หลังการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดหรือนายกอบจ. และสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือ ส.อบจ.ผ่านพ้นไป ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ เรื่องของปัจจัยที่ทำให้พรรคการเมือง เช่น พรรคประชาชนพ่ายแพ้ ว่าอาจเกิดจากการกำหนดวันเลือกตั้งเป็นวันเสาร์ ที่ทำให้ฐานเสียงของพรรคประชาชน ที่เป็นคนรุ่นใหม่ นักศึกษาและคนทำงานในกรุงเทพมหากนคร กลับไปลงคะแนนไม่ทัน ซึ่งพรรคประชาชนต่อสู้เรียกร้องในเรื่องนี้มาตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้ง

เรื่องนี้ นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง ได้อธิบายว่า การเลือกตั้งวันเสาร์นั้น มีเหตุผลว่าติดปัญหาเรื่องข้อกฎหมายที่ต้องจัดการเลือกตั้งใน 45 วัน จากข้อเท็จจริงที่ปรากฏมี 6 จังหวัดที่ส่งหน่วยเลือกตั้งเกินเวลา 24.00 น. ซึ่งเป็นเส้นทางที่ทุรกันดารและเป็นเกาะ ซึ่งเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องแล้ว ในเรื่องการดูแลรักษาความปลอดภัยของกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง (กปน.) เนื่องด้วยเส้นทางทุรกันดาร และระยะไกล บวกกับเป็นช่วงกลางคืน จะมีอุบัติเหตุทุกครั้ง และครั้งนี้ก็มีอุบัติเหตุและ กปน. เสียชีวิตในระหว่างการส่งรายงานหีบบัตร ยืนยันว่าเราให้ความสำคัญกับชีวิตคน กปน. เสียสละมาทำงานให้เรา จึงต้องจัดเลือกตั้งในวันที่ไม่ไปกดดัน กปน. ในการส่งหีบบัตรหลังนับคะแนนเสร็จภายใน 3-4 ชั่วโมงในถิ่นทุรกันดาร ซึ่ง กกต. ขอแสดงความเสียใจกับผู้เสียชีวิตและจะดูแลตามสิทธิที่พึงจะได้รับ

 

"การเลือกตั้งวันเสาร์ เราก็ได้คำนึงถึงว่ามันกระทบถึงความเที่ยงธรรมในการจัดการเลือกตั้งหรือไม่ เมื่อพิจารณาแล้ว เวลาเลือกตั้งเราก็ได้จัดการเลือกตั้งโดยใช้กติกาเดียวกัน บัญชีผู้มีสิทธิเลือกตั้งเดียวกัน หาเสียงในเวลาเดียวกัน ก็เป็นการยุติธรรมกับผู้สมัครทุกคน"

 

อย่างไรก็ตาม หากย้อนกลับไปก่อนการเลือกตั้ง นายแสวง ได้กล่าวตอนหนึ่งในงานเสวนา “ความสำคัญของการเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด (เลือกตั้งอบจ.)” เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2568 ที่ผ่านมาว่า  “การเลือกตั้งดีจะทำให้การเมืองดี 40 ปีที่ผ่านมาที่ว่ามีการปฏิรูปกฎหมาย แต่ไม่แน่ใจว่าตอนนี้อยู่กับที่หรือถอยหลัง เพราะคนแพ้ไม่ยอมกัน และบ้านเราเอาการเมืองนำ ยังไม่มีคนแพ้ที่ดีหรือคนชนะที่ดี ถ้าจะบอกว่าการเลือกตั้งก็เหมือนเล่นฟุตบอล แต่เลือกตั้งไม่มีถ่ายทอดสด การเลือกตั้งอยู่ใต้ดินครึ่งหนึ่งบนดินครึ่งหนึ่ง เราเป็นกรรมการถ้าไร้เดียงสาก็เอาไม่อยู่ เพราะคนที่ลงมาแข่งขันเป็นผู้มีอำนาจ เป็นคนใหญ่คนโตของบ้านเมือง แต่เราที่เป็นกรรมการที่มีแต่กฎหมาย และกติกา และถ้าคิดว่ากติกาไม่ดีอย่ามาว่าแต่กรรมการ แต่ให้ไปแก้กฎหมาย”

เป็นเสียงสะท้อนของกรรมการผู้กำกับกติกา ที่แน่นอนว่าในการเลือกตั้งใหญ่ หรือเลือกตั้งสส.ในอนาคตแรงกดดันจะยิ่งเพิ่มขึ้นไปอีกเท่าตัว