ทวี สุรฤทธิกุล
เรื่องนี้เกี่ยวกับชายคนหนึ่งที่ “ชื่อพม่า หน้าลาว เว้าเขมร” และ “ยิ่งใหญ่มาก ๆ” คนหนึ่ง
เขาคือ “เนวิน ชิดชอบ” ที่แม้จะประกาศว่าจะไม่มายุ่งเกี่ยวกับการเมืองอีกแล้ว ตั้งแต่ พ.ศ. 2555 แต่ว่าเมื่อถึง พ.ศ.นี้เขาก็ยังมีอิทธิพลในทางการเมืองอีกมาก และในความเชื่อส่วนตัวของผู้เขียน นายเนวินนี่แหละที่จะเข้ามาจัดการ “ควบคุม” การเมืองในช่วงเวลาต่อจากนี้ หากรัฐบาลอุ๊งอิ๊งมีอันเป็นไป
ถ้าไปอ่านประวัติของนายเนวินเองในวิกิพีเดีย ก็อาจจะรู้สึกน้อยใจอยู่บ้างที่มีเรื่องราว “ด่าง ๆ” ของเขาอยู่พอสมควร รวมถึงคนรุ่นใหม่ที่เผลอไปค้นข้อมูลจากวิกิพีเดียนี้ ก็อาจจะผะอืดผะอมกับสรรพคุณของเขาอยู่ในบางเรื่อง แต่ถ้าใครรู้จักตัวเขาดีแล้ว อาจจะต้อง “คิดใหม่” อย่างที่ผู้เขียนอยากใช้คำว่า “เหมือนเงาะซ่อนรูปอยู่ภายใน” แม้ว่าจะไม่ใช่ทองคำแท้ ๆ แต่ก็น่าจะมี “ค่า” หรือมีฤทธิ์มีเดชให้เห็นอยู่อีกมาก
นายเนวินเป็นลูกชายของนายชัย ชิดชอบ เป็นตระกูลการเมืองอย่างแท้จริง เพราะนายชัยเคยเป็นกำนันในตำบลอิสาณ อำเภอเมืองจังหวัดบุรีรัมย์ มาตั้งแต่หนุ่ม ๆ จากนั้นก็ลงเล่นการเมืองระดับชาติตั้งแต่ พ.ศ. 2500 ได้เป็น สส.เรื่อยมาในทุกครั้งที่ลงเลือกตั้ง นายเนวินเกิด พ.ศ. 2501 จึงเป็นลูกที่เกิดมาในยุครุ่งเรืองทางการเมืองของพ่อโดยแท้ ต่อมาใน พ.ศ. 2531 ก็ได้เดินตามรอยบิดาลงเลือกตั้งและได้เป็น สส. จากนั้นก็เป็น สส.มาอีกหลายสมัย รวมถึงรัฐมนตรีกระทรวงต่าง ๆ จนกระทั่งใน พ.ศ. 2551 นายชัยก็ได้เป็นประธานรัฐสภา ที่ถือว่าเป็นตำแหน่งสูงสุดของฝ่ายนิติบัญญัติ ในขณะที่นายเนวินก็กำลังรุ่งเรืองสูงสุด เป็นแกนนำของกลุ่มอิทธิพลในรัฐสภายุคนั้นที่เรียกว่า “กลุ่มเพื่อนเนวิน” แม้ว่าจะไม่มีตำแหน่งในคณะรัฐมนตรี ต่อมาใน พ.ศ. 2555 ก็ประกาศวางมือทางการเมือง โดยอ้างว่าจะมาทำงานด้านกีฬา คือการเป็นเจ้าของสโมสรฟุตบอลบุรีรัมย์ยูไนเต็ด ตลอดจนสนามแข่งกรังปรีซ์ระดับโลกในจังหวัดบุรีรัมย์นั้นด้วย อย่างไรนายเนวินก็ยัง “ทรงอิทธิพล” อยู่อย่างล้นเหลือ ที่นักการเมืองในยุคต่อไปก็ยังต้อง “พึ่งบารมี” ไปอีกระยะหนึ่ง
ผู้เขียนรู้จักกับนายเนวินมาตั้งแต่ พ.ศ. 2526 ตอนนั้นผู้เขียนทำงานเป็นเลขานุการของท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช หัวหน้าพรรคกิจสังคม โดยนายชัยบิดาของนายเนวินใน พ.ศ.นั้นก็เป็น สส.ในนามของพรรคกิจสังคมอยู่ด้วย ครั้งหนึ่งมีการเลือกตั้งซ่อมในเขตอิทธิพลของนายชัย พรรคกิจสังคมได้ให้นายชัดเป็นผู้รับผิดชอบดูแลการเลือกตั้งในส่วนหนึ่ง วันหนึ่งนายชัยได้เชิญท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ให้ไป “เยี่ยมบ้าน” ซึ่งแท้จริงแล้วคือฟาร์มเลี้ยงกุ้งก้ามกรามที่มีอาณาเขตนับร้อย ๆ ไร่ ตอนนั้นเป็นเวลาใกล้เที่ยง นายชัยได้ใช้เถียงนาหรือกระท่อมริมบ่อกุ้งเป็นที่รับรอง ในบ่อกุ้งมีหนุ่ม ๆ หลายคนกำลังลากอวนที่เต็มไปด้วยกุ้งตัวเขื่อง ๆ กระโดดสะท้อนแสงแดดระยิบระยับ สักพักหนุ่มร่างสูง ผิวดำเมี่ยม นุ่งเตี่ยวผ้าขาวม้าเพียงผืนเดียว เนื้อตัวเปียกชุ่ม ก็เอาตะกร้าใส่กุ้งมาให้ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ดู นายชัยก็แนะนำว่านี่คือลูกชายคนรอง ชื่อ “เนวิน” ต่อไปจะให้ลงสมัครเป็น สส. ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ลูบไหล่แล้วก็ให้พรว่า “ขอให้ยิ่งใหญ่เหมือนพ่อ” โดยใน พ.ศ. 2531 ก็ได้ลงเลือกตั้งและได้เป็น ส.ส.ในครั้งแรกในปีนั้น
นายเนวินเป็นผู้ริเริ่มก่อตั้ง “กลุ่ม 16” หลังการเลือกตั้ง ใน พ.ศ. 2535ที่ถือได้ว่าเป็นกลุ่มอิทธิพลทางการเมือง “แบบใหม่” เพราะเป็นการรวมตัวกันของ สส.รุ่นหนุ่ม (ในอดีตจะเป็นเรื่องของนักการเมืองอาวุโสไปรวบรวมคนรุ่นหนุ่มหรือ สส.ใหม่ ๆ เอามาเป็นพวก แต่กลุ่ม 16 มีแต่ สส.รุ่นใหม่ล้วน ๆ แต่เกือบทั้งหมดก็มี “เชื้อสาย” มาจากตระกูลการเมือง หรือมีอิทธิพลในท้องถิ่นอยู่แล้ว) ผลงานที่โด่งดังของ สส. กลุ่มนี้ก็คือการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลเกี่ยวกับที่ดิน ส.ป.ก. 4-01 ในปลายปี 2537 ถึงขั้นที่มีการยุบสภา พอมีการเลือกตั้งใน พ.ศ. 2538 พรรคชาติไทยชนะเลือกตั้งได้เป็นเสียงข้างมากและนำการจัดตั้งรัฐบาล นายเนวินก็ได้เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งถือว่าเป็นตำแหน่งที่มีอิทธิพลมาก รวมถึงเพื่อน สส.ในกลุ่ม 16 ก็ได้เป็นรัฐมนตรีกันหลายคน ก็ยิ่งทำให้นายเนวินดูมี “ออร่า” มาก ๆ
ในรัฐบาลชุดนั้น มีลูกศิษย์ของท่านอาจารย์คึกฤทธิ์คนหนึ่ง คือนายไพโรจน์ สุวรรณฉวี ได้เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ พี่ไพโรจน์อยู่ในกลุ่ม 16 ของนายเนวิน และมีความสนิทสนมกับผู้เขียนอยู่ด้วย เพราะเป็น “เด็กสวนพลู” เหมือนกัน (พี่ไพโรจน์เป็นลูกศิษย์โขนธรรมศาสตร์ที่ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ก่อตั้งขึ้นใน พ.ศ. 2509 จบแล้วได้ไปเป็นปลัดอำเภอ ในปี 2518 ที่ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เป็นนายกรัฐมนตรีจึงถูกเรียกตัวมาช่วยราชการเป็นสต๊าฟหน้าห้องที่ทำเนียบรัฐบาล) ได้ขอตัวผู้เขียนที่ทำงานอยู่ในมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ให้ไปช่วยราชการเป็นทีมงานหน้าห้อง ทำอยู่ได้สักพัก ในเดือนตุลาคม 2538 ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ก็ถึงแก่อสัญกรรม พอถึงเดือนธันวาคมมีพิธีพระราชเพลิง ผู้เขียนก็ลาออกมาบวชอุทิศเป็นกุศล “หน้าไฟ” ให้กับท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ จึงไม่ได้ช่วยงานที่กระทรวงพาณิชย์ให้พี่ไพโรจน์อีก แต่ในช่วง 3 - 4 เดือนที่อยู่ในกระทรวงนั้น ก็เคยประสานงานกับทีมงานและตัวรัฐมนตรีของกลุ่ม 16 นี้อยู่หลายเรื่อง จึงพอได้รับรู้ว่ากลุ่มนี้กำลัง “สร้างอิทธิพล” ทางการเมืองอย่างไร ซึ่งในทุกวันนี้ก็ยังทำอยู่เช่นเดิม นั่นก็คือการทำงานแบบ “1 แกน หลายขั้ว” ซึ่งจะได้อธิบายต่อไป
ก่อนที่จะได้อธิบายถึงการทำงานทางการเมืองของกลุ่มนายเนวิน ที่เรียกว่า “1 แกนหลายขั้ว” นั้น ก็ต้องขอบอกว่าเป็น “การคิดเอาเอง” ของผู้เขียนทั้งสิ้น ซึ่งความเป็นจริงนายเนวินอาจจะมียุทธวิธีที่ “ลึกซึ้ง” มากกว่าที่ผู้เขียนหรือใคร ๆ จะคิดไปถึงได้ก็ได้ แต่ที่ผู้เขียนได้สัมผัสมา รวมถึงกับปรากฏการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นอยู่นี้ ในความ “มากบารมี” ของนายเนวิน ผู้เขียนก็ยังเชื่อว่าน่าจะมีมูลความจริงอยู่พอสมควร
ที่สำคัญจากที่เคย “ด่างพร้อย” นายเนวินอาจจะล้างตัวเองให้ “สวยใส” ขึ้นแทนก็เป็นได้
ถ้าสัปดาห์หน้ารัฐบาลอุ๊งอิ๊งยังไม่เป็นอะไร ก็จะมาศึกษาเรื่องของนายเนวินนี้อีกสักนิด !