วันศุกร์ที่ 15 พฤศจิกายน 2567 ขึ้น 15 ค่ำ เดือนสิบสองตามปีของไทย เป็น “วันลอยกระทง” เนื่องจากเป็นวันที่น้ำขึ้นสูงสุด เพราะเป็นคืนที่พระจันทร์เต็มดวงในฤดูน้ำหลาก ดังที่เราๆท่านๆ จะได้ยินเพลง “รำวังลอยกระทง”ที่คำร้องที่ติดหูว่า “วันเพ็ญเดือนสิงสอง น้ำก็นองเต็มตลิ่ง”
ผู้เขียนเกิดและโตมากับบ้านในสวนริมคลองบางยี่ขัน คราวน้ำท่วมใหญ่กรุงเทพมหานครในปี 2526 ปีนั้น น้ำท่วมยาวนานเป็นแรมเดือนคนบ้านอยู่ริมคลองนั้นได้รับผลกระทบเวลาน้ำขึ้นน้ำลง แต่ด้วยในวัยเยาว์ก็ไม่ได้รู้สึกอนาทรร้อนใจสักเท่าไหร่นัก
ตรงกันข้ามกลับมีแต่ความประทับใจประสาเด็ก ด้วยน้ำท่วมปีนั้น ได้หัดว่ายน้ำเป็นครั้งแรก และเฝ้ารอเวลาน้ำขึ้นเพื่อจะได้เล่นน้ำอย่างสนุกสนาน แม้บางคืนน้ำจะแทรกร่องไม้กระดานพื้นบ้านขึ้นมาจนเปียกเต็มหลังนอนไม่ได้ บางคืนก็มีงูแวะเวียนมาเป็น “แขกยามวิกาล” ขอแอบอิงไออุ่นที่ข้างมุ้ง หรือมาแอบขดตัวในตู้กับข้าว
ย้อนไปเทียบเคียงกับข่าวเก่าๆ ก็พบว่าในช่วงปีนั้นน้ำเริ่มท่วมตั้งสถานการณ์น้ำท่วมเริ่มขึ้นตั้งแต่ปลายเดือนสิงหาคม กันยายน ตุลาคม จนเข้าสู่เดือนพฤศิจิกายน สถานการณ์จึงค่อยดีขึ้นและกลับคืนสู่ภาวะปกติ แต่สำหรับคนที่อยู่บ้านริมคลองนั้น เดือนพฤศจิกายนแล้ว แต่บ้านเรายังคงมีน้ำเจิ่งนอง ลอยกระทงปีนั้นจึงได้ลอยกระทงกันที่ลานหน้าบ้าน
ภาพจำวันคืนเก่าๆ ย้อนมากับเทศกาลลอยกระทง แม้จะไม่ได้อยู่บ้านสวนริมคลองบางยี่ขันแล้ว และไม่แน่ว่าในวัยที่เติบโตเป็นผู้ใหญ่จะแบกรับความรู้สึกทุกข์ร้อน ที่ต้องเห็นบ้านเรือนถูกน้ำท่วมเสียหายแล้วยังมีคววามสุขสนุกสนานไปกับเทศกาลได้เหมือนในวัยเด็กหรือไม่
หลายปีมานี้ กระแสรักษ์โลก ส่งผลต่อเทศกาลลอยกระทง มีการปรับเปลี่ยนไปมากเพื่อให้ สามารถสืบสานประเพณีควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อม เป็นซอฟต์พาวเวอร์คุณภาพที่ดึงดูดการท่องเที่ยว สร้างรายได้และลดปริมาณขยะ
เราลอยกระทงกันด้วยความใส่ใจมากขึ้น เพื่อไม่ให้ความสุขในค่ำคืนเดียว ก่อความทุกข์ยาวนาน ด้วยการเลือกวัสดุลอยกระทง ให้เหมาะสมกับแหล่งน้ำที่จะไปลอย
เช่น เลือกวัสดุธรรมชาติ ย่อยสลายง่าย ไม่ว่าจะเป็นกระทงหยวกกล้วย ต้นกล้วย ใบตอง กระทงขนมปัง กระทงอาหารปลา หรือกระทงน้ำแข็ง นวัตกรรมและความคิดสร้างสรรเกี่ยวกับกระทงลดโลกร้อนมีมาเป็นลำดับ ที่สำคัญคือ ยังต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของตนเองและคณะด้วย หรือใครจะลอยกระทงออนไลน์อยู่บ้านก็ตามอัธยาศัย
สุขสันต์วันลอยกระทง