ร้อยเอก ดร.จารุพล เรืองสุวรรณ
อาจารย์ประจำคณะการทูตและการต่างประเทศ
มหาวิทยาลัยรังสิต
จากสัปดาห์ที่แล้วที่เรายังติดค้างกันอยู่สำหรับแนวทางในการสงวนท่าทีของไทยท่ามกลางสถานการณ์การเมืองโลกในปัจจุบัน ซึ่งเราได้พูดถึง 3 ประเด็น ได้แก่ 1) การส่งเสริมความร่วมมือทางการเมืองและเศรษฐกิจระดับภูมิภาค 2) การวางตัวบนหลักการ Smart Position และ 3) การเสริมสร้างความสามารถในการพึ่งพาตนเองในภาคเศรษฐกิจและพลังงาน สัปดาห์นี้มาว่ากันต่อถึงอีกสองประเด็นที่เหลือครับ
4. พัฒนาและส่งเสริมการทูตวัฒนธรรมเพื่อสร้างความเข้าใจและความสัมพันธ์ที่ดี
การใช้การทูตวัฒนธรรมเป็นเครื่องมือในการสร้างความสัมพันธ์กับประเทศอื่นเป็นสิ่งที่ประเทศไทยควรดำเนินการอย่างต่อเนื่อง การทูตวัฒนธรรมสามารถใช้ได้ทั้งในรูปแบบของการเผยแพร่วัฒนธรรมไทย เช่น อาหาร ศิลปะ และดนตรี ไปยังต่างประเทศ เพื่อสร้างความเข้าใจและเชื่อมความสัมพันธ์กับชุมชนในต่างประเทศที่หลากหลาย การทำเช่นนี้จะช่วยเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับประเทศ และอาจส่งผลให้เกิดความร่วมมือในด้านต่าง ๆ อันเป็นประโยชน์ในระยะยาว
นอกจากนี้ การพยายามสร้าง Soft power ของประเทศเป็นหนึ่งสิ่งที่ควรดำเนินการต่อให้สำเร็จ เพราะเป็นสิ่งที่ใช้เวลาในการปลุกปั้น ที่สำคัญที่สุดควรนำจุดแข็งของชาติมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นด้านวัฒนธรรม รวมไปจนถึงด้านการเกษตรที่เป็นจุดแข็งของชาติ เพื่อเป็นการสร้าง identity ของชาติที่สำคัญ และยังสามารถเป็นสิ่งที่ไทยสามารถ “มอบให้” กับประเทศต่างๆได้ในรูปแบบความช่วยเหลือ ซึ่งจะเป็นสิ่งที่เสริมภาพลักษณ์และจุดยืนของประเทศได้เป็นอย่างดี เรียกว่าใช้สิ่งเหล่านี้แหละครับ “รักษาจุดร่วมสงวนจุดต่าง” เพื่อรักษาผลประโยชน์ของชาติท่ามกลางการเมืองโลกที่ร้อนแรง
5. การรักษาจุดยืนด้านมนุษยธรรมและสิทธิมนุษยชน
ประเทศไทยควรสนับสนุนหลักการด้านสิทธิมนุษยชนและมนุษยธรรมในระดับสากลต่อไปอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างภาพลักษณ์ในฐานะประเทศที่เคารพหลักการสิทธิมนุษยชนในสายตาของนานาประเทศ
ประเด็นด้านมนุษยธรรมและสิทธิมนุษยชน เป็นหนึ่งประเด็นที่กล่าวได้ว่ายากจะเถียงหรือขัดแย้ง ไม่ว่าจะเป็นฟากฝั่งมหาอำนาจใดต่างก็ต้องสนับสนุนหลักการนี้ด้วยกันทั้งสิ้น เพราะเป็นหนึ่งในปทัสถานสากล (International Norm) ไปแล้ว ดังนั้น การวางตัวสนับสนุนและเป็นสมาชิกของโลกที่แข็งขันในด้านสิทธิมนุษยชนจึงควรทำอย่างยิ่ง พูดง่ายๆภาษาวัยรุ่นเรียกว่า “ไม่บ้งง่ายๆ” ยิ่งเราได้รับเลือกให้เป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติมาหมาดๆ เราจึงยิ่งต้องใช้โอกาสนี้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศ
นอกเหนือจากการสงวนท่าทีในด้านต่างๆแล้ว ประเทศไทยก็ควรปรับตัวต่อสถานการณ์โลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีใหม่ๆ ซึ่งแน่นอนว่าในยุคปัจจุบัน เมื่อกล่าวถึงเทคโนโลยีแล้วย่อมมีความเชื่อมโยงกับมิติของการทหารและความมั่นแทบทุกด้านไปพร้อมๆกัน
การที่โลกอยู่ในภาวะความร้อนแรงทางการเมืองเช่นนี้ ไม่มีใครตอบได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคต และแน่นอนว่าภัยคุกคามต่างๆเหล่านั้นอาจมาถึงไทยได้อย่างไม่รู้ตัว ดังนั้นการเตรียมความพร้อมทั้งทางด้านเทคโนโลยีและการทหาร ย่อมเป็นการ “กันไว้ก่อน” ที่น่าจะดีกว่า รอให้เกิดปัญหาแล้วจึง “ล้อมคอก”
ดังนั้น ประเทศไทยควร “เปิดกว้าง” และ “เปิดใจ” ต่อการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี และติดอาวุธทั้งภาครัฐและประชาชนให้มีศักยภาพในการเข้าใจ ใช้ และควบคุมเทคโนโลยีสมัยใหม่ให้ได้ ทำให้รู้เท่าทันเทคโนโลยี คว้าข้อดีมาใช้ประโยชน์ได้ในขณะเดียวกันก็รู้ทันข้อเสียและความเสี่ยง จนสามารถป้องกันได้ก่อนเช่นกัน
การเสริมสร้างความมั่นคงและความร่วมมือทางทหาร ก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยากในยุคที่สถานการณ์การเมืองโลกมีความตึงเครียด ประเทศไทยควรพัฒนาความมั่นคงของตนเองควบคู่ไปกับการเสริมสร้างความร่วมมือทางทหารกับพันธมิตรทางยุทธศาสตร์ในภูมิภาค การทำเช่นนี้จะช่วยเสริมสร้างขีดความสามารถในการรับมือกับภัยคุกคามที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต อย่างไรก็ตาม ควรหลีกเลี่ยงการทำให้มหาอำนาจมองว่าประเทศไทยกำลังเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเพียงฝ่ายเดียว
เอวัง