บรรยายกาศการเมืองที่ดุเดือดในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญ ในการจัดสรรคณะรัฐมนตรี รัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร มีปฏิกิริยามาจากพรรคการเมืองขนาดเล็กที่เป็นพรรคร่วมรัฐบาล มีมติถอนตัวจากการร่วมรัฐบาล โดยหัวหน้าพรรค คือ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธิ์ เตมียเวส ให้เหตุผลของการขอถอนตัวว่าจะเป็นฝ่ายค้านอิสระ เพื่อให้พรรคได้สร้างผลงานและปฏิบัติงานตามอุดมการณ์แนวนโยบายของพรรคอย่างเต็มที่และรักษาประโยชน์ประชาชนประเทศชาติ อีกทั้งยังมีเหตุที่รู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจ ต่อพรรคเพื่อไทย

ขณะที่บางช่วงของการแถลงข่าว พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ฯ นำเอกสารแชททางลับที่พูดคุยระหว่างตนและบุคคลปริศนา เกี่ยวกับการเข้าพบเพื่อประโยชน์ทางการเมือง และการที่พรรคเพื่อไทยให้คนนอกพรรคชี้นำ ครอบงำพรรคฯ ซึ่งอาจขัดต่อจริยธรรมร้ายแรงตามมาตรา 160 (5)

แชทดังกล่าวเป็นการพูดคุยกับบุคคลหนึ่งที่คอยจัดคิวเข้าพบ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ขณะพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลตำรวจ ชั้น 14 ขณะพักรักษาตัว อ้างเป็นหลักฐานยืนยันว่ามีการเข้าพบนายทักษิณจริง ภายหลังจากที่นายทักษิณ เคยปฏิเสธเรื่องดังกล่าวกับสื่อมวลชน ซึ่งได้เข้าพบนายทักษิณถึง 2 ครั้ง โดยครั้งแรกคือ 14 พ.ย. 2566 และอีกครั้งในวันที่ 10 ก.พ. 2567

เรื่องนี้นายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวถึงกรณีมีบุคคลนัดหมายพาเข้าเยี่ยมนายทักษิณ ชินวัตร ซึ่งขณะนั้นอยู่ระหว่างการนอนพักรักษาตัวภายนอกเรือนจำ ณ ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ ว่า กรมราชทัณฑ์ พร้อมชี้แจงหากมีข้อกล่าวหาใด รวมถึงหากมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเรียกตรวจสอบกรมราชทัณฑ์ เราก็พร้อมส่งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมดูแลนายทักษิณเข้าให้ข้อมูล

อย่างไรก็ตาม อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ยืนยันว่า กรมราชทัณฑ์ไม่เคยอนุญาตให้ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เข้าเยี่ยมนายทักษิณ เพราะในบรรดารายชื่อผู้ที่สามารถเข้าเยี่ยมนายทักษิณตามที่ระบุไว้ 10 รายชื่อนั้น มีเพียงญาติและทนายความ ส่วนข้อความที่ปรากฏเป็นแชตไลน์นั้น ตนก็ไม่สามารถไปบอกได้ว่าเป็นไปได้อย่างไร โดยกรมราชทัณฑ์มีหน้าที่ดูแลผู้ป่วยและควบคุมให้เป็นตามระเบียบ และไม่เคยอนุญาตให้ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เข้าเยี่ยมนายทักษิณ

กระนั้น หากพิจารณาข้อมูลจากทั้งสองฝ่าย หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งพูดความจริง แน่นอนว่าเป็นฝ่ายนั้นพูดความเท็จ และต้องรับผิดชอบต่อการให้ข้อมูลต่อสาธารณะอย่างไรหรือไม่ รวมทั้งฝ่ายที่ดำเนินการตรวจสอบอยู่สมควรคลี่คลายข้อเท็จจริงให้กระจ่าง