สถาพร ศรีสัจจัง
มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ไม่น้อยที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ชนชั้นปกครอง(โดยเฉพาะพระมหากษัตริย์ผู้ทรงอำนาจสูงสุด)ใน “ระบบศักดินาไทย” นั้นมีความ “ตื่นตัว” ต่อความเปลี่ยนแปลงของโลกยุคมีการ “ปฏิวัติอุตสาหกรรม” ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 7-18 ที่เกิดขึ้นพร้อมๆกับการ “ล่าอาณานิคม” ครั้งใหญ่ของชาติ “มหาอำนาจตะวันตก” (โดยเฉพาะอังกฤษ และฝรั่งเศส) ต่อประเทศแถบทวีปแอฟริกาและเอเชียในคริสต์ศตวรรษที่ 18 เป็นอย่างมาก และที่สำก็คัญคือสิ่งนี้เป็นไป “อย่างต่อเนื่อง” (มาโดยลำดับ) พอควรภาพลักษณ์ดังกล่าวฉายชัดให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรมมาตั้งแต่รัชกาลที่ 3 จนถึงรัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับ “ระบบศักดินานิยม” ใน “ราชอาณาจักร” ย่านเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็น เวียดนาม ลาว เขมร พม่า มลายา แม้แต่ประเทศหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก อย่างอินโดนีเซีย หรือฟิลิปปินส์
หลักฐานทางประวัติศาสตร์บอกเราว่า “สยาม” หรือ “ไทย” นั้นมีประวัติความสัมพันธ์กับชาติมหาอำนาจตะวันตก(ก่อนที่ประเทศในซีกโลกตะวันตกจะเกิด “การปฏิวัติอุตสาหกรรม” ) มาอย่างยาวนานพอควร คือมีมาตั้งแต่ยุคสุโขทัย สืบถึงอยุธยา ต่อมาจนถึงยุครัตนโกสินทร์ตอนต้น
ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชแห่งกรุงศรีอยุธยานั้น เป็นที่รู้กันโดยทั่วไปแล้วว่า มีความสัมพันธ์กับชาติตะวันตก(โดยเฉพาะฝรั่งเศส) สูงมาก
พระมหากษัตริย์สยามสมัยนั้นตื่นตัวและเรียนรู้ในการ “ปรับตัวปรับความคิด” เพื่อรับเอากระบวนทัศน์ และ เทคนิควิทยา (ที่ก้าวหน้าและทันสมัยกว่า) ต่างๆของ “ฝรั่ง” มา “ปรับปรน” เพื่อใช้ใน “การจัดการ” และ บริหารประเทศไม่น้อย
ทั้งยังเริ่มเรียนรู้วิธีการ “ต่อรองอำนาจ” ในด้าน “เศรษฐกิจการเมือง” อย่างเป็นรูปธรรมกับประเทศจักรวรรดิตะวันตกเหล่านั้นในหลายรูปแบบด้วยกัน
จากยุค “คบฝรั่ง” คือรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช จนถึงยุค “เสียกรุงครั้งที่ 2” คือ กรุงศรีอยุธยาต้องพ่ายศึกต่อ “อริราชศัตรู” คือพม่าในปีพ.ศ.2310 กินเวลาเพียงประมาณ 79 ปีเท่านั้น(พระบาทสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเสด็จสวรรคต พ.ศ.2231)
และพระเจ้ากรุงธนบุรีหรือพระบาทสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชซึ่งเป็น “ผู้นำ” ในการ “กู้ชาติ” ครั้งนั้น ก็ทรงใช้เวลา (ทั้ง “เตรียมการ” และ เข้าโจมตี “กวาดล้างขับไล่ข้าศึก”) สั้นๆ เพียงประมาณ 7 เดือนเท่านั้นเช่นกัน!
ดังที่ สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากรได้บรรยายสรุปถึงเรื่องนี้เอาไว้ตอนหนึ่งว่า
“…สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงยกกองทัพเรือจากจันทบุรีเข้ามาทางปากแม่น้ำเจ้าพระยา เข้าโจมตีข้าศึกที่เมืองธนบุรี ทรงยึดเมืองธนบุรีคืนได้และประหารนายทองอินคนไทยที่เป็นไส้ศึก แล้วจึงเคลื่อนทัพต่อไปที่กรุงศรีอยุธยา เข้ายึดค่ายโพธิ์สามต้น ปราบข้าศึกจนราบคาบ กอบกู้กรุงศรีอยุธยากลับคืนมาได้ เมื่อวันศุกร์ เดือน 12 ขึ้น 15 ค่ำ จุลศักราช 1129 ปีกุน นพศก เวลาบ่ายโมงเศษ ซึ่งตรงกับวันศุกร์ที่ 6 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2310 เวลาประมาณ 13.00 น. ใช้เวลา 7 เดือนหลังจากเสียกรุงศรีอยุธยา…”
ยุคกรุงธนบุรีเป็นราชธานี เป็นระยะสั้นๆ (เพียงประมาณ 15 ปี) แต่ก็มีความสัมพันธ์กับชาติตะวันตกอยู่บ้าง เช่น มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์บันทึกไว้ว่า ในปี พ.ศ. 2319 มีพ่อค้าชาวฮอลันดาจากเมืองปัตตาเวีย(คือจาการ์ตา)และแขกจากเมืองตรังกานูเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าตากสินเพื่อถวายปืนคาบศิลาจำนวน 2,200 กระบอก
ในส่วนของจักรวรรดิยมอังกฤษก็มีหลักฐานระบุว่า เมื่อปีพ.ศ.2319 ร้อยเอกฟรานซิส ไลท์ (Francis Light) ชาวอังกฤษที่เกาะปีนังซึ่งราชสำนักไทยติดต่อขอซื้อ “ปืนนกสับ” จำนวน 1,400 กระบอกได้เข้าเฝ้าพระเจ้ากรุงธนบุรีพร้อมเครื่องราชบรรณาการต่างๆ และในปีพ.ศ.2320 นายยอร์จ สแตร์ตัน ผู้สำเร็จราชการแห่งกรุงมัทราสในอินเดียได้ส่งสาส์นพร้อมกับดาบทองคำประดับพลอยมาถวาย เป็นต้น
กระทั่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงปราบดาภิเษกขี้นทรงราชย์เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2325 เป็นรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระองค์ทรงสถาปนาราชวงศ์จักรีขึ้นพร้อมกับทรงประกาศพระปฐมบรมราชโองการในปีพุทธศักราช 2328 ว่า “…พรรณพฤกษ ชลธี แลสิ่งของในแผ่นดิน ทั่วเขตพระนคร ซึ่งหาผู้หวงแหนมิได้นั้น ตามแต่สมณชีพราหมณาจารย์ราษฎรปรารถนาเถิด…”
พระราชปณิธานสำคัญยิ่งชุดหนึ่งของรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงตั้งพระทัยเมื่อขึ้นทรงราชย์ ปรากฏชัดในพระราชนิพนธ์เรื่อง “นิราศท่าดินแดง” ของพระองค์ อยู่ในรูปของบทกวีว่า “…ตั้งใจจะอุปถัมภก/ยอยกพระพุทธศาสนา/จะป้องกันขอบขัณฑสีมา/รักษาประชาชนแลมนตรี…”
เมื่อทรงราชย์และสถาปนากรุงเทพมหานครฯขึ้นเป็นราชธานีแล้ว พระองค์ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจเพื่อวางรากฐานบ้านเมืองให้มั่นคงยิ่งขึ้นนานัปการ ทั้งด้านอาณาจักรและศาสนจักร
ด้านความสัมพันธ์กับชาติตะวันตกนั้น ในรัชสมัยของรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ยังมีไม่มาก เพราะเป็นช่วงสะสางปัญหา และวางรากฐานประเทศ แต่พระองค์ก็ทรงพยายามที่จะสร้างสัมพันธ์ทางการค้ากับชาติตะวันตกให้มากขึ้น เช่น ทรงให้เจ้าพระยาพระคลัง(หน)เชื่อมสัมพันธ์ไปทาง “มาเก๊า” เพื่อเชิญให้โปรตุเกส เข้ามาค้าขายใหม่ รวมถึงพยายามเชื่อมสัมพันธ์กับฝรั่งเศสที่ถูกขับไล่ออกจากประเทศไปในยุคของพระเจ้าเอกทัศน์ตอนช่วงปลายของกรุงศรีอยุธยา เป็นต้น
ความสัมพันธ์กับชาติตะวันตกของ “สยาม” ยุคต้นรัตนโกสินทร์ ได้เริ่มขึ้นอย่างจริงจังและเป็นรูปธรรม ก็ต่อเมื่อบรรลุถึงรัชสมัยของล้นเกล้าฯรัชกาลที่ 3 คือพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นช่วงยามที่จักรวรรดินิยมตะวันตกเริ่มแผ่อำนาจเข้าสู่เอเซียอาคเนย์เพื่อ “ยึด” ประเทศต่างๆในแถบนี้ให้ตกเป็นอาณานิคมของตนอย่างเป็นรูปธรรมเข้าแล้ว!!