รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์
ที่ปรึกษาอธิการบดีมหาวิทยาลัยสวนดุสิต
การที่บุคลากรสวนดุสิตโพลเดินทางไปสังเกตการณ์การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ 2024 ทำให้ได้ความรู้ บทเรียนและประสบการณ์ที่น่าสนใจและมีคุณค่าอย่างยิ่งให้กับคนโพล และแน่นอนสำนักโพล เพราะนับตั้งแต่ที่ “โดนัลด์ ทรัมป์” ได้รับเลือกเป็นตัวแทนจากพรรครีพับลิกันให้เป็นคู่ชิงเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ 3 สมัย กับตัวแทนจากพรรคเดโมแครต ได้แก่ ฮิลลารี คลินตัน,โจ ไบเดน, และกมลา แฮร์ริส ในปี 2016 (2559) 2020 (2563) และล่าสุด 2024 (2567) ตามลำดับ ก็เกิดปรากฏการณ์ร่วมสำคัญที่เป็นไปในทิศทางเดียวกันคือ ผลโพลเกือบจะทุกสำนักโพลที่เผยแพร่ผ่านสื่อหลักต่างประเมินคะแนน ‘ทรัมป์’ หรือประเมินการสนับสนุนทรัมป์ต่ำเกินไป จนเกิดอาการสำนักโพลหน้าแตกเสมอกันด้วยเพราะ “โพลไม่แม่น”
ยุคทองของการทำโพลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วไปถือกันว่าอยู่ในช่วงกลางศตวรรษที่ 20 โดยเฉพาะช่วงระหว่างปี ค.ศ. 1940 (2483) ถึงปี ค.ศ. 1970 (2513) ยุคนี้การทำโพลถือเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพและเชื่อถือได้ในการทำความเข้าใจความคิดเห็นของประชาชน และยังได้รับความไว้วางใจและความแม่นยำอย่างกว้างขวางในการคาดการณ์ผลการเลือกตั้งและวัดทัศนคติของสังคม แต่ตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 21 ผลโพลเลือกตั้งต่างทำนายผิดหรือคาดเคลื่อนจากวันเลือกตั้งจริง ซึ่งอาการนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะการเลือกตั้งที่สหรัฐอเมริกาเท่านั้น!
เมื่อการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนตกอยู่ในภาวะวิกฤติ เนื่องจากผลโพลของสำนักโพลเรียกได้ว่าเกือบทุกแห่งพากันคลาดเคลื่อนจากของจริงซึ่งบางครั้งถึงกับพลิกหน้ามือเป็นหลังมือ ส่งผลให้ความน่าเชื่อถือของสำนักโพลถูกบั่นทอนลงไปมาก จึงยิ่งทำให้ประชาชนมีความเต็มใจลดน้อยลงไปอีกที่จะตอบแบบสำรวจโดยเฉพาะโพลช่วงการเลือกตั้งที่สำคัญ ๆ
เมื่อการทำโพลของสำนักโพลแบบเดี่ยว “Single Poll” หรือ “Stand-alone” กำลังถูกท้าทายทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย “Poll Aggregators” หรือเครื่องมือรวบรวมผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนจึงเป็นทางออกหนึ่งที่ได้มีการนำมาใช้มากขึ้นในหลายประเทศ เช่น สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส เยอรมนี แคนาดา ฯลฯ เพื่อช่วยให้ผลโพลถูกต้องและแม่นยำยิ่งขึ้น เนื่องจากเป็นแพลตฟอร์มที่รวบรวมข้อมูลโพล คำนวณค่าเฉลี่ย และวิเคราะห์ผลสำรวจทางการเมืองจากหลายแหล่ง เพื่อให้เกิดมุมมองที่ครอบคลุมมากขึ้นเกี่ยวกับความคิดเห็นของประชาชนในหัวข้อเฉพาะโดยเฉพาะการเลือกตั้ง แทนที่จะอาศัยผลสำรวจของสำนักโพลแห่งเดียวก็สังเคราะห์ข้อมูลจากหลายแหล่งเพื่อสร้างภาพรวมของแนวโน้มในช่วงเวลาต่าง ๆ ที่เสถียรและเชื่อถือได้มากขึ้น
Poll Aggregators คาดว่ามีจุดเริ่มต้นช่วงต้นทศวรรษที่ 2000 (2543) โดยการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ปี 2004 (2547)
และมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยมีความก้าวหน้าอย่างมากในปี 2008 (2551) ส่งผลให้มีรูปแบบที่มีความแม่นยำสูงผ่านแพลตฟอร์ม
ต่าง ๆ เช่น FiveThirtyEight (538), RealClearPolitics, The Economist และอื่น ๆ
Poll Aggregators กลายมาเป็นสิ่งจำเป็นในการพยากรณ์การเลือกตั้ง ช่วยแก้ไขปัญหาเฉพาะที่เกิดจากการสำรวจความคิดเห็นที่หลากหลายและดำเนินการบ่อยครั้งในสหรัฐฯ และยังตอบสนองต่อความต้องการที่เพิ่มขึ้นของประชาชนสำหรับข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับการสำรวจความคิดเห็นที่แม่นยำและเชื่อถือได้ เนื่องจากช่วยลดผลกระทบของข้อผิดพลาดในการสำรวจแต่ละครั้ง และยังเป็นตัวบ่งชี้ที่เสถียรขึ้นสำหรับผลลัพธ์การเลือกตั้งที่เป็นไปได้ อย่างไรก็ตาม Poll Aggregators ก็ยังต้องเผชิญกับความท้าทายเกี่ยวกับอคติในระบบและปัญหาเชิงวิธีการในองค์กร/สำนักโพลต่าง ๆ
ลักษณะการทำงานของ Poll Aggregators เริ่มจากการรวบรวมข้อมูลผลลัพธ์จากองค์กร/สำนักโพล โดยแต่ละแห่งอาจใช้วิธีการและเทคนิคการสุ่มตัวอย่างที่แตกต่างกัน จากนั้นจะต้องมีการถ่วงน้ำหนักการสำรวจความคิดเห็นของแต่ละครั้งโดยอิงจากความถูกต้องในอดีต ขนาดของกลุ่มตัวอย่าง และวิธีการ การสำรวจความคิดเห็นที่เชื่อถือได้มากกว่าจะมีน้ำหนักมากกว่าในค่าเฉลี่ยขั้นสุดท้าย แล้วจึงนำมาคำนวณหาค่าเฉลี่ยของการสำรวจความคิดเห็น โดยปกติแล้วจะมีการปรับเปลี่ยนเพื่อคำนึงถึงเวลาและแนวโน้มล่าสุด บางครั้งอาจต้องใช้แบบจำลองการถดถอยหรือเทคนิคทางสถิติขั้นสูงเพื่อปรับความผันผวนในระยะสั้นให้ราบรื่น และขั้นตอนสุดท้ายคือ การวิเคราะห์แนวโน้มเพื่อแสดงให้เห็นว่าความคิดเห็นของสาธารณชนเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรเมื่อเวลาผ่านไป ทำให้การตีความการเปลี่ยนแปลงของ
การสนับสนุนหรือความรู้สึกได้ง่ายขึ้น
การพัฒนาเครื่องมือต่าง ๆ ขึ้นใหม่สำหรับรับมือกับสภาพแวดล้อมใหม่เพื่อรองรับการทำโพลวันนี้และอนาคตมีจำนวนเพิ่มขึ้นซึ่งเครื่องมือทำโพลแทบทั้งหมดต้องการให้ผู้ตอบแบบสำรวจแต่ละกลุ่มประชากรเป็นตัวอย่างที่เป็นตัวแทนของทุกคนในแต่ละกลุ่มประชากร การทำโพลของคนโพลวันนี้เดินทางมาถึงทางแยกหรือหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญ (Polling at a Crossroads) และยิ่งมิจฉาชีพออนไลน์มากขึ้นเท่าใดการเก็บข้อมูลทำโพลก็จะยิ่งยากมากขึ้นเพราะ “กลัว”
สำนักโพลจะรักษาความน่าเชื่อถือต่อไปได้ก็ต้องก้าวข้ามอุปสรรคการทำโพลที่ไม่แม่นยำให้ได้ ปลดล็อกความกลัว ทวงคืนความน่าเชื่อถือของโพลกลับมาอีกครั้งให้เหมือนกับสโลแกนหาเสียงของทรัมป์ Make America Great Again! เป็น Make Poll Reliable Again! ครับ...