ปัจจุบันแม้ไม่อาจปฏิเสธการใช้ชีวิตที่เกี่ยวข้องกับสื่อสังคมออนไลน์ได้ ทั้งความสะดวกในการติดต่อสื่อสารทั่วไป ติดต่อทำธุรกิจ และเสพข้อมูลข่าวสารต่างๆ โดยมีข้อมูลว่าคนไทยมีผู้ใช้งานโซเชียลมีเดีย มากถึง 49.1 ล้านคนในปี 2567 เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ถึง 2.1%

แน่นอนว่าประโยชน์นั้นมีมาก แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า พิษภัยที่ตามมาก็มีไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นบรรดามิจฉาชีพที่ย้ายฐานปฏิบัติการในโลกออนไลน์ เกิดพฤติการณ์หลอกลวง ฉ้อโกงต่างๆ ที่ง่ายขึ้นและมูลค่าเสียหายมากขึ้น การกลั่นแกล้งออนไลน์ หรือบูลลี่ต่างๆ รวมทั้งโรคภัยต่างๆ เช่น วุ้นในตาเสื่อม แม้กระทั่งหน้าแก่ก่อนวัย หรือการนอนหลับยากขึ้น

ในด้านสภาวะจิตใจ ที่อาจเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้า เรื่องนี้ผู้เขียนขออนุญาตหยิบยกอาบทความจาก เพจ “รามาแชนแนล Rama Channel” โพสต์ข้อความระบุว่า “เชื่อหรือไม่? การให้ความสนใจเรื่องราวของผู้อื่นหรือใช้เวลาบนสื่อสังคมออนไลน์มากเกินไป อาจส่งผลกระทบต่อจิตใจของเราได้และอาจเป็นสาเหตุหนึ่งในการเสี่ยงเป็น "ซึมเศร้า" จากสื่อสังคมออนไลน์ แล้วเราสามารถสังเกตตัวเองและคนรอบข้างได้อย่างไรว่ามีโอกาสเสี่ยง "ซึมเศร้า"

จากการติดสื่อสังคมออนไลน์มากเกินไป

-การใช้เวลากับสื่อสังคมออนไลน์ใช้เวลาในแต่ละวันบนสื่อสังคมออนไลน์นานกว่าที่ตั้งใจไว้ โดยไม่เกี่ยวข้องกับการทำงาน ใช้เวลาจนส่งผลกระทบต่อการทำงานและความสัมพันธ์กับผู้อื่นใช้สื่อสังคมออนไลน์จนไม่ได้ทำกิจกรรมงานอดิเรกอื่นๆ

-ลักษณะการใช้สื่อสังคมออนไลน์เปรียบเทียบตนเองกับข้อมูลที่ผู้อื่นโพสต์ เช่น รูปร่าง ฐานะ ความเป็นอยู่ เป็นต้น

เข้าไปดูข้อมูลของผู้อื่นโดยไม่ค่อยโพสต์บนพื้นที่ของตนเองหรือกดไลก์ ใช้เพื่อจัดการอารมณ์ทางลบต่างๆ เช่น เศร้า โกรธ เบื่อ หรือเหงา
ใช้เพื่อรังแกหรือต่อว่าผู้อื่น

หากใครรู้สึกว่าตัวเองหรือคนรอบข้างมีโอกาสเสี่ยงซึมเศร้าจากสื่อสังคมออนไลน์ ลุงหมอขอแนะนำให้ปรับพฤติกรรมการใช้ให้ลดน้อยลง และลองหากิจกรรมต่างๆ ทำเพิ่มมากขึ้น เช่น การออกไปพบเจอเพื่อน ออกกำลังกาย หรือหางานอดิเรกที่ชื่นชอบ เป็นต้น หากไม่ดีขึ้นควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ”

กระนั้น ไม่ว่าจะเป็นสื่อสังคมออนไลน์ หรือแม้แต่กิจกรรมอื่นๆในชีวิตประจำวัน ก็ควรที่จะต้องมีการปรับให้สมดุล ไม่มาก ไม่น้อย ไม่ตึง ไม่หย่อนเกินไป เพื่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดี