ทวี สุรฤทธิกุล

ถ้ารัฐบาลนี้ไม่มีอันเป็นไปเสียก่อน เราจะได้เห็น “อภินิหารแพทองธาร” อีกหลายชุด

การแจกเงิน 10,000 บาทแก่ประชาชนในลอตแรกที่แจกให้กับกลุ่มเปราะบาง ได้รับเสียงฮือฮาต้อนรับด้วยดีพอสมควร ที่น่าสนใจก็คือทำท่าว่าจะกลบกระแส “ก่นด่า” ของผู้ที่รังเกียจเงินนี้(ความจริงเกลียดระบอบทักษิณและนักการเมืองพวกนี้)ได้มากพอสมควรเช่นกัน โดยเฉพาะ “ความมหัศจรรย์” ที่สามารถจับเงินใบละ 1,000 เป็นปึก 10 ใบนั้น อย่างที่หลาย ๆ คนไม่เคยจับเงินก้อนใหญ่ขนาดนั้นมาเลยในชีวิต !

“ความมหัศจรรย์” นี้คือ “อภินิหาร” ที่เป็นเครื่องมือของผู้ปกครองไทยในการปกครองคนไทยมาหลายร้อยปีนี้ ซึ่งในอดีตผู้ทรงอำนาจในตำแหน่งพระมหากษัตริย์ได้ผลิตคิดค้นวิธีที่จะสร้างอภินิหารนี้มาในหลาย ๆ ยุค บางครั้งก็โดยพระปรีชาสามารถและบุญญานุภาพของพระมหากษัตริย์แต่ละพระองค์นั้นเอง แต่บางครั้งก็ด้วยการ “ดลบันดาล” หรือพึ่งพิงอำนาจของสิ่งศักดิ์สิทธิ์และเทวดาฟ้าดิน เพื่อให้เป็นที่เคารพยำเกรงของประชาชน รวมถึงความจงรักภักดี และสร้างพลังของความสมานสามัคคีต่าง ๆ จนเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองมาสู่ระบอบประชาธิปไตย คณะผู้ปกครองที่อ้างอำนาจประชาชนก็พยายามที่จะสร้างความเคารพยำเกรงและความจงรักภักดีนั้นด้วยเช่นกัน หนทางที่นิยมทำกันก็คือพยายามที่จะสร้าง “อภินิหาร” หรือ “ความมหัศจรรย์” ต่าง ๆ ให้ประชาชนได้เห็น นั่นก็คือทำสิ่งที่ประชาชน “ไม่เชื่อว่าจะทำได้ให้เป็นจริง” อย่างเช่นการแจกเงินในจำนวนที่ประชาชนหลาย ๆ คนไม่เคยได้รับหรือเคยได้จับต้องแบบที่รัฐบาลแพทองธารได้กระทำอยู่ตอนนี้

ผู้เขียนเกิดมาในยุคที่ประเทศไทยปกครองแบบเผด็จการ ซึ่งในระบอบเผด็จการนั้นสามารถสร้างอภินิหารต่าง ๆ ได้ง่าย เพราะมีอำนาจเด็ดขาด จะชี้เป็นชี้ตาย หรือทำอะไรก็ได้อยู่ในมือ อย่างที่ในยุคของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในตอนที่ผู้เขียนเติบโตมา รัฐธรรมนูญที่ทหารเขียนขึ้นใช้ ได้ให้อำนาจนายกรัฐมนตรีสามารถสั่งประหารชีวิตคนได้ ทำให้จอมพลสฤษดิ์ได้ชื่อว่าเป็นนายกรัฐมนตรีที่มีความเด็ดขาดเข้มแข็ง ผู้ร้ายทั้งหลายที่ชอบฆ่าคน ตีชิงยิงปล้น ชอบเผาบ้านเรือนและวางเพลิง หรือค้าเฮโรอีน กลัวจนหัวหด (แม้แต่เด็ก ๆ ในยุคนั้นถ้าร้องไห้ขึ้นมา แม่ ๆ หรือพี่เลี้ยงก็จะขู่ว่าจะเรียกจอมพลสฤษดิ์มาจับ เด็ก ๆ ก็จะเลิกร้องในทันที) พอผู้เขียนโตเป็นวัยรุ่นในยุค 14 ตุลาคม 2516 ที่นิสิตนักศึกษาเอาชนะทหารได้ พวกเราคนรุ่นใหม่ในยุคนั้นก็เคารพนับถือพวกนิสิตนักศึกษาเป็นอย่างมาก จนหลงระเริงใช้เสรีภาพเกินขอบเขต พาบ้านเมืองวุ่นวาย ชักนำให้ทหารเข้ามาปราบปรามในวันที่ 6 ตุลาคม 2519

หลายท่านคงจะจำอภินิหารหนึ่งในช่วงนี้ได้ นั่นก็คือ “เงินผันคึกฤทธิ์” ใน พ.ศ. 2518 - 2519 อันเกิดจากการวางนโยบายของพรรคการเมือง ที่อาจจะเรียกได้ว่าเป็น “พลิกผัน” (Disrupt) รูปแบบการทำงานของพรรคการเมืองในอดีต มาเป็นแนวทางของพรรคการเมืองยุคใหม่ เพราะไม่ได้เป็นนโยบายแบบ “เพ้อฝัน” แต่เกิดจากศึกษาวิจัยทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างถ่องแท้ จากผลงานของนายบุญชู โรจนเสถียร เลขาธิการพรรคกิจสังคม ผู้ได้ชื่อว่า “ซาร์เศรษฐกิจ” และได้ทำให้พรรคกิจสังคมเป็นพรรคการเมืองขนาดใหญ่อยู่ช่วงหนึ่ง ด้วยความนิยมไปทั่วประเทศ ด้วยสโลแกนของนโยบายนี้ที่เขียนว่า “เงินผัน ประกันราคาพืชผล ส่งเสริมสภาตำบล คนจนรักษาฟรี” ซึ่งได้ทำให้ปรากฏเป็นชื่อเสียงให้กับ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช หัวหน้าพรรคกิจสังคมนั้นมาอย่างยาวนาน นโยบายนี้นี่เองที่พรรคไทยรักไทยในยุค “ทักษิณครองเมือง” ตั้งแต่ พ.ศ. 2544 ได้นำมาใช้ “ครอบครองประเทศไทย” ที่เรียกในภาษาวิชาการว่า “นโยบายประชานิยม” ด้วยการปรับเปลี่ยนให้เข้ากับยุคสมัย ได้แก่ 30 บาทรักษาทุกโรค กองทุนหมู่บ้าน รถเมล์รถไฟฟรี และพักหนี้เกษตรกร แล้วก็มีการสืบทอดนโยบายแบบนี้มาจนถึงทุกวันนี้ อย่างที่มีการแจกเงิน 10,000 บาทนี้ ซึ่งตอนแรกคิดจะทำในรูปของเงินดิจิทัล ซึ่งมีขบวนการ “ยอกย้อน” มากกว่า แต่ก็ต้องปรับมาเป็นแจกเงินสด ที่ก็ยังมีปัญหาอยู่พอควร

ผู้เขียนคาดว่าพรรคเพื่อไทย(และระบอบทักษิณ)คงจะ “จ้อง” หาโอกาสที่จะนำนโยบายประชานิยมอื่น ๆ มาใช้อีก อย่างที่มีการคาดการณ์ว่าอาจจะเป็น “อภิมหาประชานิยม” เพื่อที่จะทำให้พรรคเพื่อไทยครองอำนาจต่อไปอย่างยาวนาน (โดยนายทักษิณ ชินวัตร ได้พูดไว้ ในการแสดงวิสัยทัศน์ออกสื่อเมื่อเดือนสิงหาคมนั้น) อย่างไรก็ตามก็คงจะไม่สามารทำได้โดยง่าย เพราะพรรคร่วมรัฐบาลอื่น ๆ ก็คงไม่ยอมให้พรรคเพื่อไทยชุบมือเปิบเอาง่าย ๆ รวมถึงสังคมคนไทยที่ “ฉลาดขึ้น” คอยจับตามองอยู่ทุกความเคลื่อนไหว

“การสร้างอภินิหารทางการเมือง” มีปัจจัยส่งเสริมอยู่ 2 อย่าง อย่างแรกคือความสามารถของเจ้าของอภินิหาร และอีกอย่างหนึ่งคือสถานการณ์หรือโอกาสที่เกื้อหนุน ทั้งนี้ในส่วนความสามารถของเจ้าของอภินิหารก็มีมุมมองได้ 2 ด้าน ด้านหนึ่งคือการสร้างอภินิหารเชิงบวก ที่เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมเป็นหลัก กับอีกด้านหนึ่งคืออภินิหารเชิงลบ ที่ทำขึ้นเพื่อประโยชน์ของตนเองและพรรคพวกบริวาร นั่นก็คือด้านแรกเป็น “การสร้างสรรค์” ส่วนอีกด้านนั้นเป็น “การคอร์รัปชัน” ส่วนในปัจจัยเรื่องสถานการณ์หรือโอกาสที่เกื้อหนุน ก็มีทั้งสถานการณ์ที่สร้างขึ้น อย่างที่เรียกในสมัยนี้ว่า “สร้างภาพ” ที่ในทางการเมืองเรียกว่า “สร้างบารมี” กับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเอง หรือตามผลการกระทำที่ได้ทำมา อย่างที่เรียกกันว่า “โชควาสนา” นั้น

นายกรัฐมนตรีแพทองธารไม่ใช่คนที่มีบารมีมาก บารมีที่มีอยู่ก็เป็นของพ่อแม่เสียมากกว่า ยิ่งในทางการเมืองยิ่งมีน้อย ถ้าจะมีก็คือมีอยู่ด้วยคนอื่นสร้างให้ ได้แก่คนในพรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาลนั่นเอง รวมถึงบารมีที่พยายามสร้างขึ้นด้วยการสร้างภาพในกิจกรรมต่าง ๆ อยู่เป็นระยะ แต่ถ้าพูดถึง “โชควาสนา” ก็ไม่แน่ใจว่าจะเป็นโชควาสนาที่ “ส่งเสริมเติมต่อ” ให้เจริญรุ่งเรือง หรือ “เซาะกร่อนบ่อนทำลาย” ให้เสียหายล่มจม เพราะเท่าที่ดูสถานการณ์ที่เธอได้เป็นนายกรัฐมนตรีมาเดือนกว่า ๆ นี้ ยังคงง่อนแง่นเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเรื่องร้องเรียนรอบด้าน ทั้งที่พุ่งตรงเข้ามาที่ตัวเธอเอง และที่กระจัดกระจายมาจากบริวารรอบด้าน รวมถึงสถานการณ์ที่ “อยู่ไม่ได้ - ไปไม่เป็น” บางเรื่อง เช่น การแก้รัฐธรรมนูญ การบำบัดภัยน้ำท่วม การแก้ปัญหาเศรษฐกิจ อย่างเรื่องการแจกเงิน 10,000 บาทนี้ด้วย

ยิ่งเรื่องการสร้างอภินิหารก็น่าจะเป็นเรื่องยากสำหรับคนที่มีสติปัญญาและความสามารถระดับ “หนูอิ๊ง” ยิ่งตอนนี้คนที่เป็นพ่อก็ออกอาการ “เกร็ง ๆ” ไม่กล้าออกมาเสนอหน้าเหมือนแต่ก่อน ก็คงจะต้องรอดูว่า “แม้วซ่อนเล็บ” จะแผลงฤทธิ์อะไรออกมาหรือไม่ เพราะถ้ามองไปที่โชควาสนาของลูกสาวตัวเองแล้ว ก็คงจะเสื่อมลง ๆ ทุกวัน

สำนวน “ไม่เจียมกะลาหัว” ไม่ได้ใช้เฉพาะคนที่ต่ำต้อยกว่าเท่านั้น แต่แม้แต่คนที่มีตำแหน่งสูง ๆ ก็ใช้ได้เช่นกัน ที่อาจจะเพิ่มอีกสำนวนหนึ่งได้ว่า “ไม่เจียมกะลาหัว ไม่เจียมตัวทั้งตระกูล”