ร้อยเอก ดร.จารุพล เรืองสุวรรณ
อาจารย์ประจำคณะการทูตและการต่างประเทศ
มหาวิทยาลัยรังสิต
ผ่านไปแล้วนะครับกับสองสัปดาห์แห่งการวิเคราะห์การเลือกตั้งสหรัฐ ช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมาต้องยอมรับเลยครับว่า คำถามเรื่องของการเลือกตั้งสหรัฐฯและผลกระทบต่อไทยมันช่างสะพัดเสียเหลือเกิน นี่ยังไม่นับหลายเวทีที่ได้เชื้อเชิญให้ไปพูดคุยกันในประเด็นนี้ สัปดาห์นี้ผมเลยอยากจะอุทิศพื้นที่นี้ให้กับ “ความในใจ” ในฐานะคนไทยคนหนึ่งเกี่ยวกับบ้านเมืองของเราครับ
สืบเนื่องจากที่ได้รับเชิญให้ไปพูดคุยในหลายที่เกี่ยวกับเรื่อง “ผลกระทบต่อไทย” ภายหลังการเลือกตั้งสหรัฐฯ ทำให้ผมเกิดความรู้สึกหนึ่งขึ้นในจิตใจครับ ความรู้สึกที่ว่าคือ “เราจะต้องมานักวิเคราะห์กันแบบนี้ทุกๆ 4 ปี จริงๆหรือ?” และทำไมเราต้องมาวิเคราะห์เรื่องนี้กันอย่างเมามัน ทั้งในสื่อต่างๆ และสถาบันการศึกษา?
คำตอบแรกก็คือ แน่นอนครับ...ก็เพราะนี่เป็นเหตุการณ์ทางการเมืองระดับโลกที่ใครๆก็สนใจ แต่เมื่อคิดต่อไปอีกหน่อยว่าแล้วทำไมเราต้องสนใจกันด้วยล่ะ? ส่วนหนึ่งของคำตอบนี้ก็หนีไม่พ้น....เพราะเราเป็นประเทศเล็กๆประเทศหนึ่ง ที่ย่อมได้รับผลกระทบจากการเลือกตั้งของยักษ์ใหญ่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หรือจะเรียกว่าเป็นเรือเล็กๆลำหนึ่ง ที่ต้องคอยวิเคราะห์คลื่นลมในทะเลอยู่ตลอดเวลาเพื่อความอยู่รอด ก็ไม่ผิดแต่ประการใด
คิดได้เช่นนี้ ผมก็ได้แต่ถอนหายใจกับตัวเองเบาๆ แล้วถามตัวเองต่อว่า แล้วเมื่อไรหนอ...ที่เราจะไม่ได้เป็นประเทศเล็กๆที่ต้องคอยหลบคลื่นลมเพื่อความอยู่รอด แล้วเมื่อไรหนอ....ที่บ้านอื่นเมืองอื่นเขาจะมานั่งจัดเวทีวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงของผู้นำประเทศไทยกันบ้าง? แล้วก็ได้แต่แอบฝันว่า มันคงจะรู้สึกดีไม่น้อย เพราะ ณ จุดนั้น ก็คงหมายความได้ว่า...ประเทศไทยเป็นประเทศที่เจริญและมีอิทธิพลต่อสังคมโลกแล้วนั่นเอง
แต่ในฐานะนักวิชาการ จะมานั่งคิดแบบน้อยอกน้อยใจในโชคชะตาเช่นนี้ ก็คงจะไม่เกิดผลดีอะไร แถมพานซึมเศร้าเอาปล่าวๆ ก็เลยได้มานั่งคิดต่อว่า เราควรจะมี solution อย่างไร ที่จะพัฒนาประเทศของเรา ให้ไปสู่ “ความฝัน (กลางวัน)” ของผม ซึ่งผมก็มีข้อเสนอดังนี้ครับ
ทิศทางของชาติต้องชัด
ที่กล่าวเช่นนี้ เพราะวันนี้ต้องยอมรับกันแบบตรงไปตรงมาครับว่า ทิศทางของไทย...ยังไม่ชัดพอ “เราเป็นเป็ดครับ” เมื่อถามว่าเราเป็นอะไรในเวทีโลก? identity ของเราคืออะไร? คำถามเหล่านี้ดูจะเป็นคำถามง่ายๆ แต่ตอบยากเสียเหลือเกิน เพราะความไม่ชัดเจนนั่นเอง แตกต่างจากประเทศอย่างสิงคโปร์ที่ตอบได้ทันทีว่า สิงคโปร์ = ศูนย์กลางทางการเงิน
ประเทศไทยของเราก็จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องหาตัวตนให้เจอ แล้วใช้มันเป็นตัวตน เป็นภาพจำของคนทั้งโลกให้ได้ และที่สำคัญที่สุด “เป็นทิศทางและเป้าหมาย” ของชาติ ยกตัวอย่างเช่น หากเราจะบอกว่า เราคือ “ผู้นำด้านอาหารและความมั่นคงทางอาหารของโลก” ก็ต้องตั้งเป้าให้ชัดเจน รวมไปจนถึงในยุทธศาสตร์ชาติด้วยเช่นกัน ดังนั้น แทนที่จะบอกเพียงแค่ว่า “เราจะเป็นประเทศพัฒนาแล้วภายในปี....” ซึ่งคลุมเครือเกินไป ก็ควรจะต้องชัดเจนว่า “เราจะเป็นผู้นำด้านความมั่นคงทางอาหารของโลกภายใน....” เช่นนี้ จะทำให้ตัวตนของชาติ ภาพจำของชาติทั้งกับคนภายนอกและภายใน ชัดเจนแบบไม่ต้องถามซ้ำ รวมถึงสร้างเป้าหมายอันเดียวกันของคนทั้งชาติ เมื่อเป้าหมายชัดเช่นนี้ ทุกกระทรวงทบวงกรมจะทำงานได้ง่าย โดยทำหน้าที่ของตนในการทำให้นาวารัฐเดินไปสู่เป้าหมายแบบไม่สะเปะสะปะ การผลิต การค้าขาย การศึกษา หรือแม้แต่การทูต ก็จะมีทิศทางชัดเจนว่า จะต้องผลิตอะไร ค้าขายอะไร ผลิตคนไปทำอะไร และเจรจาพูดคุยเรื่องอะไร มิใช่การพยายามเป็นให้ได้เสียทุกอย่างอย่างในปัจจุบัน
ยึดจุดแข็ง
การยึดจุดแข็งจะเป็นการตอบคำถามจากข้อ 1 ว่าแล้ว “อะไร” ล่ะ ที่ควรจะถูกกำหนดเป็นตัวตนและเป้าหมายของชาติ คำตอบก็คือ ยึดจุดแข็งของชาติ นั่นเอง แต่ก็ต้องทำความเข้าใจให้ถูกต้องด้วยเช่นกัน ว่าอะไรคือจุดแข็งของชาติ ซึ่งผมอยากจะเสนอว่า มันคือสิ่งที่ไม่มีใครพรากไปจากเราได้ง่ายๆ และเป็นสิ่งที่เราถนัดจนเรียกได้ว่า ได้เปรียบผู้อื่น ซึ่งอาจจะต้องมองไปถึงสิ่งที่ธรรมชาติให้เรามา เช่น ภูมิประเทศ ภูมิอากาศ ยกตัวอย่างเช่น ภูมิประเทศที่สามารถเป็นจุดศูนย์กลางของภูมิภาคได้ หรือภูมิอากาศที่เหมาะสมกับการเพาะปลูก เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ ไม่มีใครพรากจากเราไปได้ ต่อให้เศรษฐกิจโลกจะพินาศขนาดไหน แต่ก็ไม่สามารถเปลี่ยนความเป็นศูนย์กลางทางภูมิศาสตร์ของไทยได้...จริงไหมครับ สิ่งเหล่านี้แหละครับคือจุดแข็งที่แท้จริง ไม่ต่างจากน้ำมันในตะวันออกกลาง เอาจุดแข็งเหล่านี้มาใช้ประโยชน์ให้ได้ เราจะแข็งแกร่งในด้านตัวตน สินค้า การค้าขาย และจะทำให้เรามีอำนาจต่อรองมากขึ้น ชนิดที่ว่าประเทศต่างๆ “ต้องพึ่งพาเรา” นั่นคือทางออกจากการเป็นเรือเล็กๆกลางมหาสมุทรครับ
คำนึงถึงหลักการ relevance
ความ relevance หรือความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยง คือ สิ่งที่จะตอบคำถามว่า เมื่อทิศทางชัดแล้ว เลือกจุดแข็งสร้างตัวตน ได้แล้ว จะทำอะไรต่อ? จะทำอะไรก็ต้องดูความเชื่อมโยงกับโลกครับ โลกทำอะไร? โลกต้องการอะไร? โลกนี้มีปัญหาอะไร? คือคำถามที่ต้องเพียรถามตัวเองอยู่เสมอ ประเทศไทยจะทำอะไร ก็ควรให้สอดคล้องไปกับคำถามทั้งสาม โดยที่มีเป้าหมายของชาติเป็นหลัก ทำอะไรก็แล้วแต่ ให้เกิดมุมตกกระทบซึ่งกันและกัน ระหว่าง “สิ่งที่จะทำ” “สิ่งที่โลกต้องการ” และ “เป้าหมายของชาติ” เข้าทำนองที่ภาษาดาราศาสตร์เค้าว่า ทำมุมเล็งลัคนากัน นั่นแหละครับ จะก่อให้เกิดความสมดุลกันระหว่างดีมานด์ ซัพพลาย และเป้าหมาย ซึ่งก็พยากรณ์ได้ว่า จะนำมาซึ่งความเจริญของชาตินั่นเอง
สามข้อเสนอแนะที่กล่าวมา จะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ไทยมีตัวตนรวมถึงมีจุดยืนที่ชัดเจน เรียกว่ามี “ของดี” ที่ถืออยู่ในมือ ถ้าจับได้ถูกที่ถูกจุด “ของดี” ที่ว่า อาจทำให้สังคมโลกต้องพึ่งพาเราจนนำไปสู่ความเกรงใจ และไม่แน่...ต่อไปนโยบายต่างประเทศ ไม่เว้นแม้แต่ของประเทศยักษ์ใหญ่ อาจจำเป็นจะต้องนั่งวิเคราะห์ถึงประเทศไทยก่อนออกนโยบายก็เป็นได้ ไทยจะได้ไม่ต้องคอยเป็นเรือเล็กที่มานั่งวิเคราะห์คลื่นลมกัน...ทุกๆ 4 ปี
แต่ที่สำคัญคือต้อง เริ่มคิด เริ่มทำ ไม่เช่นนั้นก็....เหมือนเดิม
ประเด็นสุดท้าย คือการ “พึ่งตนเอง” ซึ่งจะเป็นอีกหมัดเด็ดให้ไทยเอาตัวรอดได้จากคลื่นลม เก็บไว้เล่าต่อสัปดาห์หน้าครับ