หนึ่งในมาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ของรัฐบาล คือการ “ตั้งกำแพง” นำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ปลอดการเผา

ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นสินค้าที่ไทยผลิตได้ประมาณ 4 – 5 ล้านตันต่อปี ขณะที่มีความต้องการใช้ประมาณ 8 – 9 ล้านตันต่อปี จึงมีความจำเป็นต้องมีการนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ เมียนมา สปป.ลาว และกัมพูชา ซึ่งที่ผ่านมามีการนำเข้าประมาณปีละ 1.3 - 1.8 ล้านตัน แต่ปี 2567 นำเข้าถึง 2 ล้านตัน เป็นการนำเข้าจากเมียนมา มากที่สุดในสัดส่วนร้อยละ 87 ของปริมาณการนำเข้า รองลงมา คือ สปป.ลาว ร้อยละ 12.61 และ กัมพูชา ร้อยละ 0.39 ตามลำดับ

โดยเฉพาะพื้นที่การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ส่วนใหญ่ของเมียนมา อยู่ในรัฐฉานซึ่งเป็นบริเวณติดกับพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทยที่กำลังเผชิญฝุ่นพิษจนหลายจังหวัด โดยเฉพาะช่วงไฮซีซันในการเผา 

ล่าสุดกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ได้ประชุมร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี เพื่อกำหนดแนวทางลดปัญหาฝุ่น PM 2.5 ข้ามพรมแดน เห็นชอบในหลักการ ที่จะดำเนินการกับข้าวโพด ที่ใช้เป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์เป็นลำดับแรก โดยจะออกประกาศกระทรวงพาณิชย์กำหนดมาตรการควบคุมการนำเข้าข้าวโพดจากต่างประเทศ เพื่อป้องกันการนำเข้าข้าวโพดที่มาจากการเผา 

สำหรับมาตรการที่เตรียมประกาศใช้ ผู้นำเข้าต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กรมการค้าต่างประเทศกำหนด ต้องแสดงเอกสารประกอบการนำเข้า ทั้งแบบฟอร์มการแจ้งข้อมูลประกอบการนำเข้า ตามที่กำหนด เอกสารรับรองจากหน่วยงานผู้มีอำนาจอย่างเป็นทางการ (Competent Authority : CA) ของประเทศผู้ส่งออกว่าสินค้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่นำเข้า เป็นสินค้าที่มาจากแหล่งเพาะปลูกที่ไม่มีการเผา และพิสูจน์ได้ว่า ผู้เพาะปลูก ผู้ส่งออก ผู้รวบรวมมีระบบการตรวจสอบย้อนกลับ และต้องมีภาพแผนที่แสดงถึงแปลงที่ใช้ในการเพาะปลูกให้ชัดเจน ซึ่งแนวทางทั้งหมดจะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ขององค์การการค้าโลก (WTO) และพันธกรณีตาม FTAs รวมทั้งไม่สร้างภาระให้กับผู้ประกอบการ โดยจะเสนอให้คณะกรรมการนโยบายข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (นบขพ.) และคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป

ถือเป็นอีกหนึ่งการขับเคลื่อนในการแก้ไขปัญหา คู่ขนานไปกับมาตรการ ในภาคของเกษตรกรภายในประเทศ โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ตั้งกำแพงกำหนดคุณสมบัติของเกษตรกรที่จะเข้าร่วม “โครงการสนับสนุนและพัฒนาศักยภาพเกษตรกร” ผ่านการตรวจเช็กประวัติการเผาในพื้นที่การเกษตร เมื่อตรวจสอบแล้วมีประวัติการเผาพื้นที่การเกษตร ให้ถือว่าขาดคุณสมบัติ