สิ่งที่น่าห่วงใยของปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ นอกจากตกเป็นเหยื่อถูกหลอกลวงจนสูญเสียทรัพย์สิน หรือบางรายอาจถึงชีวิตแล้ว สังคมโซเชียลในปัจจุบันยังขาดความเมตตาต่อเหยื่อ ถูกซ้ำเติมหรือบูลลี่เหยื่อแก๊งคอลเซ็นเตอร์

ไม่ว่าจะเป็นกรณีของหญิงชาวฝรั่งเศสที่ถูกดาราดังปลอมหลอกให้รักและหลอกเงินไปหลายร้าน หรือกรณีนางงามดังของไทยที่ถูกมิจฉาชีพใช้เอไอปลอมเป็นตำรวจหลอกโอนเงิน

สิ่งที่ต้องเตือนกันก็คือ นางงามดังมีพื้นฐานจิตใจที่เปราะบางจากโรคแพนิคอยู่แล้ว  หรือแม้แต่คนปกติที่ไม่ได้มีโรคประจำตัวใดๆ แต่ปัตจุบันมิจฉาชีพมีจิตวิทยาสูงขึ้น มีการกดดันและติดตามเหยื่อไม่ปล่อย โทรครั้งแรกหลอกไม่สำเร็จมีการติดตามซ้ำกลับมาที่คนเดิมจนสำเร็จก็มี เรียกว่า สายหนึ่ง สายสอง หรือมากกว่านั้น รวมกับเทคโนโลยีที่ปิดกั้นการโทรศัพท์เข้าของสายอื่นในขณะที่กำลังปฏิบัติการอยู่

อย่างไรก็ตาม มีวิธีสังเกตตำรวจปลอมนำมาฝากเพื่อจะได้จดจำและสร้างภูมิคุ้มกัน

1. พฤติกรรมไม่น่าเชื่อถือ : ตำรวจปลอมจะทำการติดต่อผู้เสียหายผ่านช่องทางแชท ไลน์ หรือทำการวิดีโอคอล ขอข้อมูลส่วนตัว หรือหลอกให้โอนเงิน

2. ส่งเอกสารปลอม : ตำรวจปลอมมักจะส่งเอกสารราชการผ่านทางไลน์ เช่น หมายเรียก หมายจับ ข้อมูลการฟอกเงิน

3. เครื่องแบบไม่ถูกต้อง : ควรตรวจสอบเครื่องแบบตำรวจ เช่น เข็มประจำตำแหน่ง, เครื่องหมายยศ หรือการแต่งตัวที่ถูกต้องตามระเบียบ

4. สถานที่ทำงาน : ตำรวจจริงจะปฏิบัติหน้าที่ในสถานีตำรวจหรือในเขตพื้นที่รับผิดชอบ ไม่ใช่จากสถานที่ส่วนตัวหรือผ่านทางช่องทางออนไลน์

นอกจากนี้ยังมีวิธีป้องกัน

1. อย่าให้ข้อมูลส่วนตัว เช่น หมายเลขบัตรประชาชน ข้อมูลบัญชีธนาคาร หรือข้อมูลสำคัญใด ๆ ผ่านทางโทรศัพท์หรือทางออนไลน์

2. อย่าหลงเชื่อการเรียกรับเงิน ตำรวจจริงไม่มีการเรียกรับเงินเข้าบัญชีส่วนตัว

3. หากมีข้อสงสัยให้ติดต่อสอบถามข้อมูลโดยตรงกับสถานีตำรวจในพื้นที่หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

อย่างไรก็ตาม นอกจากจะสร้างภูมิคุ้มกันให้ตนเองแล้ว ต้องช่วยกันแชร์ภูมิคุ้มกันนี้ไปยังคนรอบข้าง ครอบครัวและชุมชนด้วยเพื่อให้สามารถป้องกันการถูกหลอกลวงได้ แต่สุดท้ายแล้วหาก ที่สุดวิสัยจริงๆไม่ว่าจะเป็นใครถูกหลอกโอนเงินไม่ควรซ้ำเติม ตรงข้ามควรต้องให้กำลังใจเพื่อให้เขาเหล่านั้นสามารถยืนหยัดและพลิกฟื้นจากฝันร้าย