มีโอกาสไปร่วมงานแต่งงานงานหนึ่ง ซึ่งประธานในพิธีได้กล่าวให้พรคู่บ่าวสาว บางช่วงบางตอนได้เอ่ยชมคู่บ่าวสาวว่า “กล้าหาญ” ในการตัดสินใจแต่งงานใช้ชีวิตร่วมกัน ท่ามกลางเทรนด์ของคนรุ่นใหม่ที่มีแนวโน้มครองตนเป็นโสดสูง ในขณะที่อัตราการเกิดและการเสียชีวิตของประเทศไทยมีแนวโน้มมากกว่าการเกิด

ในช่วงปีที่ผ่านมา ตัวผู้เขียนเองมักได้ข่าวงานขาวดำ หรืองานศพ  ในขณะที่งานแต่งงานนี้เป็นงานแรกของปีที่ได้รับเชิญ

จากข้อสังเกตภาวะแวดล้อมส่วนบุคคล เมื่อไปดูข้อมูลอ้างอิงจากงานวิจัย ของนายสไตน์ เอมิล โวลล์เซ็ต นักวิจัยอาวุโสจากสถาบันเพื่อการวัดและประเมินผลด้านสุขภาพ (IHME) แห่งมหาวิทยาลัยวอชิงตันในเมืองซีแอตเทิล (สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (21 มี.ค. 67) ระบุว่า อัตราการเจริญพันธุ์ในเกือบทุกประเทศนั้นจะต่ำเกินกว่าจะสามารถรักษาระดับจำนวนประชากรภายในช่วงสิ้นคริสต์ศตวรรษนี้ แนวโน้มดังกล่าวจะนำไปสู่ความเหลื่อมล้ำของอัตราการเกิดทั่วโลก โดยประเทศรายได้ต่ำซึ่งมีแนวโน้มเผชิญความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจและทางการเมืองนั้นจะเผชิญภาวะ “เบบี้บูม” คือมีเด็กเกิดใหม่จำนวนมาก

ข้อมูลระบุว่า อัตราการเจริญพันธุ์ทั่วโลก (จำนวนบุตรโดยเฉลี่ยต่อผู้หญิง 1 คน) ลดลงจากประมาณเด็ก 5 คนในปี 2493 มาเป็น 2.2 คนในปี 2564 ในปี 2564 จำนวนประเทศและดินแดนต่าง ๆ ที่มีอัตราการเจริญพันธุ์ต่ำกว่าระดับทดแทนประชากรที่เด็ก 2.1 คนต่อผู้หญิง 1 คนนั้น มีจำนวนถึง 110 แห่ง คิดเป็น 54% ของทั้งโลก

งานวิจัยยังระบุถึงแนวโน้มที่น่าเป็นห่วงในประเทศอย่างเกาหลีใต้และเซอร์เบียที่มีอัตราการเจริญพันธุ์ต่ำกว่าเด็ก 1.1 คนต่อผู้หญิง 1 คน ส่งผลให้ประเทศเหล่านี้อาจเผชิญปัญหาแรงงานหดตัว

นอกจากนี้ นาตาเลีย ภัตตาชาจี หนึ่งในทีมนักวิจัยยังระบุว่า “เมื่อประชากรเกือบทุกประเทศลดลง การเปิดรับแรงงานต่างชาติจะมีความจำเป็นในการรักษาการเติบโตทางเศรษฐกิจ”

อย่างไรก็ตาม สำหรับประเทศไทย รัฐบาลเศรษฐา  ทวีสิน ได้มีนโยบายส่งเสริมการมีบุตรเป็นวาระแห่งชาติ  ในขณะข้อมูลจากสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย พบว่า ในช่วงครึ่งปีแรก ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 30 มิถุนายน พ.ศ. 2567 มีจำนวนเด็กเกิดใหม่ 221,933 คน

น่าจับตารัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร ที่เข้ามาสานต่อนโยบายจะขับเคลื่อนอย่างไร ภายใต้สถานการณ์ที่เทรนคนโสด และวิถีเพศที่เปลี่ยนแปลง ประกอบปับปัจจัยแวดล้อมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นความปลอดภัย ภัยพิบัติ ที่ถือเป็นโจทย์ของรัฐบาล