ร้อยเอก ดร.จารุพล เรืองสุวรรณ
อาจารย์ประจำคณะการทูตและการต่างประเทศ
มหาวิทยาลัยรังสิต
ทุกท่านครับ ปัจจุบันและอนาคตข้างหน้า เป็นที่คาดการณ์กันครับว่า ประเทศไทยกำลังจะเผชิญกับสภาวะ “สังคมสูงวัยขั้นสูงสุด” (Super-aged society) ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่ประชากรที่มีอายุมากกว่า 65 ปีมีสัดส่วนเกิน 20% ของประชากรทั้งหมด พร้อมๆกับอัตราการเกิดที่ต่ำลง เรียกง่ายๆว่า “ตายน้อย เกิดน้อย” นั่นเองครับ
ซึ่งการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรนั้นเป็นผลลัพธ์มาจากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็น ความก้าวหน้าทางการแพทย์ การเข้าถึงบริการสุขภาพที่ดีขึ้น รวมไปถึง คุณภาพชีวิตที่ต่ำลง ปัญหาสังคม ปัญหาเศรษฐกิจและอื่นๆ ที่ทำให้คนเกิดน้อยลง
หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องในประเทศไทย ได้คาดการณ์ว่า ภายในปี 2036 จะมีคนไทยกว่า 30% ที่จะนับได้ว่าเป็นผู้สูงอายุ ซึ่งจะส่งผลให้ประเทศไทยกลายเป็น “สังคมสูงวัยขั้นสุดยอด” หรือ “สังคมสูงวัยขั้นสูงสุด” อย่างเต็มรูปแบบ สอดคล้องกับรายงานของสหประชาชาติ ที่คาดว่าในปี 2040 ประชากรที่มีอายุมากกว่า 65 ปีในประเทศไทยจะมีสัดส่วนถึง 25% ของประชากรทั้งหมด ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยกลายเป็นหนึ่งในประเทศที่มีประชากรสูงอายุสูงที่สุดในโลก
แน่นอนครับว่า การเข้าสู่สังคมสูงวัยขั้นสูงสุดนี้ไม่ได้เป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงทางประชากร แต่ยังส่งผลกระทบเชิงระบบในหลายมิติ ทั้งทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคม นโยบายสาธารณะ ตลอดจนความมั่นคง อย่างมีนัยสำคัญ
ในด้านเศรษฐกิจ: สังคมสูงวัยขั้นสูงสุดส่งผลกระทบโดยตรงต่อกำลังแรงงานของประเทศ จำนวนประชากรวัยทำงานที่ลดลงและประชากรสูงอายุที่มีการพึ่งพิงสูงเพิ่มขึ้น อาจก่อเกิดแรงกดดันต่อระบบประกันสังคมและการใช้จ่ายของรัฐบาลในด้านสวัสดิการที่เพิ่มขึ้น ในขณะเดียวกันรัฐบาลอาจต้องแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานของประเทศ ด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง
ด้านสังคมและวัฒนธรรม: การดูแลผู้สูงอายุเป็นภาระที่เพิ่มขึ้นทั้งในระดับครอบครัวและสังคม ประชากรสูงอายุต้องการการดูแลพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องสุขภาพ กิจกรรมทางสังคม หรือการดูแลระยะยาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านสุขภาพจิตของผู้สูงอายุที่มีแนวโน้มจะรุนแรงมากขึ้นสืบเนื่องจากการเป็นครอบครัวขนาดเล็ก
ด้านนโยบายสาธารณะ: นโยบายสาธารณะอาจเป็นสิ่งหนึ่งที่ต้องได้รับการวิวัฒนาการให้สอดคล้องกับสภาพประชากรที่เปลี่ยนไป เพราะเป้าหมายของนโยบายสาธารณะคือการตอบโจทย์ประชาชนในสังคมให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ อย่างไรก็ดี เมื่อสภาพประชากรเปลี่ยนแปลงไปในรูปแบบของสังคมสูงวัยขึ้นสูงสุด การสร้างสมดุลระหว่างนโยบายสำหรับผู้สูงอายุที่มีมากขึ้นกับนโยบายสำหรับคนหนุ่มสาวที่มีความต้องการต่างกัน จะเป็นโจทย์ที่รัฐบาลต้องทำการบ้านอย่างหนัก
ด้านความมั่นคง: นี่อาจเป็นหนึ่งในหัวข้อที่น้อยคนจะพูดถึงเมื่อกล่าวถึงเรื่องสังคมสูงวัยขั้นนสูงสุด แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญและจะได้รับผลกระทบไม่น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาถึงการรับมือกับภัยคุกคามด้านต่างๆที่จำเป็นต้องใช้กำลังคน ซึ่งอาจจะประสบข้อจำกัดอันเนื่องมาจากโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนไป เมื่อคนหนุ่มสาวเกิดน้อยลง แต่มีผู้สูงอายุมากขึ้น เราอาจจำเป็นต้องวางแผนตั้งแต่วันนี้เผื่อให้สามารถปรับตัวรับกับสภาวะการณ์ในอนาคตได้ทัน แน่นอนครับ เรื่องนี้หนีไม่พ้น กองทัพ รวมถึงหน่วยงานที่รับมือกับภัยพิบัติต่างๆ การนำเทคโนโลยีเข้ามาทดแทนคนอาจเป็นสิ่งจำเป็นในแทบทุกด้าน
กล่าวโดยสรุปได้ว่า เพื่อให้ประเทศไทยสามารถปรับตัวกับสังคมสูงวัยขั้นสูงสุด รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องดำเนินการหลายด้านเพื่อรับมือกับความท้าทายที่เกิดขึ้น ตัวอย่างเช่น การส่งเสริมการออมเพื่อการเกษียณอายุและการลงทุนในกองทุนประกันสังคมเพื่อให้มั่นใจว่าผู้สูงอายุจะมีรายได้เพียงพอในวัยเกษียณ รวมไปจนถึงการสร้างระบบสนับสนุนสำหรับผู้ดูแลและการพัฒนาศูนย์การดูแลผู้สูงอายุ
การเพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่ดูแลและผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์เพื่อดูแลผู้สูงอายุอย่างทั่วถึงเป็นอีกหนึ่งมาตรการสำคัญ รัฐควรพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุ เช่น การสร้างเมืองที่เป็นมิตรกับผู้สูงอายุ รวมถึงการส่งเสริมกิจกรรมที่เสริมสร้างสุขภาพจิตและการมีส่วนร่วมทางสังคมเพื่อให้ผู้สูงอายุรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของสังคม
สุดท้ายครับ เราไม่สามารถหลงลืมอีกมิติหนึ่งของสังคมสูงวัยขั้นสูงสุดได้ นั่นคือมิติของการเกิดน้อยลง ดังนั้นประเทศไทยต้องการการวางแผนและการดำเนินการอย่างรอบคอบ โดยต้องคิดถึงอนาคตเป็นสำคัญ ว่าเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ความมั่นคงในอนาคตจะเป็นอย่างไร และจะต้องดำเนินการอย่างไรเผื่อให้สอดคล้องกับภาวะที่กำลังแรงงานจะลดน้อยลง การร่วมมือกันระหว่างภาคเอกชนและสังคมก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่อาจเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในการรับมือ
เอวัง