เสือตัวที่ 6

มาตรา 52 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน กำหนดในหมวด 5 หน้าที่ของรัฐไว้ชัดเจนว่า รัฐต้องพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ เอกราช อธิปไตย บูรณภาพแห่งอาณาเขตและเขตที่ประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตย เกียรติภูมิและผลประโยชน์ของชาติ ความมั่นคงของรัฐ และความสงบเรียบร้อยของประชาชน ทั้งยังเน้นย้ำในมาตรา 53 ไว้ว่า รัฐต้องดูแลให้มีการปฏิบัติตามและบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด นั่นคือธงนำให้รัฐต้องมีหน้าที่ในการรักษาไว้ซึ่งบูรณภาพแห่งอาณาเขตของชาติไว้โดยจะต้องบังคับใช้กฎหมายเพื่อการนั้นอย่างเคร่งครัดและเท่าเทียมในทุกตารางนิ้วของประเทศรวมทั้งในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีกลุ่มคนกำลังพยายามต่อต้านรัฐทุกรูปแบบเพื่อขับเคลื่อนการต่อสู้ไปสู่อิสรภาพในการปกครองดูแลกันเอง ปลดปล่อยอำนาจรัฐเพื่อแยกตัวเป็นอิสระจนสู่การเป็นเอกราชของคนในดินแดนแห่งนี้ ซึ่งนั่นคือการแบ่งแยกการปกครองจากรัฐอันเป็นการละเมิดความเป็นบูรณภาพแห่งอาณาเขตของรัฐที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญไทยซึ่งเป็นกติการกฎหมายสูงสุดของรัฐอย่างชัดแจ้ง

บนเส้นทางของการต่อสู้ในสมรภูมินี้เต็มไปด้วยความสลับซับซ้อนซ่อนเงื่อนหลายชั้นจนยากที่ฝ่ายความมั่นคงของรัฐจะมองเห็นกลยุทธ์อันลุ่มลึกของฝ่ายขบวนการแบ่งแยกดินแดนกลุ่มนี้ได้โดยง่าย ด้วยความลุ่มลึกของวิถีการต่อสู้กับรัฐได้ซ่อนเจตนาที่แท้ของพวกเขาโดยฉาบทาด้วยวาทกรรมสวยหรูต่างๆ อาทิ การเจรจาสันติภาพเพื่อการแก้ปัญหาด้วยคนในพื้นที่เองโดยอ้างมาตรา 57 ของรัฐธรรมนูญที่ระบุว่า รัฐต้องอนุรักษ์ ฟื้นฟู และส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปะ วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมและจารีตประเพณีอันดีงามของท้องถิ่นและของชาติ และจัดให้มีพื้นที่สาธารณะสำหรับกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชน ชุมชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้ใช้สิทธิและมีส่วนร่วมในการดำเนินการด้วย ทำให้เกิดปรากฏการณ์การจัดกิจกรรมทั้งในและนอกพื้นที่ โดยสร้างภาพให้เชื่อว่าเป็นการทำงานด้านสันติวิธีและด้านสิทธิมนุษยชน หากแต่มุ่งเน้นกิจกรรมปลุกกระแสอัตลักษณ์ ความมีตัวตนของขบวนการโดยเฉพาะกลุ่ม BRN เพื่อความชอบธรรมในการต่อสู้พร้อมกับเสนอที่อ้างว่าเป็นความต้องการของประชาชนสู่การรับรู้ของสาธารณะโดยอาศัยการดำเนินงานของกลุ่มแนวร่วมสหพันธ์นิสิตนักศึกษา นักเรียน และเยาวชนปาตานี หรือกลุ่ม PerMAS ร่วมกับเครือข่ายภาคประชาสังคม พยายามมุ่งสู่หลักการสิทธิในการกำหนดใจตนเอง (RSD)

การปลูกฝังอุดมการณ์ชาตินิยมแบบสุดโต่ง และความเข้าใจผิดในหลักศาสนา (ดารุลฮัรบี) ล้วนเป็นเป้าหมายสำคัญในการต่อสู้กับรัฐ โดยมุ่งเติมแต่งหลักการจากแนวทางสงบสันติไปสู่ความขัดแย้งกับคนต่างความเชื่อทางศาสนามากขึ้น พร้อมกับการปฏิเสธการอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรมกับสังคมใหญ่ของชาติเพื่อคงศักยภาพในการต่อสู้ (ทางความคิด) เอาชนะทางการเมืองนั่นคืออิสรภาพในการปกครองกันเองของคนในพื้นที่อย่างสมบูรณ์ การแสดงออกถึงความเป็นอัตลักษณ์เฉพาะตนโดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นการแสดงออกด้วยกิจกรรมหลายครั้งดังกล่าว ด้วยสิ่งที่ได้จากการจัดกิจกรรมรวมตัวของเยาวชนได้ซ่อนความหมายที่พยายามหล่อหลอมความคิดให้คนรุ่นใหม่เชื่อว่า กลุ่มคนในพื้นที่แห่งนี้มีความเป็นชาติพันธุ์และประวัติศาสตร์อันยิ่งใหญ่ของชนชาติของตน รวมทั้งมีอัตลักษณ์และวิถีชีวิตเป็นของตนเอง หากแต่แท้ที่จริงแล้วแนวคิดเหล่านั้นได้ส่งผ่านออกมาให้ได้รับรู้ในวงกว้างอย่างแยบยลผ่านวาทกรรมการแก้ปัญหาในพื้นที่แห่งนี้ ต้องแก้ด้วยการสร้างสันติภาพที่ประชาชนเป็นเจ้าของ แต่ซ่อนเป้าหมายที่แท้จริง นั่นคือการแบ่งแยกดินแดนจากรัฐเพื่ออิสระในการปกครองกันเองอันเป็นสันติภาพที่เป็นการละเมิดต่อความเป็นบูรณภาพแห่งอาณาเขตอย่างชัดเจน

นอกจากนั้น การกล่าวอ้างว่ารัฐต้องให้การอนุรักษ์ ฟื้นฟู และส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปะ วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมและจารีตประเพณีอันดีงามของท้องถิ่นและของชาติ และจัดให้มีพื้นที่สาธารณะสำหรับกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชน ชุมชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้ใช้สิทธิและมีส่วนร่วม หากแต่การดำเนินการดังกล่าวนั้นรัฐต้องดำเนินการให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติอย่างเคร่งครัดด้วย ในขณะที่ขบวนการบีอาร์เอ็นมีความชัดเจนในข้อเสนอของทางเดินไปสู่ทางออกทางการเมืองผ่านแผนปฏิบัติการร่วมเพื่อสร้างสันติภาพแบบองค์รวม (JCPP) โดยเป็นฝ่ายที่ยื่นเงื่อนไขของสาระในประเด็นทางออกทางการเมืองที่ชัดเจนหลายประเด็น อาทิ การยอมรับอัตลักษณ์ของชุมชนปาตานี สิทธิมนุษยชน การศึกษา ภาษา ระบบกฎหมาย ตลอดจนข้อเสนอที่อ้างว่าเป็นการเปิดกว้างให้คนในพื้นที่มีส่วนร่วมในการแสวงหาทางออกทางการเมือง หากแต่ซ่อนปมนำไปสู่การใช้สิทธิในการกำหนดอนาคตตนเองในอนาคตอันใกล้

แผนปฏิบัติการร่วมเพื่อสร้างสันติภาพแบบองค์รวม (JCPP) เป็นหลักการที่ทั้งผู้แทนรัฐและตัวแทนกลุ่มบีอาร์เอ็น เห็นชอบร่วมกันว่ามันเป็นหนทางสู่สันติภาพ เป็นเครื่องมือที่จะนำไปสู่ข้อตกลงที่ก่อให้เกิดสันติภาพได้ในอนาคตซึ่งคณะพูดคุยเพื่อสันติภาพของรัฐยังแสดงท่าทีมั่นใจว่า แนวทางดังกล่าวนี้จะเดินหน้าสู่สันติภาพอย่างยั่งยืนทุกด้านแบบองค์รวม โดยการดำเนินการตามกรอบ JCPP ดังกล่าว ต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญไทยทั้งเห็นว่าบีอาร์เอ็นยังไม่ได้แสดงท่าทีว่าต้องการความเป็นรัฐเอกราช หากแต่รัฐต้องตระหนักว่า บีอาร์เอ็นกำลังกล่าวอ้างวาทะกรรมสวยหรูว่า การแสวงหาทางออกทางการเมืองตามแนวทาง JCPP สู่สันติภาพที่ยั่งยืนนั้นต้องให้คนในพื้นที่แก้ปัญหากันเอง และรัฐต้องให้การอนุรักษ์ ฟื้นฟู และส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปะ วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมและจารีตประเพณีอันดีงามของท้องถิ่นและของชาติ หากแต่การเดินตามหลักการการแก้ปัญหาความเห็นต่างในพื้นที่กับรัฐสู่เป้าหมายสันติภาพอย่างยั่งยืนที่แท้จริงนั้น ต้องเป็นสันติภาพที่คู่ขนานกับการรักษาบูรณภาพแห่งอาณาเขตตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยด้วยการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด