ในสถานการณ์ที่รัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร เต็มไปด้วยกับดักตลอดเส้นทางนับแต่เริ่มต้นบริหารประเทศมา โดยมีเรื่องร้องเรียนทั้งต่อตัวนายกรัฐมนตรีเองและผู้เกี่ยวข้องที่อาจส่งผลกระทบถึง 20 เรื่อง
มีการคาดการณ์กันว่าในห้วงเดือนพฤศจิกายนนี้ คดีความต่างๆจะงวดเข้าและใกล้สู่ไคลแม็กซ์ ซึ่งอาจจะส่งผลต่อสถานะนายกรัฐมนตรี และผู้เกี่ยวข้องต่างๆ ที่หลายฝ่ายก็มองไปในทิศทางเดียวกันว่า ทิศทางอาจเป็นลบมากกว่าบวก
รายการเขย่าขวัญรัฐบาลแพทองธารออกมาไม่หยุดหย่อน จนทำให้มีการประเมินกันว่า รัฐบาลแพทองธารอาจจะไปไม่ได้รอด หรืออาจต้องใช้ “บันไดหนีไฟ”ยุบสภาหรือลาออก ที่เชื่อกันว่า การยุบสภาจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดที่นายกรัฐมนตรีเลือกตัดสินใจ
สำหรับการยุบสภา หอสมุดรัฐสภา ให้ความหมายเอาไว้ว่า “ยุบสภา (dissolution of parliament) หมายถึง การดำเนินการทางการเมืองเพื่อให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมดที่มีอยู่ในขณะใดขณะหนึ่งต้องพ้นจากสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไปพร้อมกัน โดยนายกรัฐมนตรีจะถวายคำแนะนำเพื่อให้พระมหากษัตริย์ทรงตราพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร อันเป็นผลให้สภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งปวงพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระเพื่อจัดการเลือกตั้งใหม่ และจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรขึ้นใหม่เป็นการเลือกตั้งทั่วไป การยุบสภาที่ว่านี้ใช้กับสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น โดยไม่เกี่ยวข้องกับวุฒิสภา
การยุบสภาผู้แทนราษฎรมีวัตถุประสงค์ที่สำคัญ 2 ประการ คือ
ประการแรก เป็นการถ่วงดุลหรือควบคุมฝ่ายนิติบัญญัติโดยฝ่ายบริหาร
ประการที่สอง เป็นการอุทธรณ์ข้อขัดแย้งต่อประชาชน เพื่อให้ประชาชนตัดสินปัญหาสำคัญโดยการแสดงออกผ่านทางการใช้สิทธิเลือกตั้ง
การยุบสภาผู้แทนราษฎรจะส่งผลให้สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลง รวมถึงการดำรงตำแหน่งของประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎรต้องสิ้นสุดลงด้วย (ตามบทบัญญัติมาตรา 101 (1) และมาตรา 117 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560) และรัฐมนตรีทั้งคณะต้องพ้นจากตำแหน่ง (ตามบทบัญญัติมาตรา 167 (2) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560)
ตามประวัติศาสตร์การเมืองของประเทศไทยมีการยุบสภามาแล้วจำนวน 14 ครั้ง ซึ่งครั้งแรกของประเทศไทยเกิดขึ้นในสมัยพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2481”(https://library.parliament.go.th/th/vocabularies )
อย่างไรก็ตาม คงต้องติดตามการแก้เกมการเมือง ว่าจะสามรถพลิกสถานการณืเพื่อประคับประคองรัฐนาวาไปได้ข้ามปีหรือไม่ หากรัฐบาลแพทองธาร เลือกที่จะต่อสู้ในกระบวนการตรวจสอบก็ย่อมเป็นผลดี แต่หากเห็นท่าไม่ดี ไปไม่ไหว การยุบสภาน่าจะเป็นทางออกที่ดีกว่าการลาออก โดยเป็นการคืนอำนาจให้กับประชาชนได้ตัดสินใจ และป้องกันการแทรกแซงจากการเมืองนอกระบบ
แต่ไม่ว่าจะตัดสินใจอย่างไร สิ่งที่ต้องเร่งเข็นออกมาก่อน ก็คือนโยบายเรือธง เงินหมื่นเฟส2 หากยังไม่ได้ผลักดันสิ่งนี้ออกมาก็เชื่อว่าจะกลับมายาก