เสือตัวที่ 6
กระแสที่หนักหน่วงรุนแรงในช่วงนี้กรณี คดีตากใบ จังหวัดนราธิวาส ซึ่งหมดอายุความลง เมื่อ 25 ต.ค.67 ที่ผ่านมา โดยเป็นเหตุการณ์เมื่อ 25 ต.ค.47 เกิดจากการชุมนุมเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับผู้ถูกจับกุมจำนวน 6 คน และเมื่อสถานการณ์มีทีท่าว่าจะบานปลายไปสู่การก่อจลาจลชิงตัวผู้ต้องหา รัฐได้ใช้มาตรการควบคุมความสงบเรียบร้อยโดยการสลายการชุมนุม จนนําไปสู่การจับกุมผู้ประท้วงและมีผู้เสียชีวิตจำนวนหนึ่ง เป็นช่วงจังหวะของฝ่ายเห็นต่างจากรัฐที่สามารถสร้างกระแสการต่อต้านรัฐได้อย่างกว้างขวางและเข้มข้นมากขึ้นเป็นทวีคูณ โดยได้แนวร่วมจากหลายภาคส่วนทั้งที่ตั้งใจและไม่ได้ตั้งใจที่พยายามขยายบาดแผลของการที่พี่น้องในพื้นที่ปลายด้ามขวานแห่งนี้ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากรัฐ อันเป็นประเด็นหลักประเด็นหนึ่งในการที่ขบวนการร้ายแห่งนี้หยิบยกเป็นเงื่อนไขสำคัญในการปลุกระดม สั่งสมบ่มเพาะการเห็นต่างจากรัฐจนขยายตัวเป็นความคับข้องใจในการปฏิบัติของรัฐต่อพี่น้องประชาชนในพื้นที่จนกระทั่งเข้าร่วมขบวนการแบ่งแยกดินแดน 3 จังหวัดชายแดนใต้ที่ต่อสู้กับรัฐอย่างมีพลังต่อเนื่องยาวนาน
และกระแสของความคับข้องใจของมวลชนในพื้นที่จนเป็นกระแสต่อต้านรัฐก็ถูกเสริมพลังให้กล้าแข็งมากขึ้นจากกรณีที่ผู้ต้องหาซึ่งเป็นบุคคลระดับสูงถึงอดีตแม่ทัพภาคซึ่งรับผิดชอบหลักในการต่อสู้กับกลุ่มคนในขบวนการแบ่งแยกการปกครองจากรัฐได้หลบหนีไม่มาแสดงตัวต่อศาล ทำให้ขบวนการร้ายแห่งนี้ตลอดจนแนวร่วมทั้งหลายต่างใช้กรณีตากใบขยายภาพให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ตามข้ออ้างที่ว่าการต่อต้านรัฐของคนในพื้นที่แห่งนี้มีต้นเหตุหลักประการหนึ่งคือการที่คนในพื้นที่แห่งนี้ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากรัฐในหลายกรณี มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวาง การจับกุมคุมขังและอ้างไปถึงว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐบังคับให้สูญหายและมีการซ้อมทรมานพี่น้องที่ถูกจับกุมโดยไม่เป็นธรรม ซึ่งการอ้างถึงความเป็นธรรมที่รัฐไม่ได้หยิบยื่นให้ตลอดเวลาการต่อสู้ที่ผ่านมา จึงเป็นสาเหตุให้คนในพื้นที่รวมตัวกันต่อสู้กับรัฐด้วยอาวุธอย่างเป็นขบวนการ การก่อเหตุร้ายทำลายชีวิตผู้บริสุทธิ์และทรัพย์สินในวงกว้างจึงถูกขบวนการร้ายแห่งนี้ใช้เป็นข้ออ้างในการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมที่ใช้ความรุนแรงเป็นความชอบธรรมที่พวกเขาสามารถก่อเหตุร้ายได้ตลอดมา
หากแต่แท้ที่จริงแล้ว การสร้างกระแส และโหมกระแสการต่อต้านรัฐให้รุนแรงขึ้นเป็นทวีคูณนี้ เป็นความตั้งใจที่แกนนำขบวนการเจตนาจะหยิบยกการไม่ได้รับความเป็นธรรมจากรัฐมาสื่อสารให้สังคมรับรู้เพียงด้านเดียวด้วยลีลาการสร้างวาทกรรมอันเหนือชั้นของคนระดับนำของขบวนการ อาทิ วาทกรรมว่ากรณีตากใบที่ผ่านมานั้น เป็นการสังหารหมู่พี่น้องประชาชนในพื้นที่ที่มารวมตัวเรียกร้องความเป็นธรรมให้พี่น้องของพวกเขา การสูญเสียถึงชีวิตและการสูญหายของพี่น้องมุสลิมจำนวนมากในครั้งนั้นเกิดจากการกดขี่ข่มเหงและเป็นการเจตนาฆ่าพี่น้องประชาชนผู้บริสุทธิ์ การละเลยเพิกเฉยของกระบวนการยุติธรรมของรัฐตั้งแต่พนักงานสอบสวน อัยการ และศาลจนกระทั่งประชาชนต้องยื่นฟ้องต่อศาลโดยตรงด้วยประชาชนเอง ล้วนเป็นการบ่งบอกอย่างชัดเจนว่ารัฐไม่ได้ให้ความเป็นธรรมกับพี่น้องในพื้นที่ และล่าสุด การหลบหนีของจำเลยทั้งหมดจนกระทั่งหมดอายุความลงเมื่อ 25 ต.ค. ที่ผ่านมา เป็นสิ่งยืนยันชัดเจนว่ารัฐไม่จริงใจในการติดตามจับกุมผู้ต้องหามาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมของรัฐเอง ทั้งหลายทั้งปวงเหล่านั้นจึงถูกใช้เป็นปรากฏการณ์ให้คนในพื้นที่เห็นเชิงประจักษ์และกระตุ้นอารมณ์ความคิดให้ร่วมกันต่อสู้เพื่ออิสรภาพในการปกครองกันเองของคนในพื้นที่อย่างเต็มกำลัง
ในความจริงอีกด้านหนึ่งที่แกนนำสร้างมวลชนของขบวนการตั้งใจจะไม่กล่าวถึงคือ รัฐบาลในขณะนั้นได้เห็นถึงความสำคัญในกรณีนี้และต้องการให้ความเป็นธรรมต่อผู้ชุมนุม จึงตั้งคณะกรรมการอิสระสอบข้อเท็จจริงกรณีมีผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ตากใบ จังหวัดนราธิวาส โดยคณะกรรมการอิสระได้พิจารณาข้อเท็จจริงข้างต้นแล้วเห็นว่า การชุมนุมประท้วงที่หน้า สภ.ตากใบ ไม่ว่าจะเป็นพิจารณาข้อมูลเชิงพฤติกรรมของผู้ชุมนุมบางส่วนในขณะเกิดเหตุหรือหลังเกิดเหตุ เป็นการกระทำที่มีการวางแผนมาก่อนโดยคนกลุ่มหนึ่ง มีการจัดตั้งคล้ายกับการชุมนุมคัดค้านก่อนหน้านี้ โดยเคลื่อนไหวตามสถานการณ์ มีความมุ่งหมายที่กำหนดไว้แน่นอน การเรียกร้องให้ปล่อยตัว ชรบ. 6 คนนั้น เป็นเพียงข้อกล่าวอ้างเท่านั้น นอกจากนั้นยังพบว่า แกนนําผู้ชุมนุมดูเสมือนจงใจให้การชุมนุมเกิดขึ้นช่วงเดือนถือศีลอดของชาวไทยมุสลิม จงใจ ให้เกิดการยืดเยื้อ น่าจะมีเบื้องหลังมากกว่าการชุมนุมเรียกร้องตามปกติ เพราะมีการวางแผนยั่วยุเจ้าหนาที่ให้ใช้ความรุนแรงมากขึ้นเป็นลำดับ และการมาร่วมชุมนุมหน้า สภ.ตากใบ นั้น มวลชนจำนวนมากต่างได้รับข่าวลือที่มีผู้สร้างขึ้น บางกลุ่มมาเพราะคําชักชวนให้มาละหมาดฮายัดให้ ชรบ.ที่ถูกจับกุม หรือมาให้กําลังใจ ชรบ.หรือมาร่วมชุมนุมด้วยความอยากรู้อยากเห็น หรือมาช่วยกันชุมนุมเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ปล่อยตัว ชรบ.ที่ถูกจับกุมโดยข่าวลือว่าถูกจับกุมโดยไม่ได้รับความเป็นธรรม
และปรากฏข้อเท็จจริงสรุปได้ว่าเกิดเหตุจลาจล สถานการณ์รุนแรงมากขึ้น มีเสียงปืนดังขึ้นมาจากทางด้านผู้ชุมนุม ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจบาดเจ็บสาหัสหนึ่งนาย มทภ.4 ซึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจตามประกาศกฎอัยการศึก ใช้อำนาจสั่งสลายการชุมนุม โดยให้ ผบ.พล.ร.5 เป็นผู้ควบคุมการปฏิบัติตามหลักสากลในการใช้กําลังในการควบคุมฝูงชน หากแต่กระนั้น ก็เกิดการสูญเสียชีวิตผู้ชุมนุมขณะถูกควบคุมตัวขนย้ายมายังค่ายอิงคยุทธจำนวนมาก และตากใบก็ถูกใช้เป็นเงื่อนไขในการปลุกระดมความเกลียดชังรัฐอย่างได้ผลตลอดมา จนกระทั่งคดีตากใบหมดอายุความลง การช่วงชิงกระแสความชอบธรรมในการต่อสู้กับรัฐด้วยความรุนแรงจึงเกิดขึ้นอย่างทรงพลัง และสร้างกระแสการใช้ความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่เพื่อตอบโต้รัฐในกรณีตากใบได้อย่างชอบธรรม หากแต่กระแสความชอบธรรมในการต่อสู้เพื่อตอบโต้รัฐดังกล่าวก็ไม่ควรถูกใช้จากฝ่ายขบวนการในการเข่นฆ่าผู้บริสุทธิ์ ทำลายล้างฝ่ายตรงข้ามด้วยความรุนแรง ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดๆ ก็ตาม