เสือตัวที่ 6

การต่อสู้กับรัฐของขบวนการแบ่งแยกการปกครองที่มีกลุ่มขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปัตตานี (Patani Malayu National Revolutionary Front : BRN) เป็นตัวการหลักในการต่อสู้กับรัฐในขณะนี้ ที่ดำรงความมุ่งหมายในการต่อสู้เพื่ออิสรภาพการปกครองกันเอง โดยทุ่มเทความพยายามทุกวิถีทางในการขับเคลื่อนการต่อสู้กับรัฐอย่างเข้มข้นต่อเนื่องยาวนานมากกว่า 20 ปี หากแต่ปรับการต่อสู้ไปตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปเป็นระยะๆ ตามห้วงเวลา จนกระทั่งการต่อสู้ของขบวนการ BRN ในขณะนี้ได้ปรับมามุ่งเน้นเป็นการต่อสู้ทางการเมืองกับรัฐโดยการส่งผ่านแนวคิดที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐในทุกกลุ่มเป้าหมายอย่างแนบเนียนท่ามกลางบรรยากาศในพื้นที่ที่ดูเสมือนว่ามีความสงบที่เหตุร้ายจากการลงมือของขบวนการร้ายแห่งนี้ที่ลดน้อยลงอย่างชัดเจนเป็นรูปธรรม

ท่ามกลางบรรยากาศในพื้นที่ที่ดูเสมือนว่าสถานการณ์การต่อสู้ระหว่างรัฐกับขบวนการ BRN จะอยู่ในความควบคุมของรัฐด้วยตัวชี้วัดของจำนวนเหตุร้ายเป็นสำคัญ หากแต่นั่นเป็นเพียงตัวชี้วัดเดียวที่ไม่อาจสะท้อนความเป็นจริงได้ทั้งหมด ด้วยเพราะปรากฏการณ์ดังกล่าวเป็นผลจากการปรับกลยุทธ์การต่อสู้ของขบวนการร้ายแห่งนี้ที่ผันแปรไปตามสถานการณ์ในห้วงเวลา แกนนำขบวนการแบ่งแยกการปกครองจากรัฐเปลี่ยนน้ำหนักการต่อสู้ไปเป็นการต่อสู้ทางการเมืองเป็นหลักโดยยังคงความพยายามในการบรรลุเป้าหมายสุดท้ายนั่นคือเอกราชของปาตานีที่พวกเขาใฝ่ฝัน การมุ่งต่อสู้ทางการเมืองเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจรัฐในการปกครองกันเองเยี่ยงรัฐเอกราช จึงทำให้บรรยากาศในพื้นที่กลับเป็นภาพลวงตาให้รัฐเชื่อว่ารัฐสามารถเอาชนะขบวนการร้ายแห่งนี้ได้แล้ว หากแต่แท้ที่จริงแล้วขบวนการแบ่งแยกการปกครองจากรัฐกลุ่มนี้ กำลังมุ่งเน้นการต่อสู้ทางความคิดกับรัฐ ด้วยดำรงการหล่อหลอมกล่อมเกลา บ่มเพาะแนวคิดแปลกแยกแตกต่างจากรัฐอย่างเข้มข้น ต่อเนื่องและเป็นระบบให้เกิดกับทุกกลุ่มเป้าหมายเพื่อก่อให้เกิดพลังในการบีบบังคับให้รัฐยอมจำนนจนให้อิสรภาพการดำเนินชีวิตตามวิถีทางที่พวกเขาต้องการให้กับคนในพื้นที่แห่งนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

การต่อสู้ทางการเมืองด้วยการดำรงการหล่อหลอมกล่อมเกลา บ่มเพาะ ขยายแนวความคิดให้กับกลุ่มเป้าหมายยังคงดำเนินต่อไปจนกระทั่งเกิดความเกลียดชังรัฐและคนกลุ่มอื่นในพื้นที่ของรัฐอย่างสุดโต่งและคนกลุ่มนี้พร้อมที่จะร่วมมือกับขบวนการ BRN เข้าต่อสู้กับรัฐในทุกวิถีทาง ทุกเวทีการต่อสู้ที่มีโอกาสด้วยความเต็มใจและมีความคาดหวังอย่างเต็มเปี่ยมในชัยชนะของพวกเขา การขยายแนวคิดแปลกแยกแตกต่างจากรัฐจนกระทั่งเกิดความเกลียดชังอย่างสุดโต่งในความเป็นรัฐ จึงยังคงดำรงอยู่อย่างเข้มข้นต่อไปท่ามกลางความสงบเงียบในพื้นที่จากความตั้งใจที่จะซ่อนพรางการตรวจจับของรัฐ กลุ่มขบวนการขบวนการแบ่งแยกดินแดนเคลื่อนไหวการต่อสู้ทางการเมืองอย่างลับๆ อย่างต่อเนื่อง ที่ลดการใช้อาวุธไปเป็นการให้น้ำหนักกับการต่อสู้ทางความคิดเพื่อบรรลุผลทางการเมือง นั่นคือเอกราชการปกครองของปาตานี นับเป็นกลยุทธ์การต่อสู้กับรัฐที่สามารถซ่อนพราง แนบเนียน และแหลมคมยิ่ง

การต่อสู้ทางความคิดเพื่อบรรลุผลทางการเมืองของขบวนการเห็นต่างจากรัฐกลุ่มนี้ได้ขับเคลื่อนคู่ขนานกับความพยายามในการบั่นทอนศักยภาพ หรือพละกำลังในการต่อสู้ของรัฐกับขบวนการของพวกเขาในทุกรูปแบบ อาทิ ขบวนการแบ่งแยกการปกครองจากรัฐนำเสนอแนวคิดผ่านแนวร่วมระดับชาติ ที่เสนอให้ยุบเลิกหน่วยงานพิเศษที่เป็นหน่วยงานหลักในการต่อสู้กับขบวนการร้ายแห่งนี้ โดยเฉพาะ กอ.รมน.ภาค 4 และ ศอ.บต. ตลอดจนให้ยกเลิกกฎหมายพิเศษด้านความมั่นคงในพื้นที่ โดยอ้างว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนคนในพื้นที่ รวมทั้งเสนอแนวคิดเงื่อนไขให้รัฐผ่อนปรนข้อปฏิบัติที่มีต่อผู้มีหมายจับในคดีความมั่นคงตามเงื่อนไขในข้อตกลงร่วมตามแนวทางของแผนปฏิบัติการร่วมเพื่อสร้างสันติสุขแบบองค์รวม (JCPP) อาทิ เงื่อนไขให้รัฐต้องทำ 4 ไม่ กล่าวคือ ไม่ปิดล้อม ไม่ตรวจดีเอ็นเอ ไม่จับกุม ไม่ติดประกาศหมายจับและรัฐต้องทำ 3 ลด คือ ลดลาดตระเวน ลดจุดตรวจ ลดพื้นที่ พ.ร.ก. และรัฐต้องทำ 4 ยอม กล่าวคือ ยอมให้บีอาร์เอ็นเปิดเผยตัวโดยไม่มีการจับกุม ยอมให้เข้าเมืองได้ ยอมให้จัดเวทีประชุมระดมความเห็นเพื่อแสวงหาทางออกทางการเมือง

นอกจากนั้น ขบวนการแบ่งแยกการปกครองจากรัฐ ยังอ้างว่า กอ.รมน.ภาค 4 และ ศอ.บต. เป็นหน่วยงานและกฎหมายที่สร้างเงื่อนไขให้คนในพื้นที่เห็นต่างจากรัฐเพราะความไม่เป็นธรรมของรัฐที่มีต่อคนในพื้นที่ ทั้งยังเสนอแนวคิดยื่นข้อเสนอให้รัฐถอนกำลังทหารติดอาวุธออกจากพื้นที่แห่งนี้โดยอ้างว่าคนในพื้นที่ชุมชนสามารถดูแลกันเองได้เฉกเช่นพื้นที่อื่นโดยทั่วไปของรัฐ การยื่นข้อเสนอ ข้อเรียกร้อง ตลอดจนเงื่อนไขต่างๆ ดังกล่าว คู่ขนานกับการสั่งสมบ่มเพาะ ปลุกระดมความคิดความเห็นต่าง จนกระทั่งเกิดความเกลียดชังรัฐอย่างสุดโต่งตลอดมา ตลอดจนการสร้างเงื่อนไขในประเด็นประวัติศาสตร์เชิงบาดแผล ชาติพันธุ์ของคนในพื้นที่ที่เป็นของตนเอง จึงเป็นการต่อสู้ทางความคิดเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ทางการเมืองซึ่งนั่นก็คือเอกราชรัฐปาตานีที่แกนนำใฝ่ฝัน ท่ามกลางการซ่อนพรางการขับเคลื่อนต่อสู้ทางความคิดในบรรยากาศของความสงบเรียบร้อย เป็นเพียงกลลวงให้ฝ่ายรัฐถูกตรึงให้อยู่กับที่ และเปิดโอกาสให้กองกำลังติดอาวุธของขบวนการได้พัฒนาตนเองให้กล้าแข็งขึ้นสู่การคงไว้ซึ่งการต่อสู้ด้วยอาวุธอย่างรุนแรงอีกครั้งตามจังหวะที่เอื้ออำนวย เพื่อนำสู่บรรยากาศของการขัดกันด้วยอาวุธระหว่างคนในพื้นที่กับรัฐ อันจะนำไปสู่การแสวงหาทางออกทางการเมือง รับฟังความเห็นของชุมชนสู่การกำหนดอนาคตของตนเอง (RSD.) ในที่สุด ท่ามกลางบรรยากาศของความสงบราบเรียบ หากแต่ซ่อนเร้นการต่อสู้ทางความคิดเพื่อบรรลุเป้าหมายทางการเมืองของกลุ่ม BRN ที่มีการพัฒนาการอย่างต่อเนื่องเป็นระบบ พวกเขารู้ว่าจะอาศัยเงื่อนไขใด และผ่านเวทีไหน ส่งผ่านไปในห้วงเวลาใด เหล่านี้นับเป็นการต่อสู้ทางความคิดเพื่อเป้าหมายทางการเมืองที่เหนือชั้นและแหลมคมยิ่ง