เสือตัวที่ 6
การสู้รบในเมียนมาครั้งใหญ่ในช่วงหลังนี้เป็นสงครามภายในครั้งใหญ่ที่สุดเท่ที่เคยมีมา ด้วยเป็นการสู้รบกันระหว่างกองกำลังทหารของรัฐเมียนมากับกลุ่มต่อต้านที่รวมตัวกันเป็นปึกแผ่นมากที่สุดเท่าที่เคยเกิดขึ้นภายใต้การสนับสนุนของมหาอำนาจโลกต่อทั้งสองฝ่าย ทำให้การสู้รบครั้งนี้มีความยืดเยื้อมาร่วม 2 ปี และสงครามในเมียนมาจะยังคงยืดเยื้อ อันจะส่งผลกระทบจนเป็นภัยคุกคามที่นอกจากจะเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของรัฐไทยในหลากหลายมิติแล้วยังจะเป็นภัยคุกคามความมั่นคงปลอดภัยอยู่ใกล้ตัวของคนไทยทุกคนอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก โดยจุดเริ่มต้นเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 27 ต.ค.2023 เมื่อกองกำลังติดอาวุธของทั้ง 3 กลุ่ม รวมตัวกันปฏิบัติการ 1027 เข้าโจมตีทั่วรัฐฉานเพื่อต่อต้านกองทัพเมียนมาของรัฐบาลกลางซึ่งรู้จักกันในอีกชื่อว่าทัตมาดอว์ (Tatmadaw) ด้วยการใช้กำลังพลร่วม 10,000 นาย จนกระทั่งกลุ่มพันธมิตรฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลเมียนมาสามารถยึดครองฐานปฏิบัติการของกองทัพเมียนมารวมทั้งสามารถยึดเมืองต่างๆ ได้หลายแห่ง โดยกลุ่มต่อต้านรัฐบาลทหารในสงครามครั้งนี้ ประกอบด้วย 1.กองทัพพันธมิตรประชาธิปไตยแห่งชาติเมียนมา หรือ เอ็มเอ็นดีเอเอ (Myanmar National Democratic Alliance Army-MNDAA) 2.กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติตะอาง หรือ ทีเอ็นแอลเอ (Ta’ang National Liberation Army-TNLA) ซึ่งอยู่ทางภาคตะวันออกของเมียนมา และ 3.กองทัพอาระกัน (Arakan Army – AA) จากภาคตะวันตกของเมียนมา
การรุกไล่ระหว่างกันของคู่สงครามที่ผ่านมาได้ส่งผลกระทบทางลบต่อไทยทีละน้อยจนแทบจะมองไม่เห็นผลร้ายที่กำลังเกิดขึ้นต่อประชาชนคนไทยทั้งประเทศที่ไม่ใช่เกิดขึ้นกับคนไทยตามแนวชายแดนเท่านั้น ผลกระทบต่อคนไทยที่ฝ่ายความมั่นคงของรัฐอาจมองข้ามด้วยคิดแต่เพียงมุมมองด้านการสู้รบและเป็นเรื่องความขัดแย้งภายในของประเทศเมียนมาเองทั้งที่การสู้รบเหล่านั้นย่อมส่งผลข้างเคียงจนเป็นภัยคุกคามใกล้ตัวที่มองไม่เห็น ในขณะที่รัฐมองและให้ความสนใจความมั่นคงในด้านอื่น สถานการณ์การสู้รบในเมียนมาก็เข้มข้นมากขึ้นทุกที โดยกลุ่ม MNDAA ได้รุกคืบไปยังเมืองล่าเสี้ยวซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของรัฐฉานและสามารถยึดเมืองไว้ได้ นอกจากนี้ พวกเขายังสามารถยึดศูนย์บัญชาการใหญ่ของกองทัพทัตมาดอว์ในเมืองล่าเสี้ยวได้ด้วย ซึ่งถือว่าเป็นความพ่ายแพ้ครั้งสำคัญเป็นครั้งแรกของศูนย์บัญชาการหลักต่อกลุ่มกบฏของรัฐบาลเมียนมา ในขณะที่กลุ่ม TNLA ก็รุกคืบจากรัฐฉานไปสู่ตอนกลางของประเทศ และกำลังเข้าใกล้เมืองมัณฑะเลย์ซึ่งป็นเมืองสำคัญที่ตั้งอยู่ใจกลางประเทศ เป็นเมืองใหญ่อันดับ 2 ของเมียนมาซึ่งมีประชากรมากถึง 1.5 ล้านคน แม้ว่าเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา กลุ่ม MNDAA ออกแถลงการณ์ระบุว่าจะไม่โจมตีเมืองมัณฑะเลย์ หรือเมืองตองจีซึ่งเป็นเมืองหลวงของรัฐฉาน โดยจะตกลงรับข้อเสนอหยุดยิงและยอมให้จีนเป็นตัวกลางในการสร้างสันติภาพระหว่าง MNDAA กับรัฐบาลทหาร ด้วยความต้องการที่แท้จริงของกลุ่มต่อต้านรัฐบาลเมียนมาก็คืออำนาจในการปกครองตนเองหรือความเป็นเอกราชของพวกเขาที่เป็นรูปธรรมมากกว่าเดิม ดังนั้น การรุกคืบมายังตอนกลางของเมียนมาจึงมีจุดมุ่งหมายสำคัญที่แท้จริงก็เพื่อกดดันให้รัฐบาลทหารตัดสินใจยอมจำนนและให้อิสรภาพในการปกครองกันเองของกลุ่มต่อต้านตามที่พวกเขาต้องการในที่สุด
และท่ามกลางสงครามภายในเมียนมาที่เกิดขึ้นมา 2 ปีกว่าแล้วนั้น ส่งผลให้ประเทศเมียนมาเกิดสูญญากาศในการบริหารจัดการบ้านเมืองที่รัฐไทยไม่สามารถประสานงานการเมืองใดๆ ได้อย่างสมบูรณ์อันเนื่องจากขาดความชัดเจนในอำนาจรัฐที่ยังไม่ชัดเจนว่าจะเป็นอำนาจรัฐที่แท้จริงของคนกลุ่มใด เหล่านั้นย่อมส่งผลกระทบที่เป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศที่มีอาณาเขตติดประเทศเมียนมาในหลากหลายมิติ อาทิ ปัญหายาเสพติดที่ทะลักเข้าไทยในปริมาณมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ด้วยกลุ่มผู้ผลิตยาเสพติดค่อนข้างมีเสรีในการผลิตโดยเฉพาะเขตรัฐฉานเหนือที่ติดกับประเทศจีน ซึ่งถือว่าเป็นแหล่งผลิตที่สำคัญ สืบเนื่องจากกำลังภาครัฐส่วนใหญ่ ยังอยู่ในภารกิจสู้รบกับกลุ่มชาติพันธุ์ติดอาวุธ ทำให้ในขณะนี้ ยาเสพติดเป็นภัยคุกคามต่อคนในสังคมไทยอย่างรุนแรงมากขึ้นจนน่ากังวล นอกจากนั้นการสู้รบในเมียนมายังส่งผลให้เกิดการหลบหนีเข้าเมืองของประชาชนในดินแดนเมียนมาเข้าสู่ประเทศไทยมากขึ้นเป็นทวีคูณ โดยหลบหนีภัยสงครามและความยากลำบากในการดำรงชีพ ผ่านตามช่องทางธรรมชาติมายังประเทศไทย เพื่อมาดำรงชีวิตแบบผิดกฎหมายในหลายรูปแบบ ทั้งแรงงานผิดกฎหมาย การลักลอบประกอบอาชีพโดยผิดกฎหมายอันส่งผลกระทบต่ออันตรายต่อสุขอนามัยในการบริโภคของคนในประเทศ รวมถึงการร่วมเป็นเครือข่ายในการค้ายาเสพติดซึ่งเป็นภัยคุกคามหลักประการหนึ่งของชาติในขณะนี้ การทะเลาะวิวาทและการก่ออาชญากรรมต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งปรากฏการณ์เหล่านั้นย่อมส่งผลกระทบจนเป็นภัยคุกคามที่อยู่ใกล้ตัวผู้คนในสังคมไทยอย่างน่าสะพรึงกลัว
ในขณะเดียวกัน สงครามในเมียนมาก็เกิดผลกระทบต่อระบบสาธารณะสุขของไทยมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดอันเกิดจากการทะลักเข้ามาของผู้ลี้ภัยสงครามในแผ่นดินเมียนมาที่มีมากขึ้นเป็นทวีคูณ อันเป็นภาระด้านสาธารณะสุขทั้งบุคลากรทางการแพทย์และยาเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ที่ต้องปฏิบัติการเพื่อมนุษยธรรมต่อผู้ลี้ภัยสงครามจำนวนมาก ตลอดจนเกิดความเสี่ยงที่จะเกิดโรคระบาดในบริเวณศูนย์ฯ ที่ให้ความช่วยเหลือ ซึ่งประเทศไทยต้องมีการจัดระเบียบระบบสาธารณสุขในค่ายมนุษยธรรมอย่างมีระบบ เพื่อไม่ให้ระบาดภายในประเทศ อย่างไรก็ตามก็เกิดการหลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมายของกลุ่มคนจำนวนมากที่ไม่ผ่านการตรวจคัดกรองโรคอันอาจเป็นกลุ่มผู้แพร่เชื้อโรคจนกระทั่งเกิดการระบาดโรคใหม่หรือโรคที่เคยหมดไปจากประเทศไทยไปแล้วกับประชาชนคนไทยในประเทศ เหล่านั้นคือผลสืบเนื่องจากการขาดเสถียรภาพในการปกครองประเทศ เกิดสูญญากาศในการบริหารจัดการบ้านเมืองของเมียนมาที่เกิดจากการสู้รบแม้เป็นความขัดแย้งภายในของประเทศเมียนมาเอง หากแต่ได้ส่งผลข้างเคียงจนเป็นภัยคุกคามใกล้ตัวประชาชนคนไทยและประเทศชาติโดยรวมที่รัฐจะมองข้ามไม่ได้