สถาพร ศรีสัจจัง

ศาสตราจารย์(ระดับ11) สุธิวงศ์  พงศ์ไพบูลย์ เป็นปูชนียบุคคลชาวภาคใต้ผู้บุกเบิกสร้างสรรค์

"นวัตกรรม"เชิงวิชาการด้านวัฒนธรรมศึกษา ด้านคติชนวิทยา และด้านภาษาไทย อย่างสำคัญและอย่างกว้างขวาง เป็นผู้สถาปนาสถาบันทักษิณคดีศึกษาและพิพิธภัณ์คติชนวิทยา(ที่เกาะยอ)ขึ้นเป็นต้นแบบงานด้านนี้ในประเทศไทย

เป็นผู้บุกเบิกจัดทำ “สารานุกรมวัฒนธรรมภาคใต้” ฉบับพ.ศ.2529 โดยใช้ทุนจากภายนอกและใช้งบประมาณของรัฐเพียงเล็กน้อย (เป็นสารานุกรมทางวัฒนธรรมฉบับแรกของภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้) จนกลายเป็น “แรงดาลใจ” ให้ก่อเกิด “สารานุกรมวัฒนธรรม ไทย 4 ภาค” ของมูลนิธิสารานุกรมไทย ที่มีสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯทรงเป็นองค์ประธานที่ปรึกษา

เป็นผู้สร้างองค์กรราชการเล็กๆจนกลายเป็นสถาบันทางศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาพื้นบ้านที่เป็นต้นแบบสำคัญยิ่ง และที่สำคัญที่สุด คือการสร้างคน!

คือสร้างศิษย์ทุกระดับตั้งแต่ระดับประกาศนียบัตรจนถึงระดับบัณฑิตศึกษา(เริ่มแต่วิทยาลัยครูสงขลา-วิทยาลัยวิชาการศึกษา สงขลา  มศว.สงขลา จนถึง ม.ทักษิณ ปัจจุบัน)

สร้างนักวิจัยและงานวิจัยที่ทรงคุณค่าในฐานะเป็น “เมธีวิจัยอาวุโส สกว.” เจ้าของโครงการสำคัญหลายโครงการ เช่น โครงการ “โครงสร้างและพลวัตวัฒนธรรมภาคใต้กับการพัฒนา” (พ.ศ.2540:สร้างงานวิจัยในโครงการกว่า 20 ชื่อเรื่อง/สร้างนักวิจัยคุณภาพเกือบ 30 คน),โครงการ “แผนที่ภูมินิทัศน์ภาคใต้ : ฐานเศรษฐกิจและทุนวัฒนธรรม” และโครงการ “ภูมิปัญญาทักษิณจากวรรณกรรมและพฤติกรรม” (พ.ศ.2544-2547 : สร้างงานวิจัยมากมายหลายสิบเรื่อง/นักวิจัยมากกว่า 70 คน) เป็นต้น

สร้างตำราและงานเขียนเชิงวิชาการสร้างสรรค์ เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นวิทยากรฯลฯ อีกเป็นจำนวนมาก

จากการสร้างสรรค์ดังกล่าว ทำให้ท่านได้รับการยกย่องและได้รับรางวัลทั้งระดับใน “อาเซียน” และระดับชาติเป็นจำนวนมาก ที่สำคัญๆ เช่น รางวัล “Asian Award” สาขา “Thai studies”  รางวัลพระเกี้ยวทองคำ  รางวัลพระสิทธิธาดาทองคำ รางวัลอนุสรณ์สงขลานครินทร์ รางวัลเข็มดุษฎีมาลา รางวัลเข็มเชิดชูเกียรติจากกระทรวงศึกษาธิการ รางวัลผู้อนุรักษ์มรดกไทยดีเด่น และได้รับพระราชทานปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จากหลายสถาบัน เป็นต้น

ได้อ่านบทกวีที่ “ศิษย์” บางคนเขียนถึงท่านในวาระ “90 ปีชาตกาลฯ” (2568)เห็นว่าน่าจะมีประโยชน์ จึงขอ"ตัดแปะ"(บางตอน)มาให้อ่านกันในที่นี้เพื่อความเป็นมงคลสักหน่อย  …

@ กำเนิดจากรากเหง้าชาวใต้แท้/ริมเลสาบใหญ่แลลิบลิบหาย

ริมท้องทุ่งถ้วนทั่วมีวัวควาย/มีนกน้ำบินว่าย-มีเวิ้งนา

คืนค่ำก่ำแสงตะเกียงส่อง/วิบวิบก่องก่องพริบพริบพร่า

มีนางขี้หนอนฟ้อน “โนรา”/นิรมิตลีลาลอยฟ้าลง

เลสาบดั่งสระอโนดาต/ให้โนรานางนาฎได้ลงสรง

อรชรอ้อนแอ้นแอ่นเอวองค์/ตะโพนทับปี่ส่งโหม่งกรับกราว

เดือนสามปี่ซังกังวานจ้า/เดือนห้าฤดู “ว่าง” ได้วางว่าว

คืนค่ำ “ตะลุง” ขับ-โห่ “ปับวาว”/ “กลอนลอดโหม่ง” หวานราวน้ำผึ้งรวง!

รวมแรง “สุ่มวง” ลงเลสาบ/ได้กุ้งปลาเต็มหาบแบบหายห่วง

ขึ้นตาล น้ำหวานตั้งเคี่ยวชั่งตวง/แล้วเก็บเม็ด “ยาร่วง” มาหมกกิน…ฯ

………………………………………………………………

@ ผ่านเก้าสิบปีแห่งชาตกาล/ร่มเงาผลงานยังอิ่มอุ่น

ยังอ้างอิงอวยเอื้อยังเกื้อบุณย์/แก่ผองเหล่าเยาวดรุณรุ่นสืบมา

คือต้นแบบแห่งปราชญ์สามัญชน/ผู้ชี้หนชี้ทางสร้างคุณค่า-

วัฒนธรรมทั้งผองของประชา/ว่าคือ “ทุน” พัฒนาสร้างค่าไทย!!ฯ

 

ท่านศาสตราจารย์สุธิวงศ์  พงศ์ไพบูลย์ เสียชีวิตในวันที่ 18 กรกฎาคม 2560 สิริอายุรวม 83 ปี หลังท่านเสียชีวิตมหาวิทยาทักษิณและสถาบันทักษิณคดีศึกษา(ต้นสังกัด)รวมถึงมูลนิธิศาสตราจารย์สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์และมูลนิธิทักษิณคดีศึกษา(ศ.สุธิวงศ์จัดตั้งขึ้นเพื่อหนุนช่วยและสืบสาน

“เจตนารมณ์” ของสถาบันฯ) ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและคณะศิษยานุศิษย์ ได้ร่วมกันประกาศให้วันที่ 14 มกราคมของทุกปีเป็น “วันศาสตราจารย์สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์” ขึ้น  เพื่อเป็นการแสดงมุทิตาคารวะยืนยันในการมุ่งสืบสานต่อยอดการงานและเจตนารมณ์อันสร้างสรรค์ดีงามของท่านสืบไป

และในวันที่ 14 มกราคม ปีนี้(2568) ในวาระศาสตราจารย์สุธิวงศ์จะครบ 90 ปีแห่งชาตกาล ฟังมาว่ามหาวิทยาลัยทักษิณและสถาบันทักษิณคดีศึกษาและผู้เกี่ยวข้องก็จะจัดงาน “วันศาสตราจารย์สุธิวงศ์ฯ” ขึ้นเพื่อแสดงคารวธรรมเหมือนทุกปีที่ผ่านมา

ส่วนการจะสามารถ “สืบสานต่อยอดการงานและเจตนารมณ์” ของท่านศาสตราจารย์สุธิวงศ์ฯ(โดยเฉพาะงานชิ้นเอกของท่านคือ “สถาบันทักษิณคดีศึกษา”)ได้หรือไม่ แค่ไหน หรืออย่างไรนั้น เมื่อถึงวันนี้คงต้องไปถามเอากับ๓ท่านที่เกี่ยวข้องโดยตรงละกระมัง ?

นั่นคือท่านผศ.ดร.ธัญญา  พันธ์ฤทธิ์ดำ รักษาการผอ.สถาบันทักษิณคดีศึกษา ท่าน ศ.ดร.นายแพทย์วีรศักดิ์  จงสู่วิวัฒน์วงศ์ นายกสภามหาวิทยาลัยทักษิณ และที่สำคัญสุดก็น่าจะคือท่าน รศ.ดร.ณัฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยทักษิณปัจจุบันนั่นเอง!!!