เสือตัวที่ 6
สถานการณ์น้ำท่วมใหญ่ในพื้นที่ภาคใต้ของรัฐในห้วงเดือน พ.ย.67 นี้ นับเป็นน้ำท่วมใหญ่อีกครั้งหนึ่งซึ่งส่งผลกระทบต่อพี่น้องประชาชนในพื้นที่แห่งนี้อย่างแสนสาหัส ด้วยภัยธรรมชาติเป็นภัยที่มนุษย์ไม่อาจรับมือหรือหยุดยั้งภัยจากธรรมชาติได้ทั้งหมด หากแต่มนุษย์ทำได้ก็เพียงช่วยกันบรรเทาความเดือดร้อนอันเกิดจากผลกระทบจากภัยธรรมชาติให้เหลือน้อยที่สุด ซึ่งการที่มนุษย์จะสามารถรับมือกับภัยธรรมชาติขนาดใหญ่ได้นั้นมนุษย์จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องผนึกกำลังของรัฐทั้งหมด จึงจะสามารถบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่เหล่านั้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังปรากฏการณ์ของสถานการณ์น้ำท่วมใหญ่อีกครั้งหนึ่งในประวัติการณ์ในภาคใต้
โดยสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้ข้อมูลเมื่อ 30 พ.ย.67 มี 8 จังหวัดได้รับผลกระทบ ได้แก่ นครศรีธรรมราช, พัทลุง, ตรัง, สตูล, สงขลา, ปัตตานี, ยะลา และนราธิวาส รวม 78 อำเภอ 515 ตำบล 3,552 หมู่บ้าน พี่น้องประชาชนได้รับผลกระทบ 553,921 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิต 9 ราย ความรุนแรงที่กระทบต่อการดำรงชีวิตของพี่น้องในพื้นที่ ส่งผลให้รัฐต้องประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติและรัฐได้ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (อุทกภัย) แล้วในขั้นต้นถึง 7 จังหวัด ได้แก่ นครศรีธรรมราช, นราธิวาส, ปัตตานี, พัทลุง, ยะลา, สงขลา และชุมพร รวม 51 อำเภอ 346 ตำบล 2,163 หมู่บ้าน/ชุมชน และเมื่อ 29 พฤศจิกายนที่ผ่านมา กรมบัญชีกลางได้อนุมัติขยายวงเงินทดรองราชการให้กับ 6 จังหวัดภาคใต้ที่ประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (อุทกภัย) ได้แก่ สงขลา, นราธิวาส, ปัตตานี, ยะลา, สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช เพิ่มเติมแล้วจังหวัดละ 50 ล้านบาท จาก 20 ล้านบาท รวมเป็น 70 ล้านบาท สำหรับใช้ในการช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนแก่ผู้ประสบภัย
การผนึกกำลังทุกภาคส่วนของรัฐทำให้การปฏิบัติภารกิจดูแลพี่น้องประชาชนไม่ว่าจะเป็นครั้งนี้หรือครั้งใดๆ รวมถึงครั้งนี้ในพื้นที่ภาคใต้ ก็สามารถเป็นไปอย่างรวดเร็วและทันต่อสถานการณ์ส่งผลให้ประชาชนในพื้นที่มีความมั่นใจในการดูแลบรรเทาทุกข์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทุกภาคส่วนของรัฐไม่ว่าจะเป็นกระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม กระทรวงสาธารณสุข หรือกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ฯ เป็นต้น ต่างก็มุ่งให้ความช่วยเหลือเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเร่งด่วน โดยให้การช่วยเหลือที่สอดคล้องและเพียงพอต่อความต้องการของผู้ประสบภัยอย่างเต็มกำลัง รวมทั้งการเข้าช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ให้พี่น้องในพื้นที่ภาคใต้รวมถึงพี่น้องใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ไประสบอุทกภัย ก็ได้รับการดูแลช่วยเหลือจากรัฐในทุกภาคส่วนที่ร่วมผนึกกำลังกันเข้าช่วยเหลืออย่างเต็มกำลังโดยทั่วหน้ากันในฐานะประชาชนคนไทยที่รัฐต้องให้การดูแลช่วยเหลืออย่างเสมอหน้ากัน อาทิ การที่รัฐเปิดศูนย์พักพิงร่วมใจอุ่นไอรักจำนวน 2 แห่งในจังหวัดนราธิวาสและปัตตานี ซึ่งเป็นศูนย์พักพิงชั่วคราวที่ ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ให้พี่น้องที่ประสบภัยธรรมชาติครั้งนี้มีความพร้อมด้านความเป็นอยู่ สุขภาพที่ดี อาหารที่มีคุณภาพและเพียงพอ โดยมีเจ้าหน้าที่จากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล เจ้าหน้าที่สาธารณสุขอำเภอ คอยให้การดูแลด้านสุขภาพอนามัยทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต ขณะนี้มีประชาชนที่ประสบภัยได้อพยพมาเข้าพักที่ศูนย์พักพิงชั่วคราวทั้งหมดจำนวนมาก โดยจะให้การดูแลพี่น้องประชาชนผู้ประสบภัยอย่างต่อเนื่องจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย
น้ำท่วมใหญ่ในพื้นที่ภาคใต้หนักสุดในรอบหลาย 10 ปี ทำให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่อย่างรุนแรงในวงกว้างทั้งบ้านเรือนประชาชนและโรงพยาบาลของรัฐในพื้นที่ โดย 30 พ.ย. นี้มีสถานพยาบาลได้รับผลกระทบแล้วถึง 7 แห่ง ได้แก่ จ.สงขลา 3 แห่ง จ.ปัตตานี 4 แห่ง จำนวนนี้ปิดบริการ 2 แห่ง แต่กระนั้น กระทรวงสาธารณสุขก็ยังผนึกกำลังช่วยเหลือพี่น้องประชาชนผู้ประสบภัยครั้งนี้อย่างเต็มกำลัง ทั้งหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ดูแลประชาชน จัดทีมดูแลเยียวยาจิตใจ (MCATT) ตั้งศูนย์พักพิง และให้การดูแลกลุ่มเปราะบาง ได้แก่ ผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง ผู้พิการ หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ และอื่นๆ ตลอดจนจัดยาชุดช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างทั่วถึง นอกจากนั้น หน่วยงานด้านความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ได้ให้การดูแลช่วยเหลือพี่น้องในพื้นที่ปลายด้ามขวานอย่างเต็มกำลัง โดยศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ทำหน้าที่บูรณาการการปฏิบัติ ทั้งการจัดเงินเยียวยา และเงินดูแลส่วนต่างๆ เพื่อดูแลพี่น้องประชาชนอย่างทั่วถึง รวมถึงการเตรียมการฟื้นฟูสภาพความเป็นอยู่หลังน้ำลด ขณะที่ในส่วนของกองทัพโดยผู้บัญชาการทั้ง 3 เหล่าทัพรวมทั้งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ก็ระดมยุทโธปกรณ์ตลอดจนกำลังพลของกองทัพทั้งในพื้นที่และในส่วนกลาง โดยระดมทรัพยากรทั้งหมดเข้าไปดูแลช่วยเหลือบรรเทาทุกข์พี่น้องประชาชนในพื้นที่ทันทีที่เกิดภัยพิบัติอุกทกภัยเป็นหน่วยงานแรกๆ โดยไม่เลือกว่าจะมีความเชื่อความศรัทธาหรือมีทัศนคติต่อรัฐอย่างใด
ดังนั้น จึงเห็นได้ชัดเจนอีกครั้งหนึ่งว่าความเป็นรัฐประเทศนั้นมีความเข้มแข็งอย่างไร และไม่ว่าสถานการณ์การต่อสู้กับรัฐของแกนนำขบวนการต่อต้านรัฐเพื่อแบ่งแยกการปกครองออกไปจากรัฐจะเป็นอย่างไร หากแต่การให้การดูแลช่วยเหลือพี่น้องประชาชนของทุกภาคส่วนของรัฐรวมทั้งหน่วยงานความมั่นคงก็ยังคงปฏิบัติต่อพี่น้องประชาชนในพื้นที่ปลายด้ามขวานแห่งนี้อย่างเข้มแข็งเป็นมาตรฐานเดียวกันอย่างเต็มกำลังด้วยความจริงใจ ปรากฏการณ์นี้จึงเป็นอีกครั้งหนึ่งที่บ่งชี้ว่า การดำรงอยู่อย่างมั่นคงเรียบร้อยตามวิถีของคนในพื้นที่ไม่ว่าจะเกิดสถานการณ์ใดๆ ย่อมต้องอาศัยศักยภาพในความเป็นรัฐที่มีความพรั่งพร้อมในทุกด้านของการดูแลช่วยเหลือคนในชาติให้รอดพ้นจากภัยธรรมชาติหรือภัยจากน้ำมือมนุษย์ได้ดีกว่าคนในขบวนการกลุ่มใดๆ ที่ไม่มีศักยภาพเฉกเช่นรัฐเลยแม้แต่น้อย และเป็นขบวนการที่มีแต่การสร้างฝันความเป็นเอกราชโดยไม่มีความพร้อมแต่อย่างใด ความเป็นรัฐต่างหากจึงเป็นความเข้มแข็งพร้อมสรรพในทุกสิ่งที่จะบำบัดทุกข์ พัฒนาความสุขสงบร่มเย็นให้คนในชาติได้ เพราะความเป็นรัฐสามารถผนึกกำลังทุกภาคส่วนให้เข้ามาดูแลพี่น้องประชาชนได้อย่างสมบูรณ์แบบ ทันทวงที ทั่วถึงและเป็นรูปธรรมได้จริง