุนรามคำแหงมหาราชแห่งกรุงสุโขทัย เป็นผู้คิดประดิษฐ์ให้เป็นระบบขึ้น เมื่อปี พ.ศ.1826 โดยกำหนดให้มีพยัญชนะ 44 ตัว (21 เสียง) มีสระ 21 รูป(32 เสียง) และวรรณยุกต์ 5 เสียง คือ สามัญ เอก โท ตรี และ จัตวา

พระราชดำรัสในการทรงอภิปรายที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2505 ที่ได้รับการกล่าวขวัญสืบๆต่อกันมานั้น มีสาระสำคัญมากตอนหนึ่งดังนี้ :

“…เรามีโชคดีที่มีภาษาของตนเองแต่โบราณกาล จึงสมควรอย่างยิ่งที่จะรักษาไว้ ปัญหาเฉพาะในด้านรักษาภาษานี้ก็มีหลายประการ อย่างหนึ่งต้องรักษาให้บริสุทธิ์ในทางออกเสียง คือ ให้ออกเสียงให้ถูกต้องชัดเจน อีกอย่างหนึ่งต้องรักษาให้บริสุทธิ์ในวิธีใช้ หมายความว่า วิธีใช้คำมาประกอบประโยค นับเป็นปัญหาที่สำคัญ ปัญหาที่สาม คือ ความร่ำรวยในคำของภาษาไทย ซึ่งพวกเรานึกว่าไม่ร่ำรวยพอ จึงต้องมีการบัญญัติศัพท์ใหม่มาใช้...สำหรับคำใหม่ที่ตั้งขึ้นมีความจำเป็นในทางวิชาการไม่น้อย แต่บางคำที่ง่าย ๆ ก็ควรจะมี ควรจะใช้คำ

เก่า ๆ ที่เรามีอยู่แล้ว ไม่ควรจะมาตั้งศัพท์ใหม่ให้ยุ่งยาก”

พระราชดำรัสนี้เกิดขึ้นประหนึ่งว่าพระองค์ท่านจะทรงเห็นถึง “การณ์” ที่เกิดข้างหน้า ว่า “ภาษาไทย” ซึ่งเป็นมรดกสำคัญยิ่งของชาติ เพราะเป็นเครื่องสำแดงความเป็น “เอกลักษณ์” (Identity)ของกลุ่มชนที่อาศัยอยู่ใน “ประเทศไทย” (แม้จะเป็น “รัฐชาติ” สมัยใหม่ที่มีกลุ่มชาติพันธุ์ย่อยๆหลากหลายที่มี “ภาษา” เป็นของตัวเองอยู่ร่วมกันก็เถอะ)อาจจะต้อง “วิบัติ” เพราะความไม่ตระหนักของคนบางกลุ่มบางพวก

พระองค์เองนั้นทรงมีพระราชสมภพและการศึกษาในต่างประเทศโดยตลอด แต่กลับทรงตระหนักถึง “คุณค่า” และ ความสำคัญของ “ภาษาไทย” อย่างชัดเจนเป็นรูปธรรม ตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์ท่าน ทรงให้ความสำคัญกับ “การใช้ภาษาไทย” อย่างสอดคล้องกับ “พื้นที่และเวลา” ตลอดมา เมื่อใดที่พระองค์ท่านทรงตรัสต่อสาธารณชน จึงแทบไม่เห็นภาษาอังกฤษหรือภาษาของบรรดา “จักรพรรดินิยมตะวันตก” ทั้งหลายแทรกปนอยู่เลย!

ช่างแตกต่างอย่างเทียบไม่ได้กับกลุ่มคน “ชนชั้นนำ” ทางสังคมของประเทศไทยปัจจุบัน ที่ล้วนเป็น “ผู้ทรงอิทธิพล” (Infruencer!) ต่อคนทั้งประเทศ เพราะ “การใช้ภาษา” ของพวกเขาเหล่านี้มักเป็นการสื่อตรงต่อสาธารณชนทั้งสิ้น

สาธารณชน ที่มีทั้งชาวนา ชาวไร่ชาวสวน กรรมกร คนในสลัม ฯลฯ ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ และรวมถึงบรรดาเยาวชน ซึ่งจะเป็น “อนาคตของชาติ”!

ทุกครั้งที่ชนชั้นนำเหล่านี้ ที่มีตั้งแต่ระดับนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร รองผู้ว่าฯ ข้าราชการชั้นสูง ฯลฯ และที่สำคัญคือสื่อมวลชนประเภทวิทยุโทรทัศน์(ทั้งผู้ประกาศและนักจัดรายการทั้งหลาย)ที่ต้องใช้ “ภาษาไทย” ผ่าน “สื่อ”

ถ้าใครจะสังเกตอย่างละเอียด ก็จะพบว่า กลุ่มคนเหล่านี้เองที่กำลังสร้างภาวะ “ภาษาไทยวิบัติ” ให้กับสังคมไทยอยู่!

พวกเขาสร้างความ “วิบัติ” ให้กับ “ภาษาไทย” แบบที่ล้นเกล้ารัชกาลที่ 9 ทรงบอกไว้ทั้ง 2 ประการ ประการแรกคือ “ให้ออกเสียงให้ชัดเจน” และ ประการต่อมาคือ “ควรจะใช้คำเก่าที่เรามีอยู่แล้ว” (ศัพท์บัญญัติที่ส่วนใหญ่เป็น “ศัพท์เทคนิค” นั่นถือว่าพอกล้อมแกล้ม!)

“การออกเสียงไม่ชัดเจน” (ที่เป็นกันมากก็คือการออกเสียง'ควบกล้ำ'และการออกเสียงร.เรือ ล.ลิง) ส่วนใหญ่จะเห็นได้จากกลุ่มผู้ประกาศและนักจัดรายการวิทยุโทรทัศน์ (ผ่านการสอบของกรมประชาสัมพันธ์เหมือนแต่ก่อนหรือเปล่า?) ส่วนการพูด “ไทยคำอังกฤษคำ” หรือ “ใช้ภาษาอังกฤษอย่างไม่จำเป็น” นั้น จะเห็นได้แบบ “ปกติทั่วไป” จากผู้บริหารประเทศระดับต่างๆ ตั้งแต่ระดับ “นายกรัฐมนตรี” จนถึงผู้บริหารระดับลูกน้อง เช่น ผู้ว่าฯและรองผู้ว่าฯ กทม. เป็นต้น

ใครไม่เชื่อก็ลองกลับไปคลิกดูคลิปเก่าๆที่ “นายกฯอุ๊งอิ๊ง” แถลงข่าวเรื่อง “แผ่นดินไหว-ตึกถล่ม”ครั้งแรกดูซิ แทนที่ท่านนายกฯจะพูดว่า “ลงทะเบียน” (คำไทยง่ายๆที่ชาวบ้านเข้าใจได้)ท่านกลับพูดว่า “รีจิสเตอร์(register)” ถึงอย่างน้อยก็สองครั้งสองหน ส่วนท่านรองฯ รศ.ทวิดา กมลเวชช ของท่านผู้ว่าชัชชาติฯแห่ง กทม.(ที่ใครๆชมกันว่าเก่งนักเก่งหนานั่น) ก็ติดคำว่า “อัปเดต” (update)จนลืมคำไทยไปเหมือนกัน

นี่แค่เป็นตัวอย่างจิ๊บๆเท่านั้น ของจริงยังมีอีกเป็นกะตั๊ก!

ท่ามกลาง “ภัยพิบัติ” ที่กำลังโหมกระหน่ำสังคมไทยทั้งด้านกายภาพ เช่น แผ่น

ดินไหว น้ำท่วมน้ำแล้ง ฝุ่นพิษ เศรษฐกิจตกต่ำฯลฯและด้านจิตภาพ(คุณค่าทางสังคม) เช่นคนติดยา ศาสนาเสื่อม รากเหง้าวัฒนธรรมขาดสะบั้น ฯลฯจนถึงความเสื่อมของการใช้ “ภาษาไทย” (ที่ล้นเกล้ารัชกาลที่ 9 ทรงเป็นห่วง)ซึ่ง คือ “ราก” ทางวัฒนธรรมทรงคุณค่า อันแสดงถึงความมี “อารยะ” ที่สำคัญที่สุดประการหนึ่งของชาติ ภาวะแบบนี้ถ้าจะไม่ให้เรียกว่า “ไทยวิบัติ” แล้วจะให้เรียกว่าอะไรเล่าพ่อเจ้าประคุณทูนหัว!!