เมนู “ต้มยำกุ้ง” ของไทย ได้รับการรับรองให้ขึ้นทะเบียน เป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ประจำปี 2567   ขององค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ UNESCO นับเป็นข่าวดีสำหรับประเทศไทย

หลังจากที่ต้มยำกุ้ง ได้รับการประกาศขึ้นบัญชีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติเมื่อปี พ.ศ. 2554 ในสาขาความรู้และการปฏิบัติเกี่ยวกับธรรมชาติและจักรวาล ประเภทอาหารและโภชนาการ ด้วยต้มยำกุ้ง เป็นมรดกภูมิปัญญาฯ ที่สะท้อนให้เห็นถึงวิถีการดำเนินชีวิตของคนไทย ที่มีความเรียบง่าย มีสุขภาวะทั้งกายและใจที่แข็งแรง รู้จักการพึ่งพาตนเองด้วยวิธีธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรอบตัว เป็น “กับข้าว” ที่คนในชุมชนเกษตรกรรมริมแม่น้ำในพื้นที่ภาคกลาง นำวัตถุดิบที่มีอยู่ในชุมชนท้องถิ่นมาสร้างสรรค์เป็นอาหารเพื่อสุขภาพ โดยชื่อ ต้มยำกุ้ง เกิดจากการนำคำ 3 คำมารวมกันได้แก่ “ต้ม” “ยำ” และ “กุ้ง” ซึ่งหมายถึงกระบวนการทำอาหารที่นำเนื้อสัตว์ คือ กุ้ง ต้มลงในน้ำเดือดที่มีสมุนไพรซึ่งปลูกไว้กินเองในครัวเรือนอย่างข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด และปรุงรสจัดจ้านแบบยำ ให้มีรสเปรี้ยวนำด้วยมะนาว ตามด้วยรสเค็มจากเกลือหรือน้ำปลา รสเผ็ดจากพริก รสหวานจากกุ้ง และขมเล็กน้อยจากสมุนไพร

น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ระบุว่า ต้มยำกุ้งจึงเป็นเครื่องยืนยันอย่างดีถึงมรดกทางวัฒนธรรม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ Soft Power ไทย พร้อมเชิญชวรให้ลิ้มลองต้มยำกุ้งที่ร้านอาหารไทยทั่วโลก หรือค้นหาสูตรอาหารออนไลน์เพื่อทดลองทำต้มยำกุ้งเองที่บ้าน

“ความรู้และแนวปฏิบัติเหล่านี้ไม่เพียงช่วยสร้างความมั่นคงด้านอาหาร สุขภาพและความอยู่ดีกินดีของประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังช่วยพัฒนาเศรษฐกิจโดยรวม ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม และความสมานฉันท์ในสังคมอีกด้วย ประเทศไทยจึงมุ่งมั่นในการสร้างความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม (Intangible Cultural Heritage – ICH) ทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับชาติ และระดับนานาชาติอย่างเต็มที่ และพร้อมร่วมมือกับทุกประเทศเพื่อรักษา (safeguard) ICH ในฐานะทรัพยากรเพื่อการพัฒนาที่ครอบคลุมและยั่งยืนในทั้ง 3 ด้าน - เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม”

นั่นเป็นสุนทรพจน์ของนายกรัฐมนตรี อย่างไรก็ตาม น่าสนใจว่า รัฐบาลจะต่อยอดความสำเร็จของต้มยำกุ้งที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกๆ ได้อย่างไร ในภาคอุสาหกรรมอาหาร เป็นสิ่งที่หลายฝ่ายคาดหวัง ในการพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์จากโอกาสอันดีนี้ ยกระดับให้ “ต้มยำกุ้ง” มาช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างเป็นรูปธรรม และสร้างเม็ดเงินขนาดใหญ่อย่างยั่งยืน

หลายคนอาจยังไม่ลืมวิฤติเศรษฐกิจไทยในปี 2540 ที่ถูกเรียกขานว่าเป็น “วิกฤติต้มยำกุ้ง” เพราะเป็นเมนูที่ต่างชาติรู้จักและชื่นชอบประเทศไทย แต่วันนี้ “ต้มยำกุ้ง” จะเป็นตัวชูโรงช่วยชาติพาเศรษฐกิจไทย ให้โชติช่วงชัชวาลได้อย่างไร