ในภาวะโลกร้อนและภูมิอากาศแปรปรวน ภัยธรรมชาตืวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ความสูญเสียของทรัพยากร ทรัพย์สินและชีวิตมักเกิดขึ้นจากการไม่ได้รับการแจ้งเตือนภัยล่วงหน้า ซึ่งในหลายประเทศได้เริ่มมีการชะบบแจ้งเตือนแล้ว เช่น ญี่ปุ่น ที่เผชิญกับภัยธรรมชาติบ่อย เช่น แผ่นดินไหว และสึกนามิ หรือในเกาหลีใต้ ที่แจ้งเตือนค่าฝุ่น PM2.5 หรือแม้แต่แจ้งคนหาย เป็นต้น

สำหรับประเทศไทยนั้นเคยผ่านเหตุการณ์ร้ายแรงทั้งสึนามิ เหตุกราดยิง ทำให้มีเสียงเรียกร้องให้มีระบแบแจ้งเตือนอย่างจริงจัง เพื่อความปลอดภัยของประชาชนในพื้นที่เสี่ยง

ล่าสุดมีการบูรณาการร่วมกันของภาคส่วนที่เกี่ยวข้องผลักดันให้ใช้ระบบแจ้งเตือนผ่านมือถือ ในปี 2568  โดยนายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่ากระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) และ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชัน จำกัด ร่วมจัดทำ Cell Broadcast Service หรือ CBS ระบบเตือนภัยฉุกเฉินในพื้นที่จริงครั้งแรกในประเทศไทย ซึ่งเป็นระบบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉินที่ทั่วโลกใช้งาน โดยสามารถส่งข้อความเตือนภัยไปยังโทรศัพท์มือถือของผู้ใช้บริการทุกเครื่อง ทั้งคนไทย และนักท่องเที่ยวต่างชาติที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย สามารถรับข้อความได้พร้อมกันทันที เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรับมือกับเหตุฉุกเฉินต่าง ๆ อย่างทันท่วงที

เนื่องจากระบบเตือนภัยฉุกเฉิน CBS สามารถแจ้งเตือนภัยฉุกเฉินได้ 5 ภาษา ทั้ง ไทย อังกฤษ จีน ญี่ปุ่น และรัสเซียและ ครอบคลุมผู้ใช้บริการโทรศัพท์มือถือทุกเครือข่ายในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ โดยไม่จำเป็นต้องลงทะเบียนล่วงหน้า โดยจะส่งข้อความแจ้งเตือนภัยในรูปแบบ ข้อความ ตัวอักษร รูปภาพ และเสียง มีสัญญาณเสียง และข้อความที่แสดงบนหน้าจอ (Pop up) และรองรับ Text to Speech เทคโนโลยีช่วยเหลือที่อ่านออกเสียงข้อความ ทำให้มีประโยชน์ต่อการแจ้งเตือน แก่ผู้มีความบกพร่องทางการมองเห็นอีกด้วย

ทั้งนี้ระบบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉิน CBS สามารถตั้งระดับการเตือนได้ 5 ระดับ ตามฟังก์ชันการใช้งาน โดยใช้ความร่วมมือกับฐานข้อมูลของภาครัฐ ประกอบด้วย

1. การแจ้งเตือนระดับชาติ (National Alert) การแจ้งเตือนระดับสูงสุด ความสำคัญมากสุด และทุกคนในทุกพื้นที่เสาสัญญาณครอบคลุมจะทราบเหตุทันที

2. การแจ้งเตือนเหตุฉุกเฉิน (Emergency Alert) การแจ้งเตือนภัยพิบัติต่าง ๆ เช่น ภัยสึนามิ แผ่นดินไหว น้ำท่วมฉับพลัน หรือ ภัยจากคนร้าย เป็นต้น

3. การแจ้งเตือนคนหาย (Amber Alert) ระบบตั้งเตือนข้อมูลเมื่อมีเด็กหายหรือคนหาย รวมทั้งการลักพาตัว เพื่อให้ประชาชนทราบข่าว เฝ้าระวัง และช่วยเจ้าหน้าที่ภาครัฐสังเกตการณ์ รายงานผล ถ้าพบคนหายหรือคนร้าย

4. ความปลอดภัยสาธารณะ (Public Safety) ระบบการแจ้งเตือนความปลอดภัยสาธารณะในพื้นที่ หรือการเฝ้าระวัง กรณีแจ้งคนที่อยู่อาศัย ชุมชน และผู้สัญจรผ่านพื้นที่นั้น

5. การแจ้งเตือนทดสอบ (Test Alert) ระบบทดสอบการแจ้งเตือนตามวัตถุประสงค์เฉพาะกิจต่าง ๆ โดยสามารถใช้งานเพื่อทดสอบก่อนขยายผลสู่การเฝ้าระวังและแจ้งเตือนในระดับต่าง ๆ ต่อไป

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีความก้าวหน้าเป็นที่น่าพอใจในการผลักดันเรื่องดังกล่าว หากแต่ในช่วงระยะเวลาที่ยังไม่ระบบ CBS นี้  การแจ้งเตือนและเฝ้าระวังที่มีอยู่ในปัจจุบันนั้น ใคร่ขอให้ทุกภาคส่วนที่เก่ยวข้องและรับผิดชอบได้มีการทบทวนตรวจสอบประสิทธิภาพความพร้อมในการรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินอย่างแท้จริง เพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาดหรืออาจจำเป็นต้องซ่อมบำรุงก็ขอให้เร่งดำเนินการ โดยด่วนเพราะเดิมพันคือ ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน รวมทั้งชื่อเสียงของประเทศชาติ