ทวี สุรฤทธิกุล
คนที่จะทำงานการเมืองในยุคต่อไป จะเป็นคนในช่วงอายุ 30 - 45 ปี แต่คนที่มีอิทธิพลในทางการเมืองมาก ๆ ก็ยังจะเป็นคนที่ “อาวุโส” มาก ๆ อยู่ดี
คำว่า “อาวุโส” ไม่ได้หมายถึงเพียงอายุ แต่ยังหมายถึงประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญ โอกาส และความสามารถ ที่เหนือกว่าอีกด้วย กระนั้นคนสองกลุ่มนี้ก็ยังมีความเชื่อมโยงกันอย่างแนบแน่น เพราะเติบโตมาภายใต้อุดมการณ์ หรือ “กระแสการเมือง” อย่างเดียวกัน นั่นก็คือการต่อสู้กับการเมืองแนวอนุรักษ์ ร่วมกับการสถาปนาพลังของเสรีนิยม โดยมี “พวกอาวุโส” ที่ขณะนี้กำลังเติบโตเป็นแกนนำอยู่ในระบบรัฐสภา และกำลังถ่ายทอดพลังเสรีนิยมนี้เข้าไปในระบบและสถาบันอื่น ๆ เช่น ระบบราชการ ตุลาการ ตำรวจ และทหาร โดยมีกลุ่มธุรกิจของคนรุ่นใหม่เป็นกำลังหลัก รวมถึงกลุ่มเคลื่อนไหวสมัยใหม่ต่าง ๆ ที่จะเข้ามาเป็นพลังเสริม ที่ผู้เขียนขอเรียกพลังของคนรุ่นใหม่นี้ว่า “พวกเติบใหญ่”
ก่อนที่จะพูดถึงพลังของคนรุ่นใหม่ “พวกเติบใหญ่” ในปัจจุบัน ที่จะเชื่อมโยงให้เห็นพัฒนาการของการเมืองไทยในอนาคต ผู้เขียนขอวางพื้นฐานทางทฤษฎีการเมืองบางอย่าง เพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกันกับท่านผู้อ่าน ที่จะทำให้เราสามารถมองเห็นพัฒนาการของการเมืองไทยได้อย่างต่อเนื่อง นั่นก็คือกรอบแนวคิดเกี่ยวกับ “น้ำใหม่ไล่น้ำเก่า” ซึ่งก็คือการต่อสู้ทางการเมืองระหว่างคนรุ่นใหม่กับคนรุ่นเก่านั่นเอง
ในตำรารัฐศาสตร์ของไทย กล่าวว่าการต่อสู้ทางการเมืองระหว่างคนรุ่นใหม่กับคนรุ่นเก่า มีบันทึกไว้อย่างชัดเจนมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 โดยองค์รัชกาลที่ 5 นั่นเองที่เป็นแกนนำในเรื่องนี้มาตั้งแต่ครั้งที่ยังเป็นรัชทายาท โดยเรียกชื่อกลุ่มว่า “คณะสยามหนุ่ม” ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของรัชกาลที่ 5 กับบรรดาพระเจ้าน้องยาเธอและข้าราชบริพารรุ่นหนุ่ม เพื่อทานอำนาจกับสมเด็จเจ้าพระยามหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ซึ่งเป็นผู้สำเร็จราชการอยู่ในช่วงที่รัชกาลที่ 5 ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ครั้งนั้นคณะสยามหนุ่มมีแนวคิดที่อยากจะเปลี่ยนแปลงการปกครองให้เป็นแบบฝรั่ง ที่มีรัฐสภาร่วมใช้อำนาจกับพระมหากษัตริย์ตามแบบอย่างของอังกฤษ เรียกว่า “ระบบปาลิเมนต์” แต่สมเด็จเจ้าพระยาฯ ท่านไม่เห็นด้วย (บางตำราเรียกกลุ่มของสมเด็จเจ้าพระยาฯว่า “คณะสยามอนุรักษ์”) การต่อสู้ระหว่างสองกลุ่มนี้ไม่ได้มีอะไรรุนแรง จนกระทั่งสมเด็จเจ้าพระยาฯถึงแก่พิราลัย รวมถึงขุนนางในฝ่ายของสมเด็จเจ้าพระยาก็เสียชีวิตไปคนแล้วคนเล่า รัชกาลที่ 5 เมื่อขึ้นครองราชย์และมีอำนาจเต็มแล้ว ก็ทรงแต่งตั้งบรรดาพระเจ้าน้องยาเธอและพระบรมวงศานุวงศ์ ตลอดจนข้าราชบริพารรุ่นหนุ่มเข้าแทนที่ในส่วนราชการต่าง ๆ พร้อมกับที่ทรงปรับปรุงระบบราชการให้ทันสมัย แต่ในเรื่องระบบรัฐสภาทรงเห็นว่าคนไทย โดยเฉพาะขุนนางและข้าราชการทั้งหลายนั้นยังไม่พร้อม จึงยังไม่มีการสถาปนาระบบรัฐสภาขึ้นในสมัยของพระองค์ แต่ก่อนที่รัชกาลที่ 5 จะสวรรคต มีการบันทึกถึงพระราชดำรัสสุดท้ายของพระองค์ว่า “เราจะให้ลูกวชิราวุธประทานรัฐธรรมนูญ”
ล่วงมาถึงสมัยรัชกาลที่ 6 ก็มีการเตรียมการเรื่อง “ระบบปาลิเมนต์” นั้นอยู่พอสมควร โดยเฉพาะโครงการเมืองดุสิตธานี อันน่าจะเป็นการเตรียมผู้คน โดยเฉพาะขุนนางและชนชั้นนำทั้งหลาย ให้คุ้นเคยกับการทำหน้าที่บทบาทต่าง ๆ ในระบบรัฐสภา ตั้งแต่การมีรัฐบาล นายกรัฐมนตรี รวมถึงพรรคการเมือง แต่ที่สำคัญคือการเน้นเรื่องเสรีภาพในด้านต่าง ๆ เช่น การมีหนังสือพิมพ์ และสมาคมวิชาชีพต่าง ๆ รวมถึงแนวคิดที่จะมีรัฐธรรมนูญ แต่พระองค์ก็ได้สิ้นสวรรคตเสียก่อน ซึ่งต่อมาก็ได้มีการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นอย่างเป็นกิจจะลักษณะในสมัยรัชกาลที่ 7 แต่ยังไม่ทันได้ประกาศใช้ ก็เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองขึ้นในวันที่ 24 มิถุนายน 2475 นั้นเสียก่อน
กลุ่มผู้เปลี่ยนแปลงการปกครองมีชื่อว่า “คณะราษฎร” ซึ่งก็เป็นที่ทราบกันว่าคือกลุ่มของข้าราชการรุ่นใหม่ ในฝ่ายพลเรือนก็นำโดยหลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) และฝ่ายทหารก็นำโดยพันตรีหลวงพิบูลสงคราม (แปลก ขีตตะสังคะ) ตามข้อมูลทางประวัติศาสตร์บอกว่า คนกลุ่มนี้คบคิดกันในครั้งที่ศึกษาอยู่ในประเทศฝรั่งเศส บางตำราบอกว่าเป็นกลุ่มที่เอาเรื่องการเปลี่ยนแปลงความล้าสมัยของประเทศไทยเป็นเป้าหมาย แต่บางตำราก็บอกว่าเป็นกลุ่มที่ไม่พอใจพวกกษัตริย์และขุนนาง รวมถึงที่บอกว่าแกนนำบางคนต้องการนำรูปแบบของสังคมนิยมคอมมิวนิสต์มาใช้ ไม่ใช่แนวคิดประชาธิปไตยตามแบบสากลที่คนทั้งหลายเข้าใจแต่อย่างใด
ในบทความของผู้เขียนฉบับก่อนหน้านี้ ได้กล่าวถึงปัญหาหลักอย่างหนึ่งของการเมืองไทยว่า คือความขัดแย้งระหว่างผู้มีอำนาจในสังคมไทย ทั้งนี้ในตำราเก่า ๆ จะมองว่า ในยุคแรกนั้นเป็นความขัดแย้งระหว่างชนชั้นนำคือข้าราชการเป็นหลัก คือระหว่างข้าราชการรุ่นใหม่กับข้าราชการรุ่นเก่า แต่ถ้าจะมองให้ลึกลงไปก็จะเห็นว่าเป็นความขัดแย้งระหว่างกลุ่มอำนาจเก่า คือพวกที่นิยมกษัตริย์ กับกลุ่มอำนาจใหม่ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงสถาบันพระมหากษัตริย์นั่นเอง และความขัดแย้งในแนวนี้ก็ยังเป็นพลังหรือสร้างกระแสหลักของการเมืองไทยมาจนถึงทุกวันนี้(รวมทั้งในอนาคตนี้ด้วย)
ท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ท่านเคยเขียนถึงเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ พ.ศ. 2475 ว่า ตอนนั้นท่านเรียนอยู่ในมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ที่ประเทศอังกฤษ พอสถานทูตแจ้งข่าวว่าที่ประเทศไทยมี “คูเดต้า – Coup d’etat” นักเรียนไทยที่นั่นก็ฉลองกันใหญ่ ซึ่งท่านบอกว่าพวกคนรุ่นหนุ่มสาวในยุคนั้น ส่วนใหญ่แล้วจะมีแนวคิดที่ “เบื่อเจ้า” อยู่เป็นทุนเดิม แต่พอท่านเรียนจบในปีต่อมา (พ.ศ. 2476) กลับมาเมืองไทย แล้วได้เห็นการแย่งชิงอำนาจกันในหมู่ผู้นำคณะราษฎร ก็เริ่มเบื่อพวกคณะราษฎรเหมือนกัน เพราะคณะราษฎรเองก็ไม่ได้ให้ความหวังอะไรกับคนไทย ทั้งยังแย่งกันเป็นใหญ่และแสวงหาอำนาจอย่างน่ากลัว ที่ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เรียกคณะราษฎรนี้ว่า “เจ้าพวกใหม่”
คณะราษฎรทำตัวเป็น “เจ้าพวกใหม่” อยู่ได้นานพอสมควร แต่ก็มาจบสิ้นอำนาจวาสนาเพราะแย่งชิงกันเป็นใหญ่มาโดยตลอด ระหว่างฝ่ายพลเรือนกับฝ่ายทหาร โดยฝ่ายทหารได้เพลี่ยงพล้ำในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่พอเกิดกรณีสวรรคตของรัชกาลที่ 8 ใน พ.ศ. 2490 ทหารก็คืนสู่อำนาจ
ในช่วงนี้นี่เองที่ผู้นำทหารที่แต่เดิมอยู่ในฝ่าย “ไม่เอากษัตริย์” ได้ปรับเปลี่ยนมาส่งเสริมและสร้างความสัมพันธ์อันดีกับพระมหากษัตริย์ ดังจะเห็นได้จากการประกาศเทิดทูนพระเกียรติยศไว้ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2492 ว่า “ประเทศไทยมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข” และจากนั้นรัฐธรรมนูญของไทยทุกฉบับก็ต้องประทับตรา “ศักดิ์สิทธิ์” อันนี้ไว้โดยตลอด
เนื้อแท้แล้วการปกครองของไทยคือ “การประสานอำนาจ” ซึ่งจะได้อธิบายให้เห็นต่อไป