ทุกวันนี้มีเสียงบ่นกันแบบ “ทั่วไป” ว่า ทำมาหากินฝืดเคือง !เขียนมาประโยคเดียว ก็ต้องขออธิบายกันเสียก่อนถึงสองเรื่อง เรื่องแรกคือความหมายของ “การบ่นแบบทั่วไป” คือบ่น ๆ กันไปยังงั้นแหละ ครั้นผู้ที่มีความตั้งใจจริงที่จะแก้ปัญหา ซักถามว่า คนที่ว่าทำมาหากินฝืดเคืองนั้น คือคนกลุ่มไหน ? การทำมาหกินที่ว่าฝืดเคืองนั้น หมายถึงอาชีพอะไร ? อาชีพพ่อค้าแม่ขาย , กรรมกร , เกษตรกร , ธุรกิจอาบอบนวด หรืออาชีพสัปเหร่อ.......... เรื่องที่สอง “ฝืดเคือง” มีความหมายเป็นรูปธรรมอย่างไร ? หมายความว่าไม่พอจะกิน ไม่พอจะรักษาโรคภัยไข้เจ็บ ต้องกู้หนี้ยืมสิน หรือไม่พอจะไปท่องเที่ยว ไม่พอจะกินเหล้าเมายา............. ถ้าอธิบายสองเรื่องนี้ด้วยท่าทีถ้อยทีถ้อยอาศัย ตั้งใจดีที่จะแก้ปัญหาร่วมกัน ก็จะไม่ต้องทะเลาะเบาะแว้งกันอย่างในโซเชียลมีเดียให้มันละเหี่ยเพลียใจเกิดมาเป็นคนแล้ว เรื่อง “การทำมาหากิน” เป็นเรื่องใหญ่สำคัญที่สุด ครอบครัวใดที่มีสมาชิก “ทำมาหากิน” ไม่เป็น จะเพราะโรคภัยไข้เจ็บ หรือบกพร่องในหน้าที่ความเป็นมนุษย์(คือไม่ทำมาหากิน ได้แผ่ผลาญตระกูลวงศ์ไปวัน ๆ ) ก็ล้วนแต่จะเดือดร้อน เป็นทุกข์ คนทั่วไปอาจจะมองว่า สมัยโบราณคนเราทำมาหากินได้ง่าย เกิดมาก็เป็นชาวนาชาวไร่ ส่วนน้อยก็เป็นช่างฝีมือ ส่วนน้อยลงไปอีกก็เป็นปัญญาชน -ทหาร (ขุนนาง) ไม่ต้องดิ้นรนอะไรมาก ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว รู้จักเพาะปลูกก็ดำรงชีวิตอยู่กันได้ ส่วนสมัยปัจจุบัน จะทำมาหากินอะไร มันก็ต้องมีทุนมีรอน ต้องมีความรู้ มันจึงดูเหมือนทำมาหากินกันยากขึ้นทุกวัน“รัฐ” ก็หลงทาง คือลืมไปว่า หน้าที่ของรัฐข้อสำคัญที่สุดคือทำให้พลเมืองทำมาหากิน(โดยสุจริต)ได้สะดวก พูดแบบโบราณก็ว่า เรื่องปากเรื่องท้องนี่แหละสำคัญที่สุด คนเราจะทำมาหากินได้ ปัจจัยสำคัญที่สุดคือ “ความต้องการของผู้อื่น” ไม่ใช่ความต้องการของตัวเอง เกือบทุกอาชีพนั่นแหละ “อาศัย” ความต้องการของผูอื่นทั้งนั้น “ศิลปิน” อาจจะหลงตัวเองว่า ฉันอยู่ได้เพราะฉันเป็นตัวฉันเอง ฉันเขียนงานสร้างงานตามใจฉัน ฉันจึงเป็นเสรีชนศิลปินใหญ่แต่ลองคิดดูให้ลึก ท่านเลี้ยงชีพอยู่ได้ตามสมควร(ไม่รวยเพราะไม่เคยตามใจตลาด) ก็เพราะยังมี “คนอื่น”บางส่วนที่ชื่นชอบแนวการทำงานของท่าน ถึงลูกค้าจะมีน้อยกว่าน้อย มันก็ยังต้องอาศัยความต้องการของ” ผู้อื่น” อยู่ดี ม.ร.ว คึกฤทธิ์ ปราโมช ท่านเล่าว่า“คนเรานั้น ส่วนใหญ่หากินจากความต้องการของคนอื่นชาวนาทำนาก็เพราะคนยังต้องการกินข้าวการทำนาก็เป็นอาชีพขึ้นมาและตราบใดที่คนยังมีความต้องการ คนก็จะมีอาชีพต่าง ๆ ต่อไป เพื่อบำบัดความต้องการนั้น ๆ แต่ละอย่าง และเมื่อความต้องการของคนมีเพิ่มขึ้น อาชีพต่าง ๆ ก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้น เมื่อความต้องการนั้นมีแปลก ๆ ออกไป อาชีพของคนก็มีแปลก ๆ ออกไปจนบางอย่างไม่น่าเชื่อ” (“สยามรัฐหน้า 5” 2 เมษายน 2512) ปัจจุบันนี้สังคมเปลี่ยนแปลงไปมาก “ความต้องการ” ของคนก็เปลี่ยนไป “งานหายาก” ก็บ่นกันแบบทั่ว ๆ ไป ทั้งแผ่นดินไทยนี้ แต่ประเทศไทยขาดแคลนแรงงาน ชนิดที่ว่าถ้าไม่มีกรรมกรขายแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาขายแรงงานแล้ว ก็ไม่รู้ว่าเศรษบกิจมหภาคของไทยจะเป็นอย่างไร บัณฑิตไทยตกงาน หางานทำไม่ได้ ต้องยอมทำงานประเภทพนักงานขายในห้างได้อัตราเงินเดือนต่ำกว่าปริญญาตรี แต่ก็มีธุรกิจประกาศหาคนอยู่โครม ๆ หลายหมื่นอัตรา แต่มีเงื่อนไขว่า ต้องรู้ภาษาอังกฤษ หรือภาษาจีน หรือภาษาญี่ปุ่น เด็กที่จบปริญญาตรีแต่ภาษาต่างประเทศไม่กระดิกหู ก็เลยหางานทำได้ยากกันต่อไป แต่ก็มีเด็กจำนวนมากมาย ไม่กังวลกับเรื่องตำแหน่งงาน ไม่กลัวเพราะ “รู้” ว่ายังมีคน “ต้องการ” อะไร ต้องการอะไร ก็สนองความต้องการให้เขานี่ก็คือหนทางทำมาหากิน...............“รัฐ” ก็ต้องรู้ว่า คนในสังคมกำลังต้องการอะไร แล้วสร้างเงื่อนไขให้ผู้ที่จะมาสนองความต้องการนั้น ๆ เขาทำงานได้สะดวก ธุรกิจใหม่ ๆ มันก็จะเกิดขึ้นไม่ใช่กอดกฏหมายเก่าคร่ำคร่าเอาไว้ ปิดกั้นโอกาสการทำมาหากินแนวใหม่ไม่ใช่กอดตำแหน่งอำนาจเอาไว้รีดสินบาทคาดสินบน ปิดกั้นอากาสการทำมาหากินแนวใหม่ การทำชั่วมันง่ายอยู่แล้ว มิจฉาชีพมันหากินง่ายกว่าอาชีพสุจริต ถ้ารัฐไม่เปิดทางกว้างทางสะดวกให้กับอาชีพสุจริต คนมันก็ถูกดึงไปทางชั่ว สังคมมันก็เป็นทุกข์รัฐอย่าลืมหน้าที่ “อำนวยความสะดวก และช่วยแก้ปัญหาในการทำมาหากินของประชาชน”