ร้อยเอก ดร.จารุพล เรืองสุวรรณ
อาจารย์ประจำคณะการทูตและการต่างประเทศ
มหาวิทยาลัยรังสิต
ในขณะที่ผู้เขียนกำลังเขียนบทความนี้ (วันอาทิตย์) ก็เป็นเวลาที่เพิ่งได้รับข่าวการขึ้นเพดานภาษีของสหรัฐฯแบบสดๆร้อนๆครับ โดยที่ตามรายงานข่าวบอกว่า ทรัมป์ จะขึ้นเพดานภาษี เม็กซิโก และ แคนาดา 25% และ จีน 10% โดยจะมีผลในวันอังคารที่จะถึงนี้ วันนี้เรามาวิเคราะห์ประเด็นนี้กันครับ
โดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศว่าจะดำเนินการขึ้นเพดานภาษีทั้ง 3 ประเทศ โดยให้เหตุผลว่าทำไปเพื่อควบคุมและหยุดยั้งการไหลเข้ามาของยาเสพติดและแรงงานผิดกฎหมาย ซึ่งรวมถึงประเด็นของ ยาเฟนทานิล ซึ่งเป็นประเด็นที่มุ่งเป้าโดยตรงไปยังจีน
นั่นคือเหตุผลที่แท้จริงหรือไม่? หรือเป็นเพียงข้ออ้างเพื่อการดำเนินการ แล้วให้ได้มาซึ่งสิ่งอื่น?
สาเหตุที่กล่าวเช่นนี้ เพราะหากดูจากสถานการณ์ช่วงที่ผ่านมาหลังการเลือกตั้ง มีความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจหลายประการ อาทิ ก่อนการเลือกตั้งทรัมป์ประกาศกร้าวอย่างมากต่อการขึ้นเพดานภาษีของประเทศต่างๆโดยเฉพาะจีน ที่เคยกล่าวไว้ว่าจะขึ้นกว่า 60% แต่ภายหลังการเลือกตั้งท่าทีของทรัมป์ไม่ได้ก้าวร้าวหรือมีท่าทีที่จะบดขยี้เหมือนทีแรก กลับเปิดช่องให้ผู้นำประเทศต่างๆยกสายพูดคุยกันฉันมิตรมากขึ้น ดูๆไปแล้วก็อาจจะเป็นไปได้ว่า เป็นการ “ขู่ให้กลัวไว้ก่อนแล้วเปิดโต๊ะเจรจา” ซึ่งแน่นอนว่าหลายประเทศก็พยายามวิ่งเข้าหาทรัมป์ ยื่นหมูยื่นแมวเพื่อหลีกเลี่ยงเพดานภาษีที่น่ากลัว ซึ่งจีนเองก็ไม่ได้ต่อต้านดังจะเห็นได้จากการยกหูพูดคุยกันของผู้นำสองชาติ รวมถึงการส่งรองประธานาธิบดีไปร่วมงานสาบานตนเข้ารับตำแหน่งของทรัมป์ ซึ่งถือได้ว่าเป็นการให้เกียรติอย่างมากในทางการทูต
ในมิตินี้อาจเกี่ยวข้องกับเรื่องของ TikTok ด้วยเช่นกัน ดังที่ทรัมป์ได้ใช้อำนาจอนุญาตให้ TikTok ดำเนินธุรกิจต่อในสหรัฐฯได้ โดยมองได้ว่าอาจเป็นการเคลื่อนไหวหนึ่งที่มี agenda ซ่อนอยู่ และได้ค่อยๆเฉลยออกมาเมื่อเริ่มเห็นตัวละครที่อาจเข้าไปมีบทบาทในการซื้อหุ้นของ TikTok อาทิ อีลอน มัสก์ ซึ่งเป็นขุนพลข้างกายของโดนัลด์ ทรัมป์ในปัจจุบัน นั่นหมายความว่า หากสหรัฐสามารถเข้าไปถือหุ้น TikTok ได้ ทิศทางและการควบคุมสื่อโซเชียลมีเดียยักษ์ใหญ่รายนี้ก็จะทำได้ง่ายขึ้น และจะส่งผลบวกต่อสหรัฐฯทั้งในมิติของเศรษฐกิจและความมั่นคง เรียกว่า แทนที่จะแบน ก็เข้าไปควบคุมซะ จะได้ประโยชน์เพิ่มขึ้นด้วย การขึ้นเพดานภาษีต่อจีนในครั้งนี้จะเห็นได้ว่าเป็นจำนวนที่น้อยเมื่อเทียบกับสิ่งที่เคยประกาศไว้ คือเพียงแค่ 10% เท่านั้น หรือนี่คือการหยั่งเชิงซึ่งกันและกัน สร้างอำนาจต่อรองให้การเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของ TikTok ของสหรัฐราบรื่นขึ้น? ก็เป็นไปได้
ในส่วนของเม็กซิโก ก็มีประเด็นดราม่ากันอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะหลังจากที่ทรัมป์ประกาศจะเปลี่ยนชื่ออ่าวเม็กซิโก เป็นอ่าวอเมริกา แถมยังกล่าวหาเม็กซิโกว่าอยู่เบื้องหลังแก๊งค้ายาเสพติดที่ส่งผลกระทบต่อคนอเมริกัน ซึ่งหลังจากนั้น ประธานาธิบดีเม็กซิโกก็ได้ออกมาตอบโต้อย่างไม่เกรงกลัว หรือนี่จะเป็นการเชือดไก่ให้ลิงดูเป็นรายแรกๆ? ในส่วนของแคนาดาก็เช่นกัน หากท่านผู้อ่านติดตามการเมืองระหว่างประเทศ จะพอทราบกันดีว่า ความสัมพันธ์ระหว่างทรัมป์ กับ จัสติน ทรูโด นายกฯแคนาคา เป็นความสัมพันธ์ที่ค่อนข้าง “ตึง” ต่อกันพอสมควร แม้ว่าจะเป็นเพื่อนบ้านที่มีความร่วมมือกันสูง แต่ก็มักมีการงัดข้อและการไม่ลงรอยกันทางนโยบายและความคิดกันอยู่เรื่อยๆ จนหลายครั้งนำไปสู่การ “แซะ” กันไปมาระหว่างสองผู้นำ งานนี้จึงอาจเป็นการเชือดไก่พร้อมเบ่งกล้ามใส่แคนาดาด้วยเช่นกัน
แต่ถ้าถามต่อว่า...แล้วจะเชือดไก่ไปเพื่ออะไร? ผู้เขียนมองว่า อาจเป็นไปได้ที่เป็นไปในแนวทางเดียวกับจีน คือ “การกดดันเพื่อลากเข้าสู่โต๊ะเจรจา” ซึ่งแน่นอนว่าเป็นการสร้างความได้เปรียบบนโต๊ะเจรจาอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าประเทศต่างๆยอมสหรัฐฯเพราะไม่ต้องการความขัดแย้ง ซึ่งสิ่งที่ทรัมป์ต้องการจากการเจรจาเหล่านี้อาจเป็นในมิติของการค้า เพราะทั้งสามประเทศล้วนแล้วแต่เป็นประเทศที่ “ได้ดุลการค้า” กับสหรัฐฯ และที่สำคัญ เป็นคู่ค้าลำดับต้นๆของสหรัฐฯทั้งสิ้น
จากข้อมูลเชิงสถิติพบว่า เม็กซิโกเป็นผู้ส่งออกสินค้าเข้าไปในอเมริกาเป็นอันดับหนึ่งในปีที่แล้ว โดยมียอดการส่งออกไปสหรัฐฯกว่า 467,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ในขณะที่นำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯเพียง 309,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ได้ดุลเกินกว่า 100,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในขณะที่จีนส่งออกสินค้าไปสหรัฐฯกว่า 401,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และนำเข้าเพียง 131,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ได้ดุลถึง 200,000 กว่าล้านเหรียญสหรัฐฯ เช่นเดียวกัน แคนาดา ก็ส่งออกสินค้าไปสหรัฐฯ 377,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในขณะที่นำเข้า 322,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
ดังนั้น การเชือดไก่ให้ลิงดูโดยเริ่มจากคู่ค้าที่สำคัญ 3 อันดับแรก อาจเป็นการส่งข้อความไปสู่โลกทั้งใบว่า “ตรูเอาจริง” นะเว้ยเฮ้ยย..ก็เป็นได้
แล้วถ้าประเทศเหล่านี้ “สู้” ล่ะ จะเกิดอะไรขึ้น? คำตอบก็คือ เราอาจได้เห็น “สงครามการค้า” ครั้งใหม่
ซึ่งตอนนี้ก็เริ่มได้กลิ่นจางๆเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยล่าสุด ทรูโด นายกแคนาดา ได้ประกาศจะขึ้นเพดานภาษีตอบโต้สินค้าสหรัฐฯ 25% โดยรวมไปถึงสินค้าในชีวิตประจำวัน ในขณะที่ฝั่งเม็กซิโกก็ได้ออกมาประกาศกร้าวว่าจะใช้แผน B ที่เตรียมไว้เพื่อตอบโต้สหรัฐ และจีนเองก็ได้ออกมาบอกว่าการกระทำของทรัมป์นั้นเป็นการฝ่าฝืนกฎของ WTO รวมถึงต่อว่าสหรัฐว่าการกระทำดังกล่าวจะไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้น...เห็นได้ว่ามีการขยับท่าทีของผู้นำในท่วงทำนองที่น่าจะไม่ได้ “ยอม” ทรัมป์ง่ายๆ ก็ต้องดูกันต่อไปว่า สิ่งเหล่านี้จะนำไปสู่อะไรในอนาคต
ด้านผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในไม่ช้านี้ ก็อาจะเป็นภาพของราคาสินค้าที่แพงขึ้น ค่าครองชีพที่สูงขึ้น ของประชาชนชาวอเมริกัน รวมถึงสินค้าบางประเภทของประเทศทั้งสามด้วยเช่นกัน งานนี้เป็นหนังม้วนยาวครับ ยังตัดสิน ฟันธงอะไรกันไม่ได้ ก็ต้องบอกว่า สั่งข้าวโพดคั่วมานั่งดูไปพร้อมๆกันยาวๆครับ
ประเด็นสุดท้ายที่น่าสนใจก็คือ นอกจากสงครามการค้าที่อาจจะเกิดขึ้นแล้ว สิ่งเหล่านี้จะกลายเป็นเทรนด์ใหม่ของโลกหรือไม่ในอนาคต โดยเฉพาะเทรนด์ที่แต่ละประเทศหันมาใช้มาตรการกีดกันทางการค้ากันมากขึ้น แค่แอบคิดเล่นๆครับ ว่าความเชื่อมโยงของโลกรวมไปถึงความพยายามที่จะกำจัดเพดานการค้าต่างๆที่โลกพยายามจะทำกันมานับตั้งแต่หลังสงครามเย็น กำลังจะถูกทำลายลงหรือไม่? และโลกในอนาคตจะมีหน้าตาเป็นเช่นไรหากสิ่งที่ผมคิดเล่นๆไป เกิดขึ้นจริง
สำหรับประเทศไทย แม้จะยังไม่ได้รับผลกระทบโดยตรง แต่ต้องเตรียมตัวรับมือครับ เพราะเราก็เป็นหนึ่งประเทศที่ “ได้ดุล” การค้ากับสหรัฐฯเช่นกัน กลิ่นมาแล้ว...อย่ารีรอครับ
เอวัง