ท่ามกลางข่าวอาชญากรรมหลอกลวงลงทุนต่างๆที่อาศัยช่องโหว่ทางกฎหมาย หามาหากินแบบทำนาบนหลังคน ที่บางธุรกิจกลายเป็นเครือข่ายใหญ่โต ทั้งที่ไม่ได้ใหญ่จริงจากโครงสร้าง หากแต่เป็นการ “เล่นใหญ่” เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือด้วยเครื่องมือต่างๆ ดึงดูดผู้คนให้หลงตามกระแสที่สร้างขึ้น จนเดินเข้าสู่กับดัก

ภายใต้การสร้างวาทะกรรมป้องกันตนเองที่ว่า “โง่เอง” หรือ “โลภเอง”

ยิ่งในยุคที่เทคโนโลยีและโลกโซเชียลเข้ามาแนบสนิทชิดเชื้อกับวิถีชีวิตของคนไทยอย่างรวดเร็ว ชนิดที่ตื่นขึ้นมาก็ต้องไถฟีดในโทรศัพท์มือถือเป็นอันดับแรกก่อนจะลุกออกจากที่นอน นับแต่วิกฤติโควิดเป็นปัจจัยสำคัญ แม้ในปัจจุบันการค้าขาย ONSITE ดูเหมือนจะซบเซา แต่ใน ONLINE กลับคึกคัก มิจฉาชีพเปลี่ยนสถานที่ในการก่อเหตุเข้าไปในโลกออนไลน์มากขึ้นตามลำดับ

จากกรณีเครือข่ายสินค้าที่มีคนดังตกเป็นผู้ต้องหาร่วมด้วยนั้น พฤติการณ์ที่เป็นความผิดคือจุดประสงค์ไม่ใช่การ "ขายสินค้า" แต่คือการ “สร้างเครือข่าย” เป็นลูกโซ่ เริ่มจากที่คนตั้งใจมาเรียนการขายของออนไลน์ ที่กลายเป็นดาวน์ไลน์ในทันทีด้วยการซื้อของดิไอคอน โฆษณาให้ดิไอคอนเพื่อขายสินค้า และหากลงทุนไปเป็นจำนวนมากก็ต้องพยายามกู้ทุนคืนด้วยการหาคนมาเป็นดาวน์ไลน์ของตัวเอง แต่หากขายสินค้าไม่ออก หาลูกค้าไม่ได้ ก็จะกลายเป็นเหยื่อ ที่ผู้เสียหายถูกมองว่าทำธุรกิจไม่ประสบความสำเร็จเอง เจ้าของสินค้าไม่ต้องรับผิดชอบ ที่อาจเข้าข่ายลักษณะแชร์ลูกโซ่

ทั้งนี้ความผิดของกลุ่มคนเหล่านี้ ที่สุดแล้วก็อยู่ที่กระบวนการยุติธรรมจะสามารถก้าวตามทันและเอาผิดได้มากน้อยแค่ไหน

หากแต่ที่น่าสนใจคือระหว่างทาง นอกจากการพาดพิงไปถึงเจ้าหน้าที่รัฐและนักการเมือง ที่เป็น “เทวดา”คอยปัดเป่าให้เส้นทางของผู้กระทำการฉ้กฉลได้สะดวกสบายนั้น

ยังก่อเกิดกลุ่มบุคคลอีกกลุ่มหนึ่งที่มีการไปเจรจากับผู้กระทำผิดและเรียกทรัพย์สิน โดยอ้างว่านำเงินดังกล่าวไปเยียวยาให้กับเหยื่อแลกกับ “ความเงียบ” ที่ผ่านมา ทำนองว่าจบแล้วก็แล้วกัน

พฤติกรรมของคนเหล่านี้ เหมือนจะเป็น “ฮีโร่”  หรือ “นักบุญ” ที่เข้าไปช่วยเหลือคนเดือดร้อน  หากแต่ จะเข้าตำรา “โจรปล้นโจร” หรือไม่ ฝากตำรวจไทยช่วยกระเทาะให้ถึงแก่น