ศึกการเมืองปิดฉากลงไปแล้ว อย่างฉลุย เมื่อ “แพทองธาร ชินวัตร” นายกรัฐมนตรี ได้รับเสียง “ไว้วางใจ” อย่างท่วมท้น 319 เสียง จาก “ฝั่งรัฐบาล” โดยไม่มีการแตกแถว แต่ดูเหมือนว่า “ศึกใหญ่” ที่โถมเข้าใส่คือสถานการณ์อันคาดการณ์ไม่ได้ จากเหตุ “ภัยพิบัติ” แผ่นดินไหว เมื่อวันที่ 28 มี.ค.68 ที่ผ่านมา

                สืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ 28 มี.ค.ที่ผ่านมา  ประเทศไทยได้รับผลกระทบจาก แผ่นดินไหวรุนแรงขนาด 8.2 ที่มีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศเมียนมา โดยไทยได้รับแรงสั่นสะเทือนทั้งกทม. และปริมณฑล  และในอีกหลายจังหวัด

                โดยจุดที่สร้างความเสียหายรุนแรงมากที่สุด คือในพื้นที่เขตจตุจักร เมื่ออาคารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ด้วยความสูง 30 ชั้นซึ่งอยู่ในระหว่างก่อสร้างพังถล่มลงมาเพียงตึกเดียว ส่งผลทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ และมีผู้เสียชีวิต ส่วนใหญ่เป็นคนงานที่ทำงานก่อสร้างอยู่ภายในตัวอาคาร จนถึง ณ เวลานี้ตัวเลขผู้เสียชีวิต ยังไม่นิ่ง

                เมื่อวันที่ 30 มี.ค.ในช่วงบ่าย ศูนย์เอราวัณ ระบุตัวเลข มีผู้บาดเจ็บ 9 คน เสียชีวิต 8 คน และยังสูญหาย 79 คน ท่ามกลางการทำงานของเจ้าหน้าที่ จากหลายหน่วยงานที่ทำงานอย่างต่อเนื่องตั้งแต่วันแรก รวมกว่า 20 หน่วยงาน ทั้งไทยและต่างชาติ

                สถานการณ์ภัยพิบัติจากธรรมชาติ กรณีแผ่นดินไหว ที่ไทยได้รับแรงสั่นสะเทือนจากเมืองมัณฑะเลย์ เมียนมาครั้งนี้ ด้านหนึ่ง คือการสะท้อนให้เห็นการรับมือกับสถานการณ์ของหน่วยงานต่างๆ ที่ล่าช้าไม่สอดคล้อง ทันท่วงทีต่อความเดือดร้อน ของประชาชน  ยังไม่นับรวม “ข้อเท็จจริง” ที่จะต้องเกิดขึ้นตามมาจากนี้ ใน 7 วันที่นายกฯสั่งการให้สาเหตุว่า เหตุใด ตึกของสำนักงานสตง.จึงพังถล่ม อยู่เพียงตึกเดียว  เนื่องจากประเด็นนี้ไม่เพียงแต่จะเป็นบทพิสูจน์ “ฝีมือ” ของนายฯอิ๊งค์ เองว่าจะเรียกความเชื่อมั่นให้กับรัฐบาล และตัวเธอเองได้มากน้อยแค่ไหน

                หลังจากที่ เมื่อเสร็จจากศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจที่ผ่านมา แม้จะผ่านฉลุยในสภาฯ ด้วยแต้มต่อของฝั่งรัฐบาล แต่เธอเองยังมีอีกหลายประเด็นที่ “ฝ่ายค้าน” กำลังเดินหน้าลุยต่อ ด้วยการยื่นคำร้องไปยังองค์กรอิสระเพื่อให้ตรวจสอบเรื่องการเสียภาษี  มากกว่า 200 ล้านบาทนั้นมีความชัดเจนและโปร่งใส มากน้อยแค่ไหน

                ขณะนี้เวลาของรัฐบาล และตัวนายกฯแพทองธาร เองอาจอยู่ในภาวะที่เรียกว่า แม้ไม่ถึงกับ “นับถอยหลัง” แต่ยังไม่มีอะไรการันตีได้ว่า “อยู่ครบเทอม” ไปจนถึงปี 2570 แต่ณ วันนี้ ปัญหาที่อยู่ข้างหน้าที่รอให้ผู้นำรัฐบาล บริหารจัดการ ย่อมเป็นได้ทั้ง “บวก” และ “ลบ” ต่อตัวเองและรัฐบาล ทั้งสิ้น !