รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์
ที่ปรึกษาอธิการบดีมหาวิทยาลัยสวนดุสิต
ปลายปีที่ผ่านมาเว็บไซต์ LeadingAge เปิดเผยว่าปัญญาประดิษฐ์ (AI) มีประโยชน์ต่อผู้สูงอายุ แต่คนรุ่นเบบี้บูมเมอร์และเจนเอ็กซ์กลับไม่ได้นำ AI มาใช้ (ร้อยละ 68) สำหรับเหตุผลหลักที่ไม่ใช้ AI เนื่องจากไม่แน่ใจว่าเทคโนโลยีนี้จะส่งผลต่อชีวิตอย่างไรบ้าง (ร้อยละ 88)
ยังไม่คุ้นเคยกับเทคโนโลยีนี้มากพอ (ร้อยละ 40) และบอกว่าเทคโนโลยีนี้ไม่มีประโยชน์ (ร้อยละ 32) อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยี AI นี้ ยังคงนับว่ามีศักยภาพในกลุ่มผู้สูงวัย ซึ่งผู้สูงวัยจะใช้ AI มากขึ้นเมื่อรู้จักเทคโนโลยีนี้มากขึ้น (ร้อยละ 70) เทคโนโลยีนี้ปลอดภัยมากขึ้น (ร้อยละ 64) และเทคโนโลยีนี้ผสานเข้ากับเทคโนโลยีที่ใช้อยู่แล้ว (ร้อยละ 45)
ในยุคสมัยที่ AI และเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของผู้คนมากขึ้น การเรียนรู้และใช้งานเทคโนโลยีเหล่านี้ไม่เพียงเสริมศักยภาพในโลกดิจิทัลสำหรับคนรุ่นใหม่เท่านั้น แต่ยังสามารถยกระดับชีวิตผู้สูงวัยให้สะดวกสบาย ปลอดภัย และเชื่อมโยงกับคนที่รักได้มากขึ้น "AI Sharing is Caring" ที่ OWL มหาวิทยาลัยสวนดุสิตมีเป้าหมายเพื่อให้ผู้สูงวัยได้เรียนรู้และใช้งานเทคโนโลยีอย่างมีประสิทธิภาพ เสริมสร้างความมั่นใจในการใช้งานเครื่องมือดิจิทัลที่ทันสมัย สามารถเข้าถึง AI ที่เป็นมิตรและปลอดภัย ตอบโจทย์ทั้งด้านการติดต่อสื่อสาร การเรียนรู้ การใช้งานในชีวิตประจำวัน และการป้องกันภัยคุกคามออนไลน์
ผู้สูงวัยควรฝึกใช้สมาร์ทโฟนและอินเทอร์เน็ตเพื่อทำให้สามารถเข้าถึงโลกดิจิทัลได้ง่ายขึ้น สมาร์ทโฟนที่รองรับ AI เช่น Siri, Alexa หรือ Google Assistant ช่วยให้ผู้สูงวัยได้รับประสบการณ์ที่ง่ายและเป็นมิตรโดยอาศัยการสั่งการด้วยเสียงในการโทรออก รับสาย ค้นหาข้อมูล หรือส่งข้อความถึงคนที่รักได้สะดวก การค้นหาข้อมูลด้านสุขภาพ การดูวิดีโอที่เป็นประโยชน์ หรือการเข้าถึงแหล่งความรู้ใหม่ที่ไม่เพียงแค่เพิ่มทักษะแต่ยังช่วยเสริมการดูแลสุขภาพใจและร่างกาย ยิ่งถ้าผู้สูงวัยสามารถใช้งานอินเทอร์เน็ตค้นหาข้อมูลที่เชื่อถือได้หรือการระวังเว็บไซต์ที่ไม่ปลอดภัยจะยิ่งทำให้ผู้สูงวัยรู้สึกมั่นใจและปลอดภัยยิ่งขึ้นเมื่อใช้อินเทอร์เน็ต
AI นำมาซึ่งความสะดวกสบายในการใช้งานเทคโนโลยีได้อย่างไม่คาดฝัน ผู้สูงวัยสามารถใช้ผู้ช่วยส่วนตัวอัจฉริยะ (Voice Assistant) โดยช่วยดูแลการเตือนการรับประทานยา เตือนให้ดื่มน้ำ หรือแม้กระทั่งการจัดกิจกรรมประจำวัน การใช้ AI ผู้ช่วยส่วนตัวสามารถลดความยุ่งยากในการพิมพ์ข้อความซึ่งเหมาะกับผู้สูงวัยที่อาจไม่ถนัดในการใช้จอสัมผัส อย่างไรก็ดีโลกทุกวันนี้การติดต่อสื่อสารไม่ได้จำกัดอยู่ที่การใช้โทรศัพท์หรือจดหมาย แต่รวมไปถึงการใช้แอปพลิเคชันเพื่อการสื่อสารเชื่อมโยงผู้สูงวัยเข้ากับครอบครัวและเพื่อนได้อย่างสะดวก เช่น Line, WhatsApp หรือ Facebook Messenger ที่มีฟังก์ชันการส่งข้อความ การโทรวิดีโอ หรือการส่งรูปภาพ
ดังนั้น ความปลอดภัยในโลกดิจิทัลก็เป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม เนื่องจากผู้สูงวัยอาจตกเป็นเป้าหมายของการหลอกลวงหรือการขโมยข้อมูลผ่านการส่งข้อความหรือลิงก์ที่อาจแฝงไวรัสหรือไวรัสมัลแวร์ ผู้สูงวัยควรรู้วิธีหลีกเลี่ยงการถูกหลอกลวง และมีความรู้เกี่ยวกับการระวังการให้ข้อมูลส่วนตัวหรือรายละเอียดการเงินผ่านออนไลน์ ซึ่งการไม่ตอบสนองต่อข้อความหรือการโทรที่ไม่แน่ใจ รวมถึงการปฏิเสธการคลิกลิงก์จากแหล่งที่ไม่รู้จักถือเป็นการป้องกันตัวเองที่ดี
อีกแง่มุมหนึ่ง AI สามารถเพิ่มคุณค่าให้ผู้สูงวัยคือ การแปลภาษาและการอ่านข้อความ เช่น แอปพลิเคชันแปลภาษาที่สามารถใช้เสียงในการแปลหรือตีความข้อความที่มีภาษาซับซ้อนหรือมีขนาดเล็ก ซึ่งช่วยให้ผู้สูงวัยที่มีปัญหาในการอ่าน หรือการเข้าถึงภาษาใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ การใช้งาน AI ในลักษณะนี้สามารถช่วยผู้สูงวัยให้รู้สึกว่าการใช้เทคโนโลยีไม่ยุ่งยาก และมีส่วนร่วมในชีวิตประจำวันได้มากยิ่งขึ้น
ในยุคที่ทุกอย่างเชื่อมโยงถึงกันออนไลน์ ผู้สูงวัยต้องเรียนรู้การตั้งค่าความปลอดภัยในบัญชีออนไลน์ด้วย เช่น การสร้างรหัสผ่านที่ปลอดภัย การเปิดใช้งานการยืนยันตัวตนแบบสองขั้นตอน (Two-Factor Authentication) หรือการเรียนรู้การสังเกตลิงก์ที่น่าสงสัยจะช่วยให้ผู้สูงวัยรู้สึกมั่นใจในการใช้งานโลกออนไลน์ การที่ผู้สูงวัยมีความรู้ในการปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลจะช่วยให้การใช้งานแอปพลิเคชันและเว็บไซต์ปลอดภัยและราบรื่นขึ้น นอกจากนี้ การสร้างความมั่นใจให้ผู้สูงวัยในโลกดิจิทัลสามารถเกิดขึ้นได้ผ่านการแนะนำแอปพลิเคชันที่เป็นประโยชน์ต่อการศึกษา ความบันเทิง เช่น การแนะนำภาพยนตร์ ซีรีส์ หนังสือ และการติดต่อสื่อสาร เช่น YouTube เพื่อรับชมวิดีโอหรือเรียนรู้ทักษะใหม่ หรือการเข้าถึงคอร์สออนไลน์ฟรีที่สามารถเพิ่มความรู้และประสบการณ์ใหม่ ๆ การมีแหล่งข้อมูลเหล่านี้ทำให้ผู้สูงวัยรู้สึกมีคุณค่าและสนุกสนานกับการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ
สำหรับแอปพลิเคชัน AI ด้านสุขภาพและการออกกำลังกายที่สามารถแนะนำกิจกรรมออกกำลังกายที่เหมาะสมกับสภาพร่างกายของผู้สูงวัย หรือแนะนำการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ การเข้าถึงเนื้อหาด้านสุขภาพและการออกกำลังกายแบบที่ปรับให้เหมาะกับแต่ละบุคคลนี้ จะช่วยให้ผู้สูงวัยดูแลตนเองได้อย่างมีคุณภาพและไม่รู้สึกว่าถูกจำกัดอยู่ในกรอบของวัยหรือสุขภาพอีกด้วย
"AI Sharing is Caring" ไม่เพียงแค่เป็นแนวคิดเพื่อส่งเสริมให้ผู้สูงวัยเข้าถึงเทคโนโลยีได้อย่างสะดวกและปลอดภัย แต่ยังสร้างโอกาสให้ผู้สูงวัยได้สัมผัสกับชีวิตดิจิทัลผ่านการใช้สมาร์ทโฟนและอินเทอร์เน็ต การเรียนรู้แอปพลิเคชันที่เป็นประโยชน์ และการใช้งาน AI ในชีวิตประจำวัน การมีทักษะด้าน AI ในผู้สูงวัยไม่เพียงแต่ช่วยให้เกิดความรู้สึกเชื่อมโยงกับคนที่รักและครอบครัว แต่ยังเป็นการช่วยสร้างความมั่นใจในตนเองให้แก่ผู้สูงวัยอีกด้วย