ร้อยเอก ดร.จารุพล เรืองสุวรรณ

อาจารย์ประจำสถาบันการทูตและการต่างประเทศ

มหาวิทยาลัยรังสิต

โลกอนาคต เป็นที่คาดการณ์ได้ว่า อะไรๆจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างมหาศาลเนื่องด้วยปัจจัยหลายๆตัว แน่นอนครับ ปัญหาความมั่นคงที่โลกและเราๆจะได้ประสบพบเจอก็เช่นกัน เดากันได้ไม่ยากว่าจะมีความเปลี่ยนแปลงให้เราๆท่านๆได้มาหาทางออกกันอีกมากมาย    

สำหรับสัปดาห์นี้ ผมเลยจะขอนำบางส่วนของงานวิจัยที่กำลังทำอยู่ มาแอบเล่าให้ท่านผู้อ่านได้อ่านกันครับ โดยวันนี้จะนำเสนอให้ทุกท่านอ่านในเรื่อง ฉากทัศน์ความมั่นคงของโลกอนาคตข้างหน้า ถ้าพร้อมแล้วลุยครับ

ท่านผู้อ่านครับ ในวงการวิชาการของเรา ได้แบ่งปัญหาความมั่นคงออกเป็นสองก้อนใหญ่ ก้อนแรกเรียกว่า “ภัยความมั่นคงแบบดั้งเดิม” หรือ Traditional Security Threat ที่มักให้ความสำคัญกับความมั่นคงทางทหาร หรือการสงคราม ที่ในอดีตย้อนกลับไปไกลๆก็ต้องบอกว่า มนุษย์เรามองเรื่องนี้เป็นหลัก และมองว่าน่าจะเป็นภัยคุกคามเพียงหนึ่งเดียวที่มี ซึ่งก็เกิดจากการเมืองระหว่างประเทศ การแย่งชิงทรัพยากร พื้นที่ ผู้คน ในอดีต นึกภาพง่ายๆว่านับตั้งแต่สงครามสมัยสมเด็จพระนเรศวรเป็นต้นมาจนถึงสงครามโลกครั้งที่ 2 นั่นแหละครับ

ต่อมาหลังจากเสร็จสิ้นสงครามโลกครั้งที่ 2 โลกเดินหน้าเข้าสู่ยุคโลกาภิวัตน์ มนุษย์มีความเชื่อมโยงซึ่งกันและกันมากขึ้น แนวความคิดด้านภัยคุกคามก็ได้เปลี่ยนแปลงไปตามวิวัฒนาการ เราเริ่มมองปัญหาอื่นมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นปัญหาสังคม ปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาการเมือง และอื่นๆอีกมากมาย ในขณะที่ก็ลดความสำคัญของภัยคุกคามทางทหารลง เพราะภัยคุกคามทางทหารได้มีให้เห็นน้อยลงไปเรื่อยๆตามกาลเวลา ซึ่ง แนวคิดนี้เป็นแนวคิดที่ให้ความสำคัญกับสิ่งที่เรียกว่า “ภัยความมั่นคงรูปแบบใหม่” หรือ Non-Traditional Security Threats นั่นเอง ซึ่งแนวคิดแบบนี้นี่แหละครับ ทำให้เกิดกระแสต่างๆขึ้นมากมายในช่วงสิบปีที่ผ่านมา หลายคนไปไกลถึงขั้นว่า “จะมีทหารไว้ทำไม?” ด้วยความที่เชื่อว่าภัยคุกคามทางทหารเป็นเรื่องโบราณที่ห่างหายไปแล้ว

อย่างไรก็ดีครับ ในงานวิจัยชิ้นนี้ ผมได้ตั้งคำถามง่ายๆต่อแนวคิดที่เพิ่งกล่าวไป ว่า “จริงหรือ?” และได้ทำการพิจารณาสถานการณ์ในปัจจุบันรวมถึงวิเคราะห์อนาคต จนได้คำตอบว่า “เห็นทีจะไม่จริง”

ท่านผู้อ่านครับ ปัจจุบันและอนาคตของเรา เราอาจจะเจอกับสิ่งที่เรียกว่า “การผสมผสานกันของภัยคุกคามทั้งรูปแบบดั้งเดิมและรูปแบบใหม่” ครับ เป็นฉากทัศน์ใหม่ที่เราอาจจะได้เห็นภัยคุกคามทั้งสองรูปแบบเกิดขึ้นพร้อมๆกัน

เพราะโลกปัจจุบันได้ชี้ให้เห็นถึงปัญหาหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นความเสื่อมลงของ “อำนาจอธิปไตย” ที่เกิดขึ้นทั้งในแง่ของการใช้ชีวิตของผู้คนอันเป็นผลลัพธ์ของโลกาภิวัตน์และการพัฒนาของเทคโนโลยี ในขณะที่ก็เสื่อมลงในมิติของหลักการที่แต่ละประเทศเคยยึดมั่นว่าจะไม่ “แทรกแซง” ซึ่งกันและกัน รัสเซียและยูเครนเป็นหนึ่งตัวอย่างที่ชัดเจนมากในปัจจุบัน ที่หนึ่งประเทศ “กล้า” ที่จะใช้กำลังทหารบุกเข้าไปในอีกประเทศหนึ่งชนิดที่เรียกว่า “ไม่แคร์สื่อ” และไม่แคร์ “หลักการอำนาจอธิปไตย” กลายเป็นภาพที่ย้อนกลับไปเหมือนสมัยสงครามโลก

ย้อนกลับไปสู่ภาพที่เราๆท่านๆ คิดว่า “น่าจะไม่เกิดขึ้นอีกแล้ว”

ในขณะที่ภัยคุกคามความมั่นคงรูปแบบใหม่ เช่น เศรษฐกิจ สังคม การเมือง ภัยธรรมชาติ โรคระบาด ไซเบอร์ และอื่นๆอีกมากมาย ก็จะยังคงประดังประเดเข้ามา เรียกได้ว่า อนาคตข้างหน้าเราอาจจะต้องอ่วมแบบคูณสอง ก็ได้

นอกจากนี้ เทคโนโลยีที่เคยเป็นความสะดวกสบาย เคยให้ผลลัพธ์ด้านบวกแก่เราๆ ก็อาจจะแสดงผลสะท้อนกลับให้เราเห็นภาพผลกระทบด้านลบในรูปแบบของภัยคุกคาม หรือ “ตัวช่วย” ภัยคุกคามได้มากขึ้น เรียกได้ว่าเป็นขั้นกว่าของ Technological Disruption ที่เรียกว่า Technological Backfire

ฉากทัศน์ความมั่นคงในอนาคต จึงอาจเป็นการผสมผสานกันของ Traditional Security Threat + Non-Traditional Security Threats + Technological Backfire หรือเรียกย่อๆได้ว่า “TNT” นั่นเอง

ถามว่าแล้วไอ้ฉากทัศน์ความมั่นคงแบบ TNT นี้ จะส่งผลกระทบอะไรบ้างต่อโลก?

ขอติดไว้ตอบสัปดาห์หน้าครับ พื้นที่หมดแล้วสัปดาห์นี้

เอวัง