สถาพร ศรีสัจจัง
“กวีการเมือง” เป็นหนึ่งในนามปากกาของจิตร ภูมิศักดิ์ ผู้เป็น กวี นักปฏิวัติ และ นักวิชาการร่วมสมัยคนสำคัญที่สุดคนหนึ่งของไทย ที่มีจิตวิญญาณแห่งการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมทางสังคมและมีผลงานเขียนทั้งเชิงวิชาการและเชิงสร้างสรรค์ที่ได้รับการยกย่องและเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางเชิง “ประจักษ์” แล้วในสังคมไทยยุคปัจจุบัน
ในยุคที่ระบบ “ทุนนิยมบริโภค” ได้พัฒนาขึ้นจนถึงขั้น “จักรพรรดินิยม” หรือ “Imperialism” (เรียกตามแนวคิดและคำแปลของ “จิตร ภูมิศักดิ์”) จนมีอำนาจทั้งโดยทางตรงและทางอ้อมในการควบคุมโลกยุคปัจจุบัน
ทำให้สังคมไทยก็เป็นเช่นเดียวกับประเทศ หรือ “รัฐชาติสมัยใหม่” ที่ “ยังไม่พัฒนา” หรือ “ด้อยพัฒนา” (Underdeveloped Country)หรือยังไม่ทันสมัย(แบบยุโรปและอเมริกา)อื่นๆในโลก ที่ต้องตกอยู่ภายใต้อำนาจการถูก “โปรแกรม” ทางความคิดของ “ระบบจักรวรรดินิยมสมัยใหม่” เพื่อ “ควบคุมผลประโยชน์” และ ความเป็นไปทุกด้านในลักษณะเป็น “เมืองบริวาร” หรือ “อาณานิคมยุคใหม่” จนแทบจะสิ้นเชิง
โดยเฉพาะด้านที่เกี่ยวกับ “ระบบเศรษฐกิจการปกครอง”!
พวกเขาจะใช้ “อำนาจ” ส่งผ่านชนชั้นนำหรือชนชั้นปกครองที่เป็นเพียงคนกลุ่มเล็กๆในสังคมที่ระบบ “ทุนนิยมจักรพรรดินิยม” สร้างขึ้นเพื่อให้เป็นเครื่องมือของระบบใหญ่ในการควบคุมผลประโยชน์โลก
ชนชั้นนำในประเทศ “พัฒนาแล้ว” ที่มีอำนาจเหนือโลกพวกนี้ ได้พัฒนาระบบเศรษฐกิจแบบ “ทุนนิยม” (เสรีนิยม)จนเกิดคติ “ผลประโยชน์ไม่มีพรมแเดน” ขึ้น ตามคำที่เรียกกันในภายหลังว่า “โลกาภิวัตน์” (Globalization)นั่นเอง
พวกเขาสร้างความเชื่อ(คตินิยม)ดังกล่าวขึ้น เพื่อให้คนทั้งโลกเชื่อตามว่า “รูปแบบ” ความเป็นสังคมมนุษย์ที่ดีที่สุดต้องเป็นแบบที่พวกเขาต้องการให้เป็น พวกเขาแสดงความเชื่อให้เห็นว่า สังคมของมนุษย์ในโลกต้องเป็น “เอกลักษณะ” (อ่านว่า “เอก-กะ-ลัก-สะ-หนะ) คือเป็น “แบบเดียว” ไม่ใช่ “พหุลักษณะ” หรือ “หลากหลายแบบ”!
ซึ่งขัดกับระบบชีวภาพพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ ที่ต้องมี “ความหลากหลาย” (Diversity) อย่างสิ้นเชิง!
ในแง่กรอบทัศน์เชิงวิทยาศาสตร์ ทรรศนะดังกล่าวนี้จึงเป็นกระบวนการโฆษณาชวนเชื่อแนวคิดที่ต้องการบิดเบือน “สัจธรรม” ของสังคมมนุษยชาติในโลกอย่างมีเจตนาแอบแฝงเพื่อผลประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่งอย่างชัดเจน
นับตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 (พ.ศ.2488-ค.ศ.1945 คือเมื่อ 80 ปีที่แล้ว จิตร ภูมิศักดิ์ เกิดวันที่ 25 กันยายน 2473 ขณะนั้นอายุ 15 ปี) เป็นต้นมา สหรัฐอเมริกาได้เติบโตทรงพลังทางการกลาโหม(การทหารและการผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์)และด้านเศรษฐกิจขึ้นอย่างมหาศาล จนสามารถผงาดขึ้นเป็นประเทศ “จักรวรรดินิยม” ที่ยิ่งใหญ่เข้าแทนที่บรรดาชาติจักรวรรดินิยมเก่าในยุโรป เช่นอังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี ฯลฯ ที่เสื่อมถอยลงในทุกด้านเพราะผลกระทบจากสงครามโลกครั้งที่ 2
เช่นเดียวกัน หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศ “สหภาพโซเวียต” (หนึ่งในฝ่ายนำของประเทศที่ชนะสงคราม) ก็ผงาดอำนาจขึ้นเคียงคู่ และ “แข่งขัน” กับสหรัฐอเมริกาในลักษณะเป็น “มหาอำนาจคู่” อย่างเป็นรูปธรรม
เพราะคติความเชื่อเกี่ยวกับระบบ “เศรษฐกิจ-การเมือง” ที่แตกต่างกันชนิดตรงข้าม ทำให้ 2 มหา อำนาจเกิดการต่อสู้แข่งขันฟาดฟันเพื่อชิงอำนาจในการเป็น “ผู้นำโลก” กันในแทบทุกด้าน
ก่อเกิดรูปแบบของสงครามชนิดใหม่ที่ภายหลังเรียกกันว่า “สงครามเย็น” (Cold War) ขึ้นในโลก (ยังไม่กล้ารบกันด้วยกองกำลังอาวุธโดยตรง เพราะความกลัวต่อ “ภาพจำ” แห่งความสูญเสียในสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่เพิ่งผ่านมาหมาดๆหรือเปล่า?)
ท่านใดที่สนใจรายละเอียดเรื่อง “สงครามเย็น” ดังกล่าว สามารถไปสืบค้นศึกษาโดยตัวเองได้อย่างไม่ยากเย็น เพราะมีผู้บันทึกศึกษาไว้แล้วเป็นจำนวนมาก
จิตร ภูมิศักดิ์ ในวัยเริ่มหนุ่ม มีพัฒนาการเรียนรู้เรื่องเกี่ยวกับ “สังคม-การเมือง” เบื้องต้นในช่วงในบริบทความเป็น “สังคมโลก” ในช่วงเช่นนี้เอง!
หลักฐานจากการศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับชีวิตและผลงานของเขาโดยคนชั้นหลังจำนวนมากบอกเราว่า เมื่อ “จิตร” เริ่มเข้าเรียนมหาวิทยาลัยที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยการได้พบกับครูบาอาจารย์ชั้นดี กลุ่มเพื่อนมิตรที่ส่วนใหญ่เรียนเก่งและมีความตื่นตัวในการรับโลกทัศนใหม่ๆ รวมถึงบรรยากาศในวงการปัญญาชนและวงการนักคิดนักเขียนนักหนังสือพิมพ์ที่เริ่มมีการเผยแพร่ “ความคิดใหม่” โดยเฉพาะ “กระแสความคิดแบบสังคมนิยม” ที่เดินทางมาถึงไทยหลังการปฏิวัติรัสเซีย(แล้วตามมาด้วยจีน)นั้นเอง
ที่ค่อยๆหลอมสร้างกระบวนทัศน์ทางวิชาการ โดยเฉพาะด้าน “สังคม-วัฒนธรรม” ของ จิตร ภูมิศักดิ์ ให้เข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลให้เขาเข้าร่วมมีบทบาทในการต่อสู้เคลื่อนไหวทางความคิด โดยเฉพาะด้านที่เกี่ยวงานเขียนและหนังสือหนังหาอย่างเอาจริงเอาจัง
ที่น่าจะชัดเจนและส่งผลต่อชีวิตของเขายิ่งนักก็คือ ขณะเรียนชั้นปีที่ 3 จิตรได้รับมอบหมายให้เป็น “สาราณียกร” ในการจัดทำหนังสือ “มหาวิทยาลัย 23 ตุลาคม 2496” ซึ่งถือเป็นหนังสือประจำปีเล่มสำคัญของจุฬาฯ เขาทำการ “ปฏิวัติ” ทั้งรูปแบบและเนื้อหาของหนังสือเสียใหม่ จนทำให้เกิดกรณี “โยนบก” ตัว “สาราณียกร(คือจิตร ภูมิศักดิ์) อันน่าอัปยศขึ้น
และแทนที่คนทำผิดที่แสนป่าเถื่อนจะถูกลงโทษ-หลังจากนั้น จิตร ภูมิศักดิ์ กลับถูกสภามหาวิทยาลัยสั่งพักการเรียนเพราะการนี้ถึง 12 เดือน(สนใจรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องนี้ สามารถตามอ่านเนื้อหาเต็มได้ใน “SILPA-MAC.COM” ฉบับวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2568)
นี่คือ “จิตร ภูมิศักดิ์ ต้นธาร” ของ “กวี” ร่วมสมัยคนสำคัญที่สุดคนหนึ่งของวงวรรณกรรมไทย ในนามปากกา “กวีการเมือง” ผู้ชิงชัง “จักรพรรดินิยมอเมริกา และ สมุน” อย่างถึงที่สุดตลอดชีวิตอันทรงเกียรติและคุณค่าคนนั้น…!!!