สถาพร ศรีสัจจัง
สังคม “ไทย” (หรือผู้คนในพื้นที่ซึ่งเป็น “รัฐไทย” ปัจจุบัน)กับ “ยุคศักดินา” (Feudalism Era) เป็นอย่างไรบ้าง มี “พัฒนาการ” เหมือนหรือแตกต่างจาก “พื้นที่” อื่นๆในโลกหรือไม่?อย่างไร?
ก่อนจะอภิปรายกันถึงเรื่องนี้ คงมีความจำเป็นต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่อง “พื้นที่” “เวลา” และ “สังคม” ที่เป็น “บริบท” (Context)เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าวเสียก่อนสักเล็กน้อย
ย่อมเป็นที่รู้กันโดยทั่วไปแล้วว่า “พื้นที่” ซึ่งเป็น “ที่ตั้ง” ของรัฐสมัยใหม่ที่ชื่อ “รัฐไทย” (Thai State)ปัจจุบันนั้น คือส่วนหนึ่งของสิ่งที่ชาวโลกปัจจุบันเรียกว่า “เอเชียอาคเนย์” (South East Asia) ที่หลักฐานทางประวัติศาสตร์ยุคเก่าๆมักเรียกกันว่า “สุวรรณภูมิ” หรือ “สุวรรณทวีป”
เป็นอีกพื้นที่สำคัญหนึ่งของโลก ที่มีหลักฐานทางโบราณคดี-ประวัติศาสตร์ เกี่ยวกับพัฒนาการของ “มนุษย์” หรือ “เซเปียนส์” มาอย่างยาวนานยิ่ง!
คือตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์(Pre-Historical Era)จนเข้าสู่ยุคประวัติศาสตร์(Historical Era) กระทั่งถึงยุค “ร่วมสมัย” (Contemporary Era)ในปัจจุบัน
เกี่ยวกับคำ “เอเชียอาคเนย์” นั้นคงจะไม่ขออรรถาธิบายอะไรอีก ในฐานะที่คำ “อาเซียน” ได้รับการพูดถึงกันในสื่อของสังคมไทยยุคปัจจุบันบ่อยมาก จนน่าจะทำให้เชื่อได้ว่า ผู้คนโดยทั่วไปในสังคมนี้คงพอกำหนดนึกถึงเนื้อหาที่เกี่ยวข้องออก-เมื่อได้ยินคำนี้
แต่คำ “สุวรรณภูมิ” และ “สุวรรณทวีป” ต้องขอกล่าวถึงโดยสรุปสักนิด เพราะ “คนรุ่นใหม่” ที่ไม่ได้สนใจด้าน “ประวัติศาสตร์-โบราณคดี” อาจจะไม่ค่อยคุ้นชินหู(หรือตา)กับคำดังกล่าวนี้มากนัก
เพื่อความเข้าใจได้ง่ายเป็นเบื้องต้น ขอใช้วิธีการค้นคว้าหาความรู้ของที่ “คน gen นี้” คุ้นชิน หามาบอกก็แล้วกัน
นั่นคือ จะขอยกเอาข้อความ (ทั้งแท่ง) จาก “วิกิพีเดีย” ที่ประมวลสรุปความเกี่ยวกับคำ “สุวรรณภูมิ” และ “สุวรรณทวีป” เอาไว้ (ก็สรุปมาจากบรรดา “นักวิชาการ” ที่สนใจศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับเรื่องนี้ แล้วออกมาแสดงความคิดเห็นไว้นั่นแหละ)มาบอกก็แล้วกันง่ายดี!
ตอนหนึ่ง “วิกิพีเดีย” เขียนไว้อย่างนี้…
“…เมื่อสันนิษฐานจากสองคำนี้ ทำให้ได้ข้อสรุปอย่างน้อย 2 อย่าง คือ
1.สุวรรณภูมิ เป็นดินแดนที่เป็นแผ่นดินใหญ่
2.สุวรรณทวีป คือ เกาะที่อยู่ติดกับสุวรรณภูมิ
และเนื่องจากในชาดกกล่าวว่า สุวรรณภูมิอยู่ทางทิศตะวันออกของอินเดีย เมื่อพิจารณาจากแผนที่โลก จึงน่าสันนิษฐานได้ต่อไปว่า สุวรรณภูมิ คือส่วนที่เป็นแผ่นดิน ได้แก่ ประเทศพม่า ประเทศลาว ประเทศไทย ประเทศกัมพูชา ส่วนสุวรรณทวีปซึ่งเป็นเกาะ น่าจะได้แก่ เกาะชวา สุมาตรา หรือ อินโดนีเซีย ตลอดทั้งฟิลิปปินส์ เมื่อพิจารณาหลักฐานทางโบราณคดีเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาพบว่า เมืองหงสาวดีและเมืองนครปฐมสมัยทวาราวดีมีอายุเก่าแก่ที่สุดและร่วมสมัยกัน คือ ราวพุทธศตวรรตที่ 6…”
สรุป : หลักฐานต่างๆที่พบโดยนักวิชาการทั้งชาวตะวันออก ตะวันตก และนักวิชาการไทยเอง ทำให้ได้ข้อสรุปอย่างสำคัญตรงกันประการหนึ่งว่า คำ “สุวรรณภูมิ” นั้นมีอยู่จริง และพื้นที่ “รัฐไทย” ในปัจจุบันก็เป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์ในระดับ “มั่งคั่ง” จนได้รับการเรียกขานขนานนามว่าเป็น “แผ่นดินทอง” แห่งนี้อย่างแน่นอน!
ใครที่อยากลงรายละเอียดและสนใจเป็นพิเศษเกี่ยวกับเรื่องนี้ ก็คงต้องไปค้นคว้าแสวงหาเรื่องราวที่เกี่ยวข้องในรายละเอียดกันเอาเองเถอะนะ
บอกไว้สักนิดก็ได้ คำ “สุวรรณภูมิ” นี้มีความสำคัญกับสังคมไทยมาก ถึงกับกระทรวง “อว.” (ที่มีชื่อเต็มยาวเหยียดคือ “กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม”)ได้จัดตั้ง “สถาบันสุวรรณภูมิศึกษา” ขึ้น สังกัดเป็นหนึ่งสถาบัน (ใน 4-5 สถาบัน) ของส่วนงานใหญ่ที่ชื่อประหลาดๆ(สำหรับชาวบ้านอย่างเราๆ)ในกระทรวงนี้ ที่ขื่อ “วิทยสถานสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และ ศิลปกรรมศาสตร์”(ธัชชา)
สถาบันนี้(ยุคที่มีอ.สถาบันชื่อ นายแพทย์บัญชา พงษ์พานิช ผู้อำนวยการหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ ศิษเก่าม.เชียงใหม่คนนั้นนั่นแหละ) ได้จัดพิมพ์หนังสือเล่มสำคัญชื่อ “สุวรรณภูมิ แผ่นดินทอง” (ผู้เขียนคือคุณหมอบัญชาเอง) ซึ่งเป็นหนังสือเล่มที่น่าจะกล่าวได้ว่าเป็นการประมวลรวบรวมหลักฐานเรื่องราวที่เกี่ยวกับ “สุวรรณภูมิ” ไว้อย่างสรุปกระชับและสมบูรณ์ทันสมัยที่สุดเท่าที่เคยมีการจัดทำกันมา คนที่สนใจเรื่องนี้จึงควรจะต้องเสาะหามาอ่านกันให้ได้ทีเดียว
ถ้าไม่ถนัดภาษาไทย หนังสือเล่มนี้ก็มีการแปลเป็นภาษาต่างประเทศรวมถึง 7 ภาษาด้วยกัน (เพื่อเผยแพร่ในวงกว้าง)คือ ภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส เวียดนาม เขมร มาเลย์ พม่า และ จีน จึงสามารถหาเลือกอ่านกันได้ตามถนัด
ฟังมาว่า ทั้งเนื้อหาทั้งภาพของหนังสือเล่มนี้ คุณหมอบัญชา ปรับปรุงมาจากหนังสือชื่อ “สุวรรณภูมิ ภูมิอารยธรรมเชื่อมโยงโลก” ของท่าน ที่สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ(องค์การมหาชน)เคยจัดพิมพ์เผยแพร่มากก่อน
หนังสือเล่มนี้เต็มไปด้วยหลักฐานยุคต้นประวัติศาสตร์ ที่แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของพื้นที่ “สุวรรณภูมิ” กับอินเดียและจีน ตั้งแต่ยุคพระเจ้าอโศกมหาราชและราชวงศ์ฮั่น
แสดงให้เห็นว่าดินแดน “สุวรรณภูมิ” อยู่ใน “เส้นทางสายไหมทางทะเล” (เส้นทางการค้า)ที่สำคัญยิ่ง จึงทำให้ “สุวรรณภูมิ” รับเอา “วัฒนธรรม” (เช่น ลัทธิศาสนาต่างๆและอื่นๆ)จากดินแดนหลากหลาย ทั้งตะวันออก(อีนเดียและจีน)และตะวันตก(เปอร์เชีย/กรีก/โรมัน)
มีผู้คนเข้ามาตั้งถิ่นฐานในพื้นที่นี้อย่างหลากหลาย จนก่อเกิดความมั่งคั่งทางชาติพันธุ์และวัฒนธรรมที่หลากหลายยิ่ง อย่างที่ยังพอเห็นๆกันได้อยู่ในปัจจุบัน
จากคำ “สุวรรณภูมิ” ที่เชื่อมโยงข้องเกี่ยวกับ “รัฐไทย” อย่างแนบแน่นนี่เอง ที่จะโยงเราไปสู่การตอบคำถามเรื่องการเกิดขึ้น และ “พัฒนาการ” ของระบบ “ศักดินานิยม” ในสังคมไทยอย่างสำคัญ!!!!