ดูเหมือนว่ายิ่งพูด  ยิ่งสะท้อนว่า เพื่อไทย กับ ภูมิใจไทย นั้นไปกันคนละคีย์ แม้จะอยู่ในรัฐบาลผสมด้วยกัน แต่พรรคอันดับสอง อย่าง ภูมิใจไทย ที่มี 71 เสียงในมือ ไม่ยอมเอออไปตาม พรรคเพื่อไทย อย่างที่เห็น !


 ปัญหาว่าด้วยเรื่อง ที่ดิน แต่มาเกี่ยวพันกับ การเมือง  ก็ทำเอา สองพรรคในรัฐบาลเดียวกันเปิดหน้าแลกกันคนละหมัด ชิมลางความขัดแย้งไปพลางๆก่อนหน้านี้แล้ว 
 ทั้งเงื่อนปมที่ว่าด้วยที่ดิน เขาะกระโดง ที่จ.บุรีรัมย์ พัวพันถึงกลุ่มตระกูลชิดชอบ ปรากฏว่าข้อพิพาทระหว่าง กระทรวงคมนาคม กับกระทรวงมหาดไทย ยังไม่มีการมาเจรจาพูดคุยกัน เพื่อหาทางออกตามที่ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฏีกา ให้คำแนะนำเอาไว้ 


 ว่ากันว่านี่คือประเด็นที่พรรคเพื่อไทย หยิบขึ้นมาฟาดกลับพรรคภูมิใจไทย หลังจากที่ กระทรวงมหาดไทย ไปแตะ ที่ดินสนามอัลไพน์ ซึ่งมี  แพทองธาร ชินวัตร นายกฯ เกี่ยวข้องในลักษณะการรับมรดกมาจาก ผู้เป็นพ่อ 


 ล่าสุดยังพบว่า ปัญหาเดิมที่ว่าด้วยการทำ ประชามติ เพื่อเป็นเหมือนใบเบิกทาง ไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ อันเป็นหนึ่งในนโยบายที่พรรคเพื่อไทย ใช้หาเสียงมาโดยตลอด ก็ทำท่าว่า มีอันต้องสะดุด ! 


 เนื่องจากทำไป ทำมา การฝ่าด่านทำประชามติ ส่อแววว่า อาจจะไม่เกิดขึ้น โดยพรรคเพื่อไทย ชูศักดิ์ ศิรินิล รมต.ประจำสำนักนายกฯ ต้องงัดมาตรา 137  ตามรัฐธรรมนูญ 2560 เพื่อ กระตุ้น ให้ทุกอย่างเร่งเดินหน้า ให้มากกว่าที่ผ่านมา เนื่องจากเวลานี้อายุรัฐบาล ผ่านไปแล้วกว่า1 ปี และอาจกำลัง นับถอยหลัง  แต่ปรากฏว่า โอกาสและความเป็นไปได้ เรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ ยังวนกันอยู่ในห้องประชุมร่วมฯเท่านั้น 


 โดยชูศักดิ์ ยกเอา รัฐธรรมนูญมาตรา 137 วรรคท้าย ระบุว่าหากเป็นกฎหมายการเงิน ระยะเวลา 180 วัน ให้ลดลงเหลือ 10 วัน ผมมองว่ากฎหมายประชามติก็เป็นกฎหมายการเงิน เพราะต้องใช้งบประมาณในการทำประชามติ ตรงนี้จึงเป็นข้อกฎหมายที่ฝากไว้ให้คิดกัน ซึ่งพวกเราจะนำเรื่องนี้มาคิดด้วยและนำเสนอคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร (วิปรัฐบาล) ว่า ไม่จำเป็นต้องรอ 180 วัน 


 แต่ดูเหมือนว่า เรื่องดังกล่าวยังไม่ทันเข้าสู่การพิจารณาร่วมกันของ วิปรัฐบาล หรือฝากความหวังเอาไว้ว่า ฝ่ายค้าน จะสนับสนุน ปรากฏว่า อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจ ส่งสัญญาณ แรงชัดกลับมาทันทีว่า สำหรับพรรคภูมิใจไทยจะโหวตให้มีการทำประชามติ ใช้เสียง 2ชั้น ที่เกี่ยวข้องกับการแก้รัฐธรรมนูญ เพราะเป็นเรื่องสำคัญที่ประชาชนต้องตัดสินใจ  และหากแก้รัฐธรรมนูญไม่ทัน ก็ขอให้รอ สภาฯชุดหน้า 


 หมายความว่า ระหว่างพรรคเพื่อไทยกับภูมิใจไทย ตลอดจน สว.ที่อยู่ในปีกของ ภูมิใจไทย เองแบ่งกำลังออกเป็นสองฝ่าย แต่สัญญาณที่น่าสนใจ คือการบ่งชี้ว่า การแก้รัฐธรรมนูญ ที่เป็นเหมือน มรดกคสช. ยังคงอยู่ไปอีกยาว !