ร้อยเอก ดร.จารุพล เรืองสุวรรณ
อาจารย์ประจำสถาบันการทูตและการต่างประเทศ
มหาวิทยาลัยรังสิต
กระแสหมูเด้งฟีเวอร์เป็นกระแสที่แรงมากๆจริงๆใช่ไหมครับช่วงนี้ เรียกว่าดังไปจนถึงเมืองนอกเมืองนา ดังกันข้ามโลก ถึงขนาดทีมบาสฯ NBA ยังเอาไปเล่นในโลกโซเชียล แล้วเราควรทำยังไงกันต่อ? ผมว่าได้เวลาที่เราจะต้องปั้นหมูเด้งกันแล้วล่ะครับ
ทำไมต้องปั้นหมูเด้ง? หมูเด้งก็ดังแล้วไม่ใช่หรือ?
ใช่ครับหมูเด้งดังแล้ว แต่อย่าลืมนะครับว่า ปัจจุบันหมูเด้งยังเป็นเด็กน้อยที่น่ารักอยู่ แต่อีกไม่กี่เดือนข้างหน้าหมูเด้งก็จะโตขึ้น ซึ่งเราก็น่าจะพอเดาได้ว่า ความน่ารักดุ๊กดิ๊กของฮิปโปเด็กก็จะหายไปตามการเติบโตของน้อง แต่กระแสที่เกิดขึ้นตอนนี้นี่สิครับ เป็นสิ่งที่น่าสนใจมากๆและน่าเสียดายอย่างยิ่งถ้ามันจะเลือนหายไปตามกาลเวลา
Joseph Nye ผู้คิดคำว่า Soft Power ได้บอกไว้ว่า 2 ปัจจัยสำคัญที่จะช่วยผลักดันให้สิ่งใดสิ่งหนึ่งกลายเป็น Soft Power ได้ คือ Popularity หรือ “ความปัง” และ Universal value หรือ “คุณค่าที่เป็นสากล” นั่นหมายความถึงสิ่งที่ได้รับความนิยมชมชอบในวงกว้างและมีความเป็นสากลที่คนทุกชาติทุกภาษาเข้าใจ นี่จึงเป็นเหตุผลให้หลายประเทศ เช่น ญี่ปุ่น หรือเกาหลีใต้ เน้นผลักดันตัวการ์ตูนน่ารักๆต่างๆให้ปัง เพื่อจะได้ผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจและความนิยมชมชอบในประเทศของตน จนกลายเป็น Soft power ชนิดหนึ่งนั่นเอง
ทำไมเขาถึงผลักดันตัวการ์ตูน? เหตุผลง่ายๆครับ เพราะ “ความน่ารัก” คือสิ่งที่เป็น “สากล” อย่างที่สุด ซึ่งถ้าสังเกตตัวการ์ตูนที่ดังๆของญี่ปุ่น จะพบว่าเขาเน้นความน่ารักเป็นอันดับแรก ไม่ได้เน้นวัฒนธรรมเหมือนบ้านเรา ทำให้การทำความเข้าใจ มันง่ายมาก เอาเป็นว่า เห็นแล้วร้อง งู้ยยยยยย ถือว่าผ่าน
หันกลับมาดูหมูเด้งครับ ณ วันนี้ ต้องบอกว่า หมูเด้ง มีปัจจัยที่กล่าวมา “ครบถ้วนสมบูรณ์”ความเป็นฮิปโปเด็ก คือสิ่งที่น่ารักกกกกกก และเข้าใจได้ง่ายมาก คนทั่วโลกไม่ว่าจะพูดภาษาอะไร มีวัฒนธรรมอย่างไร เห็นคลิปไปก็ร้อง งู้ยยยยย กันได้ทุกคน โดยไม่ต้องมานั่งอธิบาย นี่คือสิ่งที่บอกว่า หมูเด้งมีความน่ารักที่เป็นสากล นอกจากนี้ยังมีกระแสความดังที่ไปไกลทั่วโลกอีกด้วย
หมูเด้งจึงเป็นตัวอย่างที่ดีมากๆในการปั้น Soft power ให้มีคุณค่า ซึ่งบางครั้งเราอาจไม่จำเป็นต้องผูกติดมิติด้านวัฒนธรรมไว้ตลอดเวลา เพราะบางครั้ง มันอาจจะยากที่จะเข้าใจ ในสายตาคนอื่น เรียกว่า มีคุณค่าความเป็นสากลไม่มากพอนั่นเอง
ซึ่งหลักการนี้ก็สามารถนำมาใช้กับการพัฒนา soft power จากสิ่งอื่นๆได้เหมือนกัน โจทย์คือ ทำอย่างไรให้ “ปัง” และ “มีคุณค่าสากลที่คนเข้าใจง่าย”
กลับมาที่หมูเด้งกันต่อ อย่างที่บอกไปครับว่า ความน่ารักของหมูเด้งอาจจะอยู่กับเราไม่นาน และอาจถูกลืมเลือนไปตามกาลเวลา เราจึงต้องคว้าโอกาสในการปั้น soft power ชิ้นโบแดงนี้ให้ได้ ดังนั้น โจทย์ของเราคือ ทำอย่างไรที่จะให้หมูเด้งเป็นดาวค้างฟ้า ยังเป็นฮิปโปเด็กที่น่ารักอยู่ตลอดไป?
คำตอบคือ เราต้องรีบ “ปั้น” หมูเด้ง ด้วยวิธีการสร้างมูลค่าทางศิลปะครับ ให้หมูเด้งคงความเป็นเด็กไปตลอดการบน Art Toy ก็ดี ตัวการ์ตูนหมูเด้งก็ดี หรืออี่นๆ ที่สำคัญที่สุดครับ เมื่อทำดีไซน์ออกมาแล้วต้องรีบทำ “ลิขสิทธิ์” เพื่อให้หมูเด้งในภาคศิลปะมีคุณค่า มีตัวตน ไม่สามารถถูกเคลมได้ และสร้างรายได้ต่อไปได้ในอนาคต
เมื่อมีลิขสิทธิ์ ก็สามารถนำไปขยายผลต่อได้อีกมากมาย เช่น ทำสินค้า merchandise หรือสินค้าพรีเมียม รวมถึงสินค้า limited edition ที่สามารถจับมือกับแบรนด์ต่างๆได้ จุดนี้แหละครับ คือจุดที่เราจะได้ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจเข้าสู่ประเทศอย่างเป็นกอบเป็นกำ นึกภาพ Hello Kitty เป็นตัวอย่างนั่นแหละครับ ไม่ว่าใครจะอยู่ที่ไหนบนโลก ถ้าซื้อตุ๊กตา Kitty สักตัว ก็จะมีสิ่งที่เรียกว่า “ค่าลิขสิทธิ์” ลอยกลับไปยังญี่ปุ่นทั้งสิ้น
ตีเหล็ก ก็ต้องตีตอนร้อน ฉันใด ปั้นหมูเด้ง ก็ต้องปั้นตอนดังแบบนี้ ฉันนั้นแหละครับ
ในอนาคต (หวังว่าอันใกล้) เราจะได้มีตุ๊กตาหมูเด้ง กล่องจุ่มหมูเด้ง หรือแม้แต่เห็นหมูเด้งไปอยู่บนผลิตภัณฑ์ระดับโลก ให้ค่าลิขสิทธิ์ลอยกลับสู่ประเทศไทยบ้าง ซึ่งนั่นแน่นอนว่าจะนำเราไปสู่การท่องเที่ยวและเศรษฐกิจอื่นๆตามมา แถมได้ soft power ที่มีพลังโน้มน้าวให้คนมาสนับสนุนผลประโยชน์ของชาติไทยอีกด้วย
แต่ ณ จุดนี้ ต้องรีบครับ ก่อนที่น้องจะโต อย่าเพิ่งไปมองแต่มุมของการท่องเที่ยวในปัจจุบันเพียงอย่างเดียว เพราะมันอาจจะอยู่ไม่นานและไม่ยั่งยืนครับ
งานนี้ เอกชน หรือ ภาครัฐ สามารถลงมือได้หมดครับ ภาคเอกชนไหนสนใจ ลุยได้เลยครับ ผมก็หวังว่า บทความนี้จะไปถึงภาครัฐและเอกชนที่สนใจนะครับ
สุดท้ายนี้ ก็ขอให้หมูเด้งดังๆไปกว่านี้อีกหลายร้อยเท่า และเป็นดาวค้างฟ้าให้ประเทศไทยให้ได้นะจ๊ะ เจ้าหมูน้อย
เอวัง