สถาพร ศรีสัจจัง

สงครามโลกครั้งที่ 2 ในยุโรปยุติลงหลัง “กองทัพแดง” (ของสหภาพโซเวียต) ยึดกรุงเบอร์ลิน เมืองหลวงของประเทศเยอรมนีได้ เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม ค.ศ. 1945 แต่ญี่ปุ่นซึ่งเป็นฝ่าย “อักษะ” ในเอเชียยังไม่ยอมจำนน กระทั่งสหรัฐอเมริกาได้นำระเบิดปรมาณูมาประเคนใส่หัวประชาชนคนบริสุทธิ์รวมถึง 2 ลูก (ทั้งที่ฟังว่าตอนนั้นยังไม่มีใครรู้ถึงอานุภาพอันร้ายกาจที่แท้จริงของมันอย่างละเอียด)

นับเป็นการ “นำร่อง” ครั้งแรกของโลกในการใช้ระเบิดปรมาณูอันเป็น “อาวุธ” ที่สุดชั่วร้ายสามานย์ที่เมืองฮิโรชิมา และเมืองนางาซากิ ญี่ปุ่นจึงยอมจำนนราบคาบอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 2 กันยายน ค.ศ.1945 (และอาจกลายเป็นบทเรียนที่ทำให้ญี่ปุ่นต้อง “หงอ” ต่อสหรัฐอเมริกาสืบมามาจนถึงบัดนี้?)

สรุปว่าสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้งสุดลงอย่างเป็นทางการเมื่อค.ศ.1945 หรือ พ.ศ.2488 นั่นเอง คือย้อนหลังจากปีปัจจุบัน(พ.ศ.2567)ไปรวมทั้งสิ้น 79 ปี!                       

เฉพาะในช่วง 6 ปีระหว่างสงคราม พบว่ามีประชากรโลกต้องตายลงเพราะการณ์นี้ถึงประมาณ 15 ล้านคน (ประชากรโลกในช่วงปีแรกของการเกิดสงครามคือในปีค.ศ.1939 มีทั้งสิ้นประมาณ 2,200 ล้านคน) ส่วนคนที่ต้องบาดเจ็บและพิการ (ทั้งด้านร่างกายและจิตใจนั้นคงยากที่จะประมวลว่ามีมากน้อยเพียงใด!)                                                                              

ส่วนความสูญเสียทางด้านเศรษฐกิจนั้น มีนักวิชาการประเมินว่า คิดเป็นเงินมีมูลค่าประมาณ 1.6 พันล้าน ยูเอสดอลลาร์(ค่าเงินในพ.ศ.2488)

หลังสงครามมีปรากฏการณ์ของสังคมโลกที่สำคัญเกิดขึ้นคือ การเกิด “มหาอำนาจ 2 ขั้ว” (ทั้งคู่เป็นผู้นำฝ่ายชนะสงคราม คือเป็นฝ่ายที่เรียกกันว่า ฝ่าย “สัมพันธมิตร”) ได้แก่ ประเทศสหรัฐอเมริกาที่ต่อมากลายเป็น “พี่เอื้อย” ของฝ่ายที่เรียกตัวเองว่า “โลกเสรี” กับประเทศสหภาพโซเวียต(รัสเซียปัจจุบัน)ที่กลายเป็นหัวเรือใหญ่ของกลุ่มที่เรียกตัวเองว่าโลก “สังคมนิยม”                                                  

แล้วสิ่งที่เรียกว่า “สงครามเย็น” (Cold War)ระหว่างมหาอำนาจ 2 ฝ่ายก็เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องยาวนานจากจุดนั้นมาไม่น้อยกว่า 45 ปี จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ความล่มสลายของประเทศที่เรียกว่า “สหภาพโซเวียต” ขึ้นในปีพ.ศ.2534 (ค.ศ.1991)

ดังที่ได้อรรถาธิบายมาบ้างแล้วก่อนหน้านี้

หลังการล่มสลายของ “สหภาพโซเวียต” อาจกล่าวได้ว่าขณะนั้นโลกเหมือนเหลือเพียงขั้วอำนาจอยู่เพียงรายเดียว คือสหรัฐอเมริกา แต่ “หน่ออ่อน” แห่งประเทศมหาอำนาจตัวใหม่ที่จะขึ้นมาทาบรัศมีสหรัฐฯก็ค่อยๆปรากฏตัวให้เห็นชัดขึ้นแทนที่ “สหภาพโซเวียต”

นั่นคือสาธารณรัฐประชาชนจีน!                 

เมื่อ “สหภาพโซเวียต” เก่าล่มสลายลง ก็ก่อให้เกิดการแตกตัวเป็น “ประเทศเอกราช” ชื่อใหม่ขึ้นในโลกรวม 15 ประเทศ ได้แก่ รัสเซีย ยูเครน อาร์เมเนีย เบลารุส อาเซอร์ไบจาน เอสโตเนีย จอร์เจีย คาซัคสถาน คีร์กีซสถาน ลัตเวีย ลิทัวเนีย มอลโดวา ทาจิกิสถาน อุซเบกิสถาน และ เติร์กเมนิสถาน                                

พัฒนาการขนาดใหญ่ที่เป็นผลมาจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมในอังกฤษและยุโรป(ที่ส่งผลต่อเนื่องไปถึงสหรัฐอเมริกาโดยตรงและอย่างรวดเร็ว)ของ “ระบบทุนนิยม” ที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 แล้วนั้น

หลังยุค “สหภาพโซเวียตล่มสลาย” ก็เริ่มกลายเป็นเหมือนว่า ทั้งโลกจะมีเพียง “ระบบเศรษฐกิจกระแสหลัก” ระบบเดียวคือ “ระบบทุนนิยม” ที่รุ่งเรืองขึ้นอย่างรวดเร็วหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เท่านั้น ที่กระจายคลุมห่มโลกไว้ในทุกพื้นที่

ที่จริงมีปรากฏการณ์สำคัญยิ่งประการหนึ่งในประเทศ “สังคมนิยม” ขนาดใหญ่คือสาธารณรัฐประชาชนจีน(ที่มีประชากรมากที่สุดในโลก)เกิดขึ้นก่อนหน้านั้นแล้ว

นั่นคือ ชัยชนะของฝ่ายปฏิรูปที่นำโดยเติ้งเสี่ยวผิงที่มีเหนือสายอำนาจเก่าฝ่ายซ้ายที่ใช้ชื่อและภาพลักษณ์บารมีของ “ประธานเหมา” ผู้นำผู้ยิ่งใหญ่ฉวยโอกาส “เอียงซ้าย” และหาทางกำจัดฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย(หรือฝ่ายที่มีแนวคิด “ปฏิรูป” ที่มีเติ้งเสี่ยวผิงเป็นผู้นำสำคัญ)                 

ชัยชนะดังกล่าวนี้สะท้อนให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรมทจากการที่เติ้ง เสี่ยว ผิงได้รับอำนาจทางการเมืองที่แท้จริงคืนมา จนสามารถผลักดันให้คนของตัวเองหลายคนเข้าสู่ตำแหน่งสำคัญๆทั้งในพรรคคอมมิวนิสต์และในองค์กรรัฐบาล จนทำให้สามารถ “เปิดประเทศ” สถาปนาความสัมพันธ์กับประเทศสหรัฐอเมริกาที่เป็นเสมือนศัตรูคู่แค้นมาโดยตลอดในช่วงเวลากว่า 3ทศวรรษในปีพ.ศ.2522(ค.ศ.1979)                  

ตรงนี้มีข้อสังเกตที่น่าสนใจยิ่ง กล่าวคือ ประเทศไทยเราได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับสาธารณรัฐประชาชนจีน(ตอนนั้นคนไทยเรียก “จีนแดง”) มาก่อนหน้านั้นแล้วถึง 4 ปี โดยมีการสถาปนาความสัมพนธ์กันอย่างเป็นทางการในยุคที่ไทยมีนายกรัฐมนตรีชื่อ หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์  ปราโมช (แห่งพรรคกิจสังคม)เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ.2518(ค.ศ.1975)                  

หรือสิ่งนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะผู้นำไทยมี “ความคิดที่ก้าวหน้าทางการเมือง” มากกว่าผู้นำสหรัฐอเมริกาในยุคนั้น(นายริชาร์ด เอ็ม. นิกสัน) แต่เกิดขึ้นเพราะคติความเชื่อแต่ดั้งเดิม ที่พูดกันมาโดยตลอดทำนองว่า “ไทยกับจีนไม่ใช่ใครอื่น คือพี่น้องกัน”                 

(เพราะมีหลายคนในยุคปัจจุบันมักยกตัวอย่างให้เห็นเป็นรูปธรรมอย่างนั้น เช่น มักบอกว่า สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชก็มีเชื้อสายจีนชัดเจน/ต้นราชวงศ์จักรีคือพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้จุฬาโลกมหาราชก็มีเชื้อสายจีน…แถมยังต่อท้ายอีกว่าผู้นำพรรคฝ่าย “ก้าวหน้า” ยุคปัจจุบัน ตั้งแต่ยุคคุณธนาธร  จึงรุ่งเรืองกิจแห่ง “อนาคตใหม่” คุณพิธา  ลิ้มเจริญรัตน์และคุณชัยธวัช  ตุลาธนแห่ง “ก้าวไกล”…จนกระทั่งถึงคุณ “เท้ง” ณัฐพงษ์  เรืองปัญญาวุฒิแห่งพรรค “ประชาชน” คนปัจจุบัน ก็ล้วนแล้วแต่สืบเชื้อคนจีนมาทั้งสิ้น!)

กำลังคุยเรื่อง “ทุนนิยมห่มคลุมโลก” อยู่แท้ๆ ไหงลามไปจนถึง “เฮียธร”/ “เฮียทิม” และ “เฮียเท้ง”ไปเสียได้ละหนอ…?!!