สถาพร ศรีสัจจัง

“นายผี” หรือ ท่านอัศนี  พลจันทร กวี นักวิชาการ และ นักปฏิวัติสังคมคนสำคัญของไทย เมื่อครั้งรจนาบทกวีขนาดยาวเรื่อง “ความเปลี่ยนแปลง” ทำนองเล่าถึง “ประะวัติชาติตระกูล” เพื่อยืนยันถึง “พัฒนาการทางความคิด” ว่าได้ “หล่อหลอม” ตัวเองจนสามารถ “ปลดปล่อยความคิด” หรือ “รูปการจิตสำนึก” จาก “ชนชั้น” ที่สังกัด คือชนชั้นที่เรียกว่า “ขุนนางศักดินา” ซึ่งเป็นคนส่วนน้อยของสังคม มาร่วมกับ “ชนชั้นกรรมาชีพ” (ในที่นี้คงหมายถึง “กรรมกร และ ชาวนา” ) ซึ่งเป็นคนหมู่มากของสังคมไทย

คงเพื่อให้แจ่มชัดเกี่ยวกับการเกิดขึ้นของระบบ “ศักดินา” ในสังคมไทย “นายผี” นักวิชาการผู้ทรงความรู้ และ แหลมคมจึงเขียนโยงไปถึงประวัติศาสตร์เก่าแก่ของดินแดนที่เรียกว่า “รัฐไทย” ในปัจจุบันว่ามีพัฒนาการผ่านอะไรมาบ้าง

นั่นเองคำ “ศรีเทพ” จึงได้รับการอรรถาธิบายอย่าง “ให้ความสำคัญ” ยิ่งในแง่นี้ “นายผี” น่าจะเป็นนักวิชาการไทยคนแรกๆคนหนึ่ง ที่ระบุถึงความ “ยิ่งใหญ่” ของเมือง “ศรีเทพ” ในอดีต (เขียนถึงเรื่องนี้ตั้งแต่พ.ศ.2495) ว่าเป็น “ต้นตอ” สำคัญของแผ่นดินนามว่า “ทวารวดี”

แม้การเขียนครั้งนี้ “นายผี” เพียงต้องการจะโยงให้เห็นว่า  เมือง “ราชบุรี” ที่ในเรื่อง “ความเปลี่ยนแปลง” ถูกขานถึงในนาม “ราชพรี” ที่เป็น “บ้านเกิด” ของ “พระยาพล” หรือ “นายจันทร” ต้นเค้าคนสำคัญของตระกูล พลจันทร นั้น เกิดขึ้นร่วมยุคกับเมือง “ศรีเทพ” เช่นเดียวกับเมืองนครปฐม เมือง “อู่ทอง” (สุพรรณบุรี) และ “ลวปุระ” หรือ ลพบุรี!

ซึ่งในยุคปัจจุบันมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ โบราณคดีมากพอที่จะยืนยันได้แล้วว่าเมืองชื่อเหล่านี้ ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของ “บ้านเมือง” ที่ร่วม “วัฒนธรรม” แห่งแผ่นดิน “ทวารวดี” !

“นายผี” เขียนถึงเรื่องนี้ไว้อย่างไรบ้าง…

ขอยกตัวอย่างบทกวีที่เกี่ยวข้องกับเมือง “ศรีเทพ” โดยตรง จากเรื่อง “ความเปลี่ยนแปลง” มาให้ดูก็แล้วกัน จะได้เห็นชัดๆว่า “นายผี” มองเมือง “ศรีเทพ” (ในห้วงเวลาที่ยังไม่ค่อยมีใครสนใจกันอย่างจริงจังมากนัก)อย่างไรบ้าง

ท่านเขียนไว้ดังนี้

“…แผ่นพื้นสุพรรณภูมิ/สุรภาพอึงอล ขุนขอมกำแหงรณ/ธรังรักษ์ด้วยฤทธา เกลี่ยพื้นพระธรณี/ให้ราบเรียบภิรมยา ยกกรุงตระการกา-/ละกระโน้นก็นานครัน คราราชัยเรืองศรี/ผินับปีก็เป็นพัน ท่าวปัจจุบันอัน/อดิเรกเรืองรอง…

                       ……………………………………………

…ศรีเทพนครขอม/กำแพงกรอมชากังราว เดชงำถึงกรุงงาว/แสสร้างศรีสุโขทัย สร้างพระนครธม/จำปาศักดิ์เสริมขัย พิมายพิมานไพ-/จิตรวัดพนมวัน ไชยาผชุมเชิญ/ชวาขุนมาคุยกัน เขื่อนคูให้ครบครัน/สำหรับแขกมายังคม ขึ้นอ่าวอำรุงรัง/พระประโทนประทมสม เด็จท้าวธชายชม/พิชิตทั่วนครไท…"

นอกจาก “นายผี” จะบอกว่า “ขุนขอมกำแหงรณ” จะสร้าง “ศรีเทพ” ขึ้นใน “แผ่นพื้นสุพรรณภูมิ” แล้ว ความที่ยกมา ยังระบุถึงความยิ่งใหญ่ของ “เมืองศรีเทพ” อย่างเห็นภาพลักษณ์ เฉพาะชื่อ “เมือง” และ “โบราณสถาน” ซึ่ง “บารมี” ของ “ศรีเทพ” เข้าไปเกี่ยวข้อง พบว่าอย่างน้อยก็มีไม่น้อยกว่า 10 ชื่อทีเดียว

นั่นคือ ชื่อของเมือง “ชากังราว”/ “กรุงงาว”/ “สุโขทัย”/ “นครธม”/ “จำปาศักดิ์” / “พิมาย”/ “ไชยา” / “ชวา”/…และ “พระประโทน” (ซึ่งปัจจุบันเรารู้จักกันในชื่อของ “พระประโทณเจดีย์” ที่ตั้งอยู่ ณ อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม) กลับไปที่คำ “ขุนขอม” อีกที ทำไม “นายผี” จึงระบุว่า “ขุนขอม” คือผู้สร้าง “ศรีเทพ”? และ “ขุนขอม” ในที่นี้คือใครกัน?

สิ่งที่บทความนี้ลืมไปอย่างฉกรรจ์ในการอธิบายถึงคำ “สุวรรณภูมิ” ก่อนหน้านี้ก็คือ การลืมกล่าวถึง “เมือง” หรือ “อาณาจักร” (ที่นักวิชาการในขั้นหลังอย่างศาสตราจารย์กิตติคุณ ศรีศักดิ์ วัลลิโภดม ไม่เชื่อว่าเป็น “อาณาจักร” ในแง่ของพื้นที่การปกครอง/แต่เห็นว่าน่าจะเป็นลักษณะ “เครือข่ายนครรัฐ” แบบโบราณมากกว่า ท่านเสนอให้ใช้คำว่า “มณฑล” ซึ่งเป็นคติแบบ “จักรพรรดิราช” ของอินเดียโบราณที่เรียกว่า “Mandara” แทน) 2-3 แห่งที่ปรากฏหลักฐานว่ามีอำนาจและรุ่งเรืองมาก่อน “ทวารวดี”

นั่นคือ “เจนละ” ที่มีชัยเหนือ “ฟูนัน” และ สถาปนาขึ้นในพื้นที่บริเวณซึ่งเคยเป็นฟูนันเก่า ทั้งอาจสยายปีกทางเศรษฐกิจและอำนาจทางการเมืองแบบ “จักรพรรดิราช” ครอบคลุมเข้ามาในแถบพื้นที่ที่เป็นประเทศไทยปัจจุบันด้วย

นักวิชาการปัจจุบันส่วนหนึ่งเชื่อมั่นและสรุปลงไปแล้วว่า ทั้ง “ฟูนัน” และ “เจนละ” นั้นเป็น “ขอม”!

และสรุปแล้วเช่นกันว่าคำ “ขอม” ยุคโบราณ นั้นไม่ใช่ “เขมรปัจจุบัน” แต่เป็นชื่อเรียกผู้คนกลุ่มหนึ่ง (อาจหลายเชื้อชาติ) ที่ตั้งบ้านเมืองอยู่ในพื้นที่แถบที่เป็นประเทศไทยปัจจุบันนี้

ทั้งยังสรุปเนื้อหาความเป็น “ทวารวดี” ใน “สุวรรณภูมิ” ส่วนที่เป็นประเทศไทยปัจจุบันว่า มีชื่อของเมืองเหล่านี้ในยุคโบราณมาเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันจนเกิดเป็นลักษณะคล้าย “สหพันธรัฐ”

คือทั้ง “ศรีเทพ” ลพบุรี (ลวปุระ) “อู่ทอง” และ “นครชัยศรี” (แถบนครปฐม/ราชบุรี/เพชรบุรี เดี๋ยวนี้)นั้น ล้วนแล้วแต่มีบารมีของ “จักรพรรดิราช” แห่งอาณาจักรขอมโบราณ (ก่อนยุค “พระนคร”) เป็นผู้นำในทำนองเป็น “พวกเดียวกัน” ดังเครือญาติ(หรืออะไรประมาณนั้น)

นั่นคือทรรศนะเดียวกับที่ “นายผี” เคยนำเสนอไว้ในวรณกรรมเรื่อง “ความเปลี่ยนแปลง” ของท่านแต่เมื่อปีพ.ศ.2495 โน่นแล้ว

คำ “สุวรรณภูมิ” นับเป็นคำสำคัญมากในฐานะที่เป็นเหมือน “ราก” แก้วของแผ่นดินที่ได้รับอิทธิพลและรูปแบบการปกครองบ้านเมืองมาจากวัฒนธรรมอินเดียโบราณ(ศาสนาและรูปแบบการปกครอง)

นั่นคือรูปแบบของระบบการปกครองแบบลัทธิ “เทวสิทธิ์” ซึ่งก็คือระบบ “ศักดินา” ที่บรรดาชาวฝรั่งตะวันตกเรียกกันว่า “Feudalism” แบบหนึ่งนั่นเอง

แต่มีคุณสมบัติทั้งด้านเนื้อหาและรูปแบบของการปกครองที่มีอัตลักษณ์เป็นของตัวเองในรายละเอียดที่ “ไม่เหมือน” กับของอินเดียโบราณ หรือ ตะวันตกโบราณ เสียทีเดียว!!!