ทวี สุรฤทธิกุล

คนไทยจะต้อง “อดทน - อับอาย” กับความไม่รู้กาลเทศะของนายกรัฐมนตรี “เด็กอมมือ” คนนี้ไปอีกนานแค่ไหน ในเมื่อเธอไม่รู้สีรู้สา และพอมีคนทักท้วงเธอก็ตอบในทำนองว่า “ก็เป็นเรื่องของฉัน”

ภาพข่าวในสื่อต่าง ๆ เมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่ปรากฏภาพนายกรัฐมนตรีพาลูกสาวและอุ้มลูกชายออกมาเดินเล่นหน้าตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบนายกรัฐมนตรี ต่อหน้ากลุ่มม็อบเกษตรกรที่มาประท้วงเรื่องปลาหมอคางดำอยู่ข้างนอก ย่อมสร้างความสงสัยว่านายกรัฐมนตรีมีวัตถุประสงค์ใด แต่เมื่อสื่อมวลชนไปถาม นายกรัฐมนตรีก็ตอบว่า “(ชีวิต)คนเรามีหลายมิติ” ทุกคนก็ต้องทำหน้าที่หลายอย่าง อย่างเธอก็เป็นทั้งนายกรัฐมนตรีและเป็นแม่ เมื่อมีเวลาก็อยากจะให้เวลากับลูก ซึ่งคำตอบแบบนี้เหมือนจะกระแทกปากผู้คนที่ “เผือก” ไปถามว่า “ก็มันเรื่องของฉัน ฉันเป็นแม่นี่ ก็ต้องเลี้ยงลูก”

หลายปีก่อน ประเทศอังกฤษมีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้หญิงชื่อ นางมาการ์เร็ต แธตเชอร์ เป็นที่ทราบกันดีว่าสื่อของอังกฤษในกลุ่ม “แทบลอยด์” นั้นเลื่องชื่อเรื่องการคุยคุ้ยเรื่องส่วนตัวเพื่อ “ขายข่าว” แต่นางแธตเชอร์ก็ไม่เคยเป็นข่าวฉาวโฉ่ โดยสามีกับลูก ๆ ก็ไม่ได้ออกมาอาศัยชื่อเสียงของเมียและแม่ “เอาเด่นเอาดัง” ในเรื่องใด ๆ นางแธตเชอร์พูดถึงเรื่องนี้ว่า เธอและครอบครัว “ระมัดระวัง” ในเรื่องการแสดงออกของความเป็นครอบครัวนี้มาก ๆ ซึ่งทั้งสามีและลูกก็เข้าใจดี ทั้งนี้ก็คือหลักของ “ความเป็นส่วนตัวกับความเป็นสาธารณะ”

นางแธตเชอร์เล่นการเมืองมาตั้งแต่ยังสาว ๆ (เกิดเมื่อ ค.ศ. 1925 เสียชีวิต ค.ศ. 2013 ถ้าเธอมีอยู่มาถึงปัจจุบันก็จะมีอายุครบ 100 ปี ในวันที่ 8 เมษายน 2025 นี้) เธอจบการศึกษาระดับปริญญาตรีด้านเคมี แล้วไปศึกษากฎหมายได้เป็นเนติบัณฑิต พออายุ 34 ปีเธอก็ลงรับสมัครเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และประสบชัยชนะตลอดมา ใน ค.ศ. 1970 ได้เป็นรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการและวิทยาศาสตร์ พอถึงปี 1975 ก็ได้เป็นหัวหน้าพรรคอนุรักษ์นิยม กระทั่งสามารถพาพรรคชนะเลือกตั้งได้เป็นเสียงข้างมากใน ค.ศ. 1979 เธอก็ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และดำรงตำแหน่งมาอย่างยาวนานอีก 2 สมัย จนถึง ค.ศ. 1990 นับได้ว่าเป็นผู้นำสตรีคนแรกและคนเดียวของประเทศอังกฤษที่ครองตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนี้ยาวนานที่สุด เธอได้ฉายาว่า “หญิงเหล็ก” ด้วยความเข้มแข็งและความสามารถในการดำเนินโยบายต่างทั้งในและนอกประเทศ เรียกชื่อเสียงในการบริหารของเธอว่า “ลัทธิแธตเชอร์” เมื่อพ้นตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและเลิกเล่นการเมืองแล้ว เธอได้รับพระราชทานยศจากพระนางเจ้าอลิซซาเบ็ธที่ 2 เป็น “บารอนเนส” (เทียบของไทยน่าจะเป็น “ท่านผู้หญิง”) และคนอังกฤษในทั่วโลกก็ยังจดจำเธอในอีกฐานะหนึ่ง “หญิงเก่งแห่งของสหราชอาณาจักรของเรา” (A Great Woman of Our Commonwealth)

ความจริงหลักการเรื่อง “ความเป็นส่วนตัวและความเป็นสาธารณะ” เป็นหลักการที่รับรู้อยู่ทั่วไปในหลักการบริหารของทุกองค์การ อีกทั้งในทางการเมืองการปกครองที่ปกครองด้วยกฎหมายหรือ “นิติรัฐ” ก็จะมีกฎหมายที่แยกเรื่องส่วนตัวกับเรื่องของส่วนรวมนี้ออกจากกันอย่างชัดเจน เช่น กฎหมายที่ว่าด้วยเรื่องการขัดกันซึ่งผลประโยชน์ หรือที่เรียกกันง่าย ๆ ว่า “ผลประโยชน์ทับซ้อน” นั่นก็คือเมื่อใดก็ตามที่มาเป็นนักบริหารหรือนักการเมือง คน ๆ นั้นจะต้องแยกเรื่องส่วนตัวออกจากเรื่องของส่วนรวม หรือ “ความเป็นสาธารณะ” นั้นเสียก่อน อย่างเช่น นักการเมืองก็จะต้องจัดการเรื่องธุรกิจและทรัพย์สินให้เรียบร้อย มีหุ้นก็ต้องโอนเข้าทรัสต์หรือกองทุนที่ดูแลไว้ให้เป็นที่เป็นทาง และมีการเปิดเผยบัญชีทรัพย์สิน เป็นต้น

ผู้เขียนเคยเป็นรองอธิการบดีที่ดูแลด้านการบริหารบุคคล เคยมีปัญหาที่บุคลากรร้องเรียนมาว่า เวลาที่ปิดเทอมนั้น “บรรดาแม่ ๆ” มักจะเอาลูกมาเลี้ยง(แต่ความจริงคือมาวิ่งเล่น)ในที่ทำงาน พอดีที่มหาวิทยาลัยของผู้เขียนมีหน่วยงานที่ชื่อว่า “สโมสรมหาวิทยาลัยฯ” ซึ่งให้บริการด้านนันทนาการและสุขภาพให้กับบุคลากรอยู่แล้ว จึงปรึกษากับท่านนายกสโมสรฯว่า จะขอให้สโมสรช่วยรับเลี้ยงลูก ๆ ให้กับแม่ ๆ ที่เป็นบุคลากรของมหาวิทยาลัยนี้ได้หรือไม่ ซึ่งท่านนายกฯก็ตกลงช่วยเหลือด้วยดี ทำให้เรื่อง “ลูกเล็กเด็กแดง” ที่เคยมีมานั้นบรรเทาลงไป เมื่อเอาเรื่องนี้ไปคุยกับเพื่อน ๆ ที่เป็นผู้บริหารธุรกิจต่าง ๆ ทั้งเล็กและใหญ่ ต่างก็ตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า เรื่องเอาลูก ๆ ของคนในบริษัทมาเลี้ยงหรือเล่นในบริษัทนั้นนับว่าห้ามโดยเด็ดขาด รวมทั้งถือว่าเป็นโทษถึงขั้นไล่ออก ซึ่งก็มีแม่บางคนที่คงจะรักลูกเอามาก ๆ ลาออกจากบริษัท เพียงเพราะว่าบริษัทไม่ให้เธอเอาลูก ๆ เลี้ยง(ที่จริงวิ่งเล่น)ในบริษัท

กรณีนายกรัฐมนตรีของไทยอ้างความเป็นแม่เอาลูก ๆ มาเลี้ยง(ที่จริงวิ่งเล่นเพราะเห็นในภาพข่าวชัด ๆ)จึงน่าจะขัดกับหลักการทางด้านการบริหารและการเมืองการปกครองนี้ทุกประการ แม่เธอจะอ้างเหตุผลมิติของความเป็นแม่ว่าต้องมีเวลาให้ลูก ก็ต้องแบ่งแยกว่าตอนนี้ตัวเราเป็นบุคคลสาธารณะ และยิ่งเป็นผู้นำของประเทศ ก็ต้องยิ่งใช้ความระมัดระวังเป็นอย่างมาก ในการที่จะนำเรื่องของครอบครัวซึ่งเป็นเรื่องส่วนตัว มาปะปนกับเรื่องการบริหารงานหรือการปกครองประเทศ ที่เป็นเรื่องสาธารณะ

คนที่ติดตามข่าวนายกรัฐมนตรีคนนี้คงจะทราบแล้วว่า ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่เธอเอาลูก ๆ มาวิ่งเล่นในทำเนียบ บางคนบอกว่าเธอชอบอวดลูก บางคนบอกว่าที่จริงเธออวดตัวเองว่าเป็น “แม่ดีเด่น” ซะมากกว่ากว่า เพราะแม้จะมีภาระหนักอึ้งก็ยัง “เจียดเวลา” มาดูแลลูก แต่บางคนก็บอกว่าฐานะอย่างเธอน่าจะจ้างคนเลี้ยงลูกได้เป็นพัน ๆ คน บางคนก็พาลพูดไปว่าสามีคงเลี้ยงลูกไม่ดี หรือกลัวสามีแย่งความรักไปจากลูก ฯลฯ สรุปว่าส่วนใหญ่จะมองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องเสียหาย แต่เมื่อเห็นเธอยังทำเรื่องนี้ซ้ำ ๆ ซาก ๆ ก็อาจจะเป็นไปได้ว่า เธอขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องนี้ หรือบางทีอาจจะขาดการสั่งสอนอบรม หรือที่แย่กว่านั้นก็คือเธอนั้น “โง่เอง” โดยไม่ยอมเรียนรู้ ไม่ยอมรับรู้ และไม่รู้สึกรู้สา เพราะไร้สติปัญญา รวมถึง “หิริและโอตับปะ” โดยสิ้นเชิง

ในทางส่วนตัว ผู้เขียนเคยดูแลการอบรมในหลักสูตร “ผู้นำยุคใหม่ในระบอบประชาธิปไตย” ของสถาบันพระปกเกล้า ซึ่งนายกรัฐมนตรีคนนี้ก็เคยมาเรียน จึงมีโอกาสได้พบปะอยู่บางครั้ง โดยเฉพาะเมื่อคราวที่มีการปัจฉิมนิเทศหรือการอบรมก่อนจบ ซึ่งเธอก็เป็นคนมีเสน่ห์ เป็นที่รักของเพื่อน ๆ ไม่น่าเชื่อว่าเธอจะมา “ออกลาย” (ไม่เกี่ยวกับชุดเห่ย ๆ ที่เธอใส่อย่างไม่รู้กาลเทศะเป็นประจำนั้น) เป็นคน “แย่เอามาก ๆ แบบนี้

จำได้ว่าในหลักสูตรมีการสอนถึงประวัติผู้นำ ที่รวมถึง”หญิงเก่งและแกร่ง” อย่างนางแธตเชอร์นั้นด้วย เสียดายที่เธอคนนี้ไม่สำเหนียกหรือซึมซับเอาอะไรมาเลย

หญิงบางคนโชคดีที่สุดในชีวิตที่ได้เป็น “บารอนเนส” แต่บางคนน่าจะเกิดมาอับโชค ที่อาจจะอยู่กับความเป็น “เบรนเลส” (ไร้สมอง)นี้ไปจนตลอดชีวิต